วันศุกร์, 22 พฤศจิกายน 2567

ปฏิบัติการ โกงลำน้ำ!!! แนวคิดชลประทานจัดเต็มสู้น้ำแม่ทา

วันก่อนเขียนเรื่องฝายทาชมพูไปรอบแล้วในประเด็นเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของลำพูนที่เชื่อแน่ว่า ฤดูหนาวที่จะมาถึงนี้ @ฝายทาชมพูจะเกิดปรากฏการณ์…วิมานบนดิน!!!

ประเด็นหนึ่งที่ผมเห็นในวันที่ไปเยี่ยมฝายฯ เดินข้ามทางรถไฟหน้าสะพานขาว เพื่อเข้าไปชมตัวฝายใกล้ๆ ได้เห็นฝายที่นี่ออกจากแปลกตากว่าที่อื่น ซึ่งเมื่อแปลกตากว่าฝายอื่นจึงเป็นช๊อตแรกที่ผมทำการบันทึกภาพ พร้อมกับนึกในใจว่า เออท่าจะทำให้เท่ สวยงาม ประมาณนั้น เพราะว่า…..
ฝายทาชมพู เป็น ฝายหยัก

ครั้นวันที่ผมได้สัมภาษณ์ “พี่จี๋” จานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการชลประทานที่ 1 ที่ผมคิดวันไปเดินอยู่เหนือฝายนั้น “ผิดหมด!!!”
โจทย์ใหญ่ของฝายในลำน้ำแม่ทา มี 2 ข้อที่ต้องคิด อย่างแรกคือ การบริหารจัดการน้ำ อย่างที่ 2 การบริหารจัดการตะกอน โดยข้อมูลที่มีปัญหาของลำน้ำแม่ทาก็คือ ตลิ่งต่ำ ลำน้ำแคบ หากทำฝายเป็นสันยาวขวางลำน้ำ ในช่วงแล้งไม่เท่าไร แต่พอฤดูน้ำหลาก น้ำแม่ทามีปริมาณมากหลากเข้ามาเจอสิ่งกีดขวางตรงๆ น้ำก็จะยกตัวขึ้นกันเซาะตลิ่งและหลากเข้าท่วมพื้นเหนือฝาย ใครที่ไปทำฝายแม่ทาแต่ก่อนๆ นั้น จะมีปัญหาเรื่องน้ำเปลี่ยนทิศ” ผส.ชป.1 เปิดเป็นประเด็น

เมื่อคำนวณปริมาณน้ำหลากในรอบ 100 ปี จะพบว่า หากทำฝายสันแข็งโดยทั่วไปกั้นลำน้ำ น้ำในลำน้ำแม่ทาจะยกตัวสูงเกินกว่า 1.50 เมตร หากหลากมากจะสูงถึง 2.50 – 3.00 เมตร อะไรที่ไปขวางจะทานไม่ได้แม้ว่าจะต่อให้สูง แต่พื้นที่เหนือน้ำก็จะได้รับผลกระทบอย่างหนักทันทีที่น้ำหลาก ความสูงฝายที่จะทำได้อยู่ที่ 5.50 เมตรวัดจากท้องน้ำ และสันฝายยาว 49 เมตร จะเหลือระยะแค่ 1.50 เมตรคือระดับตลิ่ง ตรงนี้ในรอบปริมาณน้ำหลากเพียงแค่ 30 ปี น้ำท่วมพื้นที่เหนือฝายแล้ว ซึ่งหากจะให้ฝายตัวนี้รับการหลากของน้ำได้นั่นก็คือ ต้องทำให้สันฝายยาว 200 เมตร ให้ได้
และนี่คือที่มาของ…ปฏิบัติการโกงลำน้ำ

ลำน้ำแม่ทาช่วงจุดก่อสร้างฝายตัวนี้กว้างเพียง 49 เมตร การจะก่อสร้างสันฝายให้ยาว 200 เมตร เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิง จึงต้องคิดต่อว่า หากด้านข้างเพิ่มความยาวไม่ได้ ก็จะต้องไปเพิ่มด้านหน้า จึงออกแบบให้สันฝายเป็นหยัก เป้าหมายก็เพื่อให้ได้สันฝายยาว 200 เมตร พอออกแบบจริง ฝายทาชมพูมีสันฝายยาวถึง 211 เมตร ซึ่งเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำหลากในรอบ 100 ปี กับสันฝายที่ยาว 211 เมตรแล้ว พบว่า น้ำจะยกตัวแค่ไม่เกิน 1 เมตร นั่นหมายความว่า ยังเหลืออีก .50 เมตรจะล้นตลิ่งจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ให้ข้อมูล

นี่คือแนวคิดอันเป็นที่มาที่ฝายทาชมพูจึงเป็น…ฝายหยัก ซึ่งต่างกันลิบลับกับที่ผมคิดไว้ตั้งแต่ตอนแรกที่ไปเห็นว่า ทำแค่ให้ดูเท่ๆ ให้ดูเก๋ สอดรับกับสะพานขาวเท่านั้น ฝายทาชมพูจึงถูกออกแบบและก่อสร้างให้เป็นฝายหยักที่มีความยาวของสันฝายรวมกันได้ 211 เมตร โดยมีประตูน้ำเล็กๆ 4 ตัวขนาบข้างประตูน้ำขนาดใหญ่ที่ตั้งตรงกลางอีก 1 ตัว ประตูทั้ง 5 ตัวที่ว่าคือ ประตูระบายทราย

เรื่องตะกอนดิน ตะกอนกรวด ทราย เป็นปัญหาหนึ่งของลำน้ำแม่ทา พบว่าลำน้ำแม่ทามีปริมาณตะกอนกรวดทรายสูงมาก จึงเป็นที่มาของการติดตั้งประตูระบายทรายที่ส่วนปลายของสันฝายหยัก เพื่อรวบรวมตะกอนและระบายตะกอนที่สะสมด้านหน้าฝาย พร้อมทั้งมีการติดตั้งแผงเข็มพรืดใต้พื้นฝายเพื่อควบคุมการไหลซึมและการพัดพาอนุภาคบริเวณฐานรากฝาย

“ในส่วนของการบริหารตะกอนซึ่งมีในปริมาณที่มาก หากมีตะกอนสะสมอยู่หน้าฝาย ถ้าเปิดประตูตัวเล็กก็จะเหมือนเราบีบสายยางฉีดน้ำน้ำก็จะพุ่งเป็นลำออกไปอย่างแรง ตะกอนหน้าฝายก็จะพุ่งเป็นลำออกไปด้านท้ายฝายด้วยเช่นกัน เนื่องจากตะกอนถูกบีบโดยฝายหยังให้ลู่เข้าไปสะสม เมื่อถูกปล่อยโดยการเปิดประตูระบายทรายบานเล็กตะกอนที่สะสมก็จะพุ่งออกไปอย่างแรง จะส่งผลให้ตะกอนที่สะสมถูกน้ำรูดเอาออกไปด้านท้ายน้ำได้หมด แต่นั่นหมายความว่าจะต้องเปิดประตูเป็นด้วย โดยจะต้องเปิดทีละบาน ทีละบาน และคอยเปิดอย่างสม่ำเสมอ อย่างปล่อยให้สะสมไว้นาน ต้องหมั่นเปิดในกรณีที่น้ำหลาก” ผส.ชป.1 ให้ข้อมเพิ่มเติม

ทั้งนี้โดยการออกแบบประตูระบายน้ำทั้ง 5 ประตู หากน้ำหลากมามากๆ การเปิดประตูระบายทั้ง 5 บานนี้ จะส่งผลให้น้ำที่หลากมาไหลไปท้ายน้ำได้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งตะกอนกรวดทรายที่มากับน้ำด้วย

นับถึงวันนี้ ฝายทาชมพู (อันที่จริงน่าจะเป็น…ทาชมภู ตามชื่อตำบล) ได้มีการถ่ายโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้เข้ามาดูแล โดยส่วนตัวของผมยังอดที่จะกังวลไม่ได้กับการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามารับไปบริหารจัดการ ทั้งเรื่องความเข้าใจที่มีเพียงพอหรือไม่ต่อฝายที่ไม่เหมือนใคร ผมว่าน่าจะเป็นแห่งแรกทั้งที่เชียงใหม่และลำพูน ที่มีฝายเป็นหยักๆ เช่นว่านี้ อีกประการที่ผมเป็นกังวล…

ผมยังไม่เคยเห็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งใดเลยที่จัดสรรงบประมาณ ไม่ว่าจะเป็นข้อบัญญัติ หรือเทศบัญญัติ จดสรรเพื่อการ “บำรุงทางน้ำ” ตามอำนาจหน้าที่ของตนแม้ซักท้องถิ่นเดียว ก็หวังว่า ณ ที่นี่…ฝายทาชมพู อีก 2 ปี อีก 5 ปี อีก 10 ปี หรือมากกว่านั้น จะคงทนถาวร ช่วยให้พี่น้องในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ สมกับที่คนคิด คิดช่วยกัน “โกงลำน้ำ” มาเพื่อประโยชน์ของประชาชนเกือบครึ่งแสนคน

ที่มาของโครงการก่อสร้างฝายทาชมพู มีปฐมบทของโครงการมาจาก…ฝายทุ่งป่าแดง ซึ่งเดิมเป็นฝายชั่วคราวลักษณะฝายไม้ไผ่หลักตอก ที่ราษฎรสร้างขึ้น ปิดกั้นลำน้ำแม่ทา ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2547 องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ได้ปรับปรุงเป็นฝายเกเบี้ยนแกนคอนกรีต ขนาดความยาวสันฝายประมาณ 40.00 เมตร สูง 2.00 เมตร ส่งน้ำผ่านทางระบบส่งน้ำฝั่งซ้าย มีลักษณะเป็นคลองส่งน้ำดาดคอนกรีต ขนาดความกว้างก้นคลอง 0.60 เมตร สูง 1.00 เมตร ยาวประมาณ 100 เมตร ส่วนที่เหลือเป็นคลองดินอีกประมาณ 5 กิโลเมตร และระบบส่งน้ำฝั่งขวา มีลักษณะเป็นคลองส่งน้ำดาดคอนกรีต ขนาดความกว้างก้นคลอง 0.60 เมตร สูง 1.00 เมตร ยาวประมาณ 100 เมตร ส่วนที่เหลือเป็นคลองดินอีกประมาณ 900 เมตร ส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรประมาณ 1,500 ไร่ กระทั่งทั้งตัวฝายและระบบส่งน้ำ ประสบความเสียหายเนื่องจากอุทกภัยเมื่อปี พ.ศ. 2549 ไม่สามารถทดน้ำเข้าสู่พื้นที่การเกษตรได้ ต่อมาในปี 2558 ได้มีการก่อสร้างฝายชั่วคราว ลักษณะฝายทราย และดินถมหุ้มด้วยคอนกรีตดาด ทดแทนฝายทุ่งป่าแดงโดยใช้ชื่อว่า ฝายทาชมพู ตั้งอยู่ทางท้ายน้ำของฝายทุ่งป่าแดงประมาณ 700 เมตร เนื่องจากการก่อสร้างลักษณะฝายชั่วคราวดังกล่าว กรมชลประทานพิจารณาแล้วเห็นว่าฝายดังกล่าวมีระดับสันฝายต่ำ ไม่สามารถทดน้ำเข้าสู่ลำเหมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้อาจพังเสียหายในฤดูน้ำหลากที่จะมาถึง เห็นควรให้ก่อสร้างฝายถาวรลักษณะฝายคอนกรีตพร้อมประตูระบายน้ำทดแทนเพื่อให้ฝายทาชมพูมีความมั่นคงแข็งแรง สามารถทนต่อกระแสน้ำหลากในช่วงฤดูฝนของแม่น้ำทาที่มีปริมาณน้ำมากได้