วันจันทร์, 25 พฤศจิกายน 2567

สุดล้ำ อบจ.เชียงใหม่ นำ Telemedicine รับรักษาประชาชน ไกลแค่ไหนก็ได้พบหมอ นำร่อง รพ.สต.โป่งแยงใน

21 มิ.ย. 2023
1139

อบจ.เชียงใหม่ สุดล้ำ นำ Telemedicine รับรักษาประชาชนระยะไกล ทุกขั้นตอนใช้มาตรฐานเดียวกับโรงพยาบาล พบหมอจริง รับยาหน้าตู้กลับบ้านได้เลย หากหมอตรวจพบสั่งส่งตัวรักษาต่อโรงพยาบาลในเมือง นำร่องเครื่องแรกที่ รพ.สต.โป่งแยงใน เตรียมซื้ออีก 10 เครื่อง ส่ง รพ.สต. สังกัด อบจ. พร้อมรุกต่อให้มีใช้ครบทั้ง 62 แห่งที่รับโอนมา

วันที่ 21 มิถุนายน 2566 ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลโป่งแยง (รพ.สต.โป่งแยงใน) อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมคณะผู้บริหาร บุคลากรผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ นำสื่อมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ชมการสาธิตการรักษาทางการแพทย์ระยะทางไกล (Telemedicine) ให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนที่อยู่ห่างไกล โดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัย การรักษาและการป้องกันโรค รวมถึงการศึกษาวิจัย และเพื่อประโยชน์สำหรับการศึกษาต่อเนื่องของบุคลากรทางการแพทย์

นายกองค์การบริหารจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ได้รับถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 62 แห่ง ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ กองสาธารณสุข อบจ.เชียงใหม่ โดย อบจ.เชียงใหม่ มีนโยบายด้านการรักษาสุขภาพและอนามัยของประชาชน พัฒนาศักยภาพการให้บริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลส่งเสริม “สุขภาพดีใกล้บ้าน” ระบบการแพทย์ทางไกลช่วยให้ผู้ป่วยที่มีภูมิลำเนาห่างไกลสามารถข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ทั่วถึง ผ่านการพัฒนาระบบการผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital transformation) โดยแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เพื่อลดภาระการเดินทางของผู้ป่วยที่ต้องเดินทางมารับบริการยังโรงพยาบาลอำเภอหรือจังหวัด โดยการให้บริการแพทย์ทางไกลมุ่งเน้นในกลุ่มโรคที่ไม่มีความชับซ้อน หรือโรคเรื้อรังที่ต้องเดินทางไปพบแพทย์เป็นประจำ เช่น ไข้หวัดทั่วไป ความดันโลหิตสูง และสามารถจ่ายยาผ่านตู้ยาอัตโนมัติได้ทันที

นายก อบจ.เชียงใหม่ กล่าวอีกว่า ในอดีตที่ผ่านมา รพ.สต.บ้านโป่งแยงใน ได้รับสนับสนุนแพทย์จาก โรงพยาบาลนครพิงค์มาให้บริการ เดือนละ 4 ครั้ง ทุกวันอังคาร ต่อมาเมื่อวันที่ 2 ต.ค 2565 รพ.สต.บ้านโป่งแยงใน ได้โอนเข้าสังกัด อบจ.เชียงใหม่ ทำให้ รพ.นครพิงค์ ไม่สามารถสนับสนุนแพทย์มาให้บริการได้ ด้วยเหตุนี้ อบจ.เชียงใหม่ จึงได้จ้างแพทย์อาวุโสที่อยู่นอกระบบราชการมาให้บริการแทน แต่เนื่องจาก รพ.สต.โป่งแยงใน อยู่ไกลจึงไม่มีแพทย์ขึ้นมาให้บริการเพราะเดินทางไกล ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย จึงทำให้ รพ.สต.บ้านโป่งแยงใน ไม่มีแพทย์ให้บริการผู้ป่วย

“เครื่อง Telemedicine นี้เป็นเครื่องแรกของ อบจ.เชียงใหม่ เป็นต้นแบบในการดูแลรักษาผู้ป่วยเฉพาะทางที่เป็นผู้ป่วยนอก รพ.สต.โป่งแยงในตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ราว 40 กิโลเมตร การที่แพทย์จะเข้ามารักษาในพื้นที่เป็นเรื่องยากมาก เครื่อง Telemedicine จะมี 2 ตู้ ตู้แรกจะเป็นตู้รักษาผู้ป่วยจะเข้าไปในตู้เริ่มจากการเสียบบัตรประชาชน วัดอุณหภูมิร่างกาย วัดความดันโลหิต จากนั้นผู้ป่วยก็จะได้พบแพทย์ ซึ่งแพทย์จะอยู่ที่ไหนก็ได้ จะอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่ แม้แต่อยู่ต่างประเทศ ขอแค่เป็นพื้นที่ที่มีอินเตอร์เน็ต ผู้ป่วยก็จะได้รับการสอบถามและวินิจฉัยโรคจากแพทย์จากนั้นแพทย์ที่วินิจฉัยก็จะสั่งจ่ายยา เมื่อออกจากตู้แรกก็จะมายืนยันและรับยาซึ่งหมอสั่งจ่ายจากตู้ที่ 2 ซึ่งยาที่หมอสั่งจ่ายจะตกลงมาที่ช่องรับยา ผู้ป่วยก็รับยาแล้วกลับบ้านได้” นายก อบจ.เชียงใหม่ กล่าว

“เปิดให้บริการมา 2-3 เดือน ได้ผลตอบรับจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างดี ประการแรกได้รับความสะดวกอย่างมาก อีกประการผู้ป่วยเองได้พบหมอจริงๆ ได้รับการรักษาจากแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางจริงๆ ตรงนี้เป็นเครื่องต้นแบบของ อบจ. ซึ่งจะได้มีการขยายและจัดซื้อเพิ่มอีก 10 เครื่อง ก็ผ่านความเห็นชอบของสภา อบจ. แล้ว ส่วนต่อจากนั้นในส่วนของ รพ.สต.ที่เหลือ อาจจะพิจารณาเปลี่ยนเป็นเช่าก็ได้ ที่ผ่านมามี รพ.สต.ที่รับถ่ายโอนมาแล้ว 62 แห่ง ปีงบประมาณ 2567 จะมีมาเพิ่มอีก 7 แห่ง ซึ่งกลุ่มนี้จะทั้งหมดก็จะทยอยให้มี Telemedicine ให้ครบทุกแห่ง ในปีนี้ปีหน้าปีถัดๆ ไป” นายพิชัย เลิศพงศ์อดิสร นายก อบจ.เชียงใหม่ กล่าว

ด้านนายแพทย์จอมชัย ลือชูวงค์ แพทย์เฉพาะทางจากศูนย์ศรีพัฒน์ มหาราชนครเชียงใหม่ กล่าวว่า หลักการทำงานของตู้จะมีอยู่ 2 ส่วน ส่วนหนึ่งจะเป็นตู้ตรวจ อีกส่วนหนึ่งจะเป็นตู้จ่ายยา โดยเริ่มต้นจะมีระบบคัดกรองผู้ป่วยตามมาตรฐานเดียวกันกับโรงพยาบาลทั่วๆ ไป การคัดกรองโดยเจ้าหน้าที่จะสอบถามอาการต่างๆ เช่นเดียวกับที่เคยไปรับรักษาที่โรงพยาบาล หรือจะกรอกด้วยตัวเอง ในตู้ก็จะมีอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการตรวจวัด เช่น วัดความดัน วัดไข้ ซึ่งผู้ป่วยสามารถทำได้ด้วยตัวเอง ส่วนข้อมูลที่ได้จะบันทึกเข้าระบบโดยอัตโนมัติ จากนั้นข้อมูลต่างๆ จะถูกส่งไปส่วนกลางเพื่อประมวลผลว่า อาการที่ได้รับเป็นข้อมูลมาจะส่งให้หมอคนไหนทำการรักษา รายการนั้นก็จะส่งไปให้หมอซึ่ง อบจ.เชียงใหม่ มีอยู่ในทุกแขนง จากนั้นหมอก็จะทำการรักษาผ่านระบบ ซึ่งหมอจะอยู่ที่ไหนก็ได้บนโลกใบนี้ ขอมีแค่อินเตอร์เน็ต หมอก็จุยกับผู้ป่วยแล้วทำการวินิจฉัยและสั่งจ่ายยาจากตู้ยา ซึ่งหมอสามารถดูได้ว่ามียาอะไรบ้าง สต๊อกเหลืออยู่เท่าไร แล้วหมอก็กดสั่งยา ฝั่งผู้ป่วยก็จะได้รับใบสั่งยาและรับยาที่หน้าตู้ได้เลย เป็นการเพิ่มความสะดวกสบายให้ทั้งผู้ป่วยและหมอ ลดความแออัดของโรงพยาบาลลงได้ เพราะบางโรคสามารถรักษาได้เพียงแค่การซักถามพูดคุยอาการ แต่หากที่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลแต่ผู้ป่วยไม่รู้ตัว เมื่อหมอวินิจฉัยและประเมินแล้วก็จะสั่งให้ไปตรวจและรักษากับแพทย์เฉพาะทางที่โรงพยาบาลในเมือง ก็จะเป็นการอำนวยความสะดวกทั้งผู้ป่วยและโรงพยาบาลที่จะรับรักษาต่อ