ศูนย์อุตุฯ ภาคเหนือ คาด 19-21 พ.ค. ภาคเหนือเจอฝนหนักถึงหนักมากได้ ผลจากหย่อมความกดอากาศในอ่างเบงกอล เดือนสิงหาคมต่อเนื่องกันยายนต้องเข้มเฝ้าระวังน้ำท่วม คาดพายุหมุนเขตร้อน 2 ลูกเข้าไทยในช่วงนี้ พร้อมเตือนปลาย มิ.ย ถึงต้น ก.ค. มีโอกาศฝนทิ้งช่วง
วันที่ 17 พ.ค. 65 ที่ห้องประชุม 4 ชั้น 4 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายรักชัย ศรีนวน นักอุตุนิยมวิทยา ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ แถลงถึงการคาดหมายสภาพอากาศฤดูฝน 2565 ว่า กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศฤดูฝนตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค. 65 คาดว่าฤดูฝนปีนี้จะสิ้นสุดในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2565 โดยคาดปริมาณฝนรวมทั้งประเทศคาดว่าจะสูงกว่าค่าปกติราว 3% หากโฟกัสเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ รวมทั้งจังหวัดเชียงใหม่ ปริมาณฝนจะสูงกว่าค่าปกติอยู่ราว 5% โดยปีนี้เดือนที่จะมีฝนมากเป็นช่วงที่ฝนตกชุกหนาแน่นมากที่สุดคือ ช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน โดยคาดว่าจะมีพายุเข้าสู่ประเทศไทย 2 ลูก ซึ่งจะเข้ามาในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนสิงหาคม
“สำหรับลักษณะอากาศในฤดูฝนปีนี้ โดยจะแบ่งลักษณะอากาศได้เป็น 4 ช่วง ช่วงแรกเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนมิถุนายน เป็นช่วงต้นฤดูฝน แนวโน้มปริมาณฝนจะค่อยๆ เพิ่มปริมาณมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีฝนหนักเกิดขึ้นได้ ภาพรวมฝนจะอยู่ในเกณฑ์ 40-60% ของพื้นที่ ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดฝนในช่วงนี้จะเป็นลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ อีกปัจจัยจะเป็นร่องมรสุมที่จะพัดผ่านในช่วงนี้ โดยจะมีลักษณะเด่นในช่วงนี้คือ ความกดอากาศต่ำที่อาจเกิดขึ้นได้ในฝั่งอ่างเบงกอลซึ่งอาจพัฒนาเป็นพายุไซโคลนและส่งผลกระทบต่อภาคเหนือซีกตะวันตกของภาคได้ ที่ผ่านมาเกิดพายุอัศนีซึ่งไม่มีผลกระทบ โดยแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอีกได้ในวันที่ 19-21 พ.ค. 65 นี้ จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำในอ่างเบงกอลซึ่งคาะว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคเหนือทางด้าน จ.แม่ฮ่องสอน จ.เชียงใหม่ รวมถึงจังหวัดฝั่งตะวันตกของภาคเหนือในทุกจังหวัด ซึ่งอาจเกิดฝนตกหนักถึงหนักมากได้” นายรักชัยฯ กล่าว
สำหรับช่วงที่ 2 ช่วงการเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม ช่วงนี้คาดว่าปริมาณฝนจะลดลงโดยมีปัจจัยมาจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีแนวโน้มลดกำลังลง โดยร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านบริเวณประเทศจีนตอนล่างทำให้ฝนในพื้นที่ภาคเหนือลดน้อย หรืออาจเกิดฝนทิ้งช่วงได้ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงช่วงต้นเดือนกรกฎาคม
“ช่วงที่ 3 จะเป็นช่วงที่ฝนตกมากที่สุดในฤดูฝนปีนี้ อยู่ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน พายุหมุนเขตร้อนที่คาดว่าจะเข้าประเทศไทยก็คาดว่าจะเข้ามาในช่วงนี้ ภาพรวมฝนจะอยู่ในช่วง 78-80% ของพื้นที่ ฝนตกหนักถึงหนักมากจะเปิดขึ้นได้ในหลายพื้นที่ ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังการเกิดอุทกภัยเป็นพิเศษในช่วงนี้ ปัจจัยที่ทำให้ฝนเพิ่มขึ้นในช่วงนี้คือ ร่องมรสุมที่ขยับไปพาดผ่านจีนตอนล่างจะขยับมาพาดผ่านในพื้นที่ภาคเหนือแนวโน้มจะมีกำลังแรงเพิ่มขึ้นได้ รวมถึงพายุหมุ่นเขตร้อนที่คาดจะเข้าสู่ประเทศไทย” นักอุตุนิยมวิทยาฯ กล่าว
ช่วงที่ 4 เป็นช่วงสุดท้ายของฤดูฝนคือ ช่วงเดือนตุลาคม ปริมาณฝนจะลดน้อยลงโดยจะปรับเข้าสู่ฤดูหนาว ปัจจัยหลักคือความกดอากาศสูงที่จะแผ่เข้ามาปกคลุมเป็นระยะแนวโน้มลมมรสุมก็จะลดกำลังลงไปด้วย ปริมาณฝนลดลง ช่วงเช้าอาจมีอากาศเย็น
การคาดหมายปริมาณฝน จ.เชียงใหม่ ฤดูฝน 2565 ในเดือนพฤษภาคม คาดปริมาณฝนอยู่ที่ 160-200 มม. สูงกว่าค่าปกติ 10% (ค่าปกติ 162.0 มม.) เดือนมิถุนายน คาดปริมาณฝนอยู่ที่ 110-150 มม. ใกล้เคียงค่าปกติ (ค่าปกติ 124.5 มม.) เดือนกรกฎาคม คาดปริมาณฝนอยู่ที่ 130-170 มม. สูงกว่าค่าปกติ 5% (ค่าปกติ 140.2 มม.) เดือนสิงหาคม คาดปริมาณฝนอยู่ที่ 190-230 มม. ใกล้เคียงค่าปกติ (ค่าปกติ 216.9 มม.) เดือนกันยายน คาดปริมาณฝนอยู่ที่ 200-240 มม. สูงกว่าค่าปกติ 5% (ค่าปกติ 211.4 มม.) เดือนตุลาคม คาดปริมาณฝนอยู่ที่ 80-120 มม. ต่ำกว่าค่าปกติ 10% (ค่าปกติ 117.6 มม.)
“ข้อควรระวังในช่วงฤดูฝน เรื่องแรกคือเรื่องฝนทิ้งช่วงซึ่งจะเกิดในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม อาจมีผลกระทบต่อเกษตรกรในการเพาะปลูกได้ อีกเรื่องจะอยู่ในช่วงเดือนสิงหาคมต่อเดือนกันยายนจะเป็นช่วงที่มีฝนชุก ฝนหนักถึงหนักมาก ซึ่งต้องเฝ้าระวังการเกิดอุทกภัย” นายรักชัย ศรีนวน นักอุตุนิยมวิทยาฯ กล่าว
ทั้งนี้การเกิดฝนทิ้งช่วง จะอยู่ในเกณฑ์ปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่นั้นๆ น้อยกว่า 1 มิลลิเมตร ติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย15 วัน และจะเกิดในช่วงฤดูฝนเท่านั้น