วันเสาร์, 23 พฤศจิกายน 2567

ชป. พอยิ้มได้ “ซินลากู” ให้น้ำกว่า 1.4 พันล้าน ยังย้ำให้ประหยัดเพื่อแล้งหน้าไร้ปัญหา (มีคลิป)

09 ส.ค. 2020
1647

ชลประทานเผย “ซินลากู” แม้ถล่มหลายพื้นที่เสียหายยับ แต่ก็ส่งผลดีมิใช่น้อยน้ำกักเก็บทั่วประเทศเพิ่มขึ้นราว 30% น้ำไหลเข้ามากว่าน้ำปล่อยออกเป็นสัญญาณที่ดี อีกเกือบ 50% ที่ยังไม่เพาะปลูกให้ใช้น้ำฝนน้ำท่าเป็นหลัก ชป.อาศัย ปตร. บริหารจัดการอัดน้ำเข้าสู่เหมืองให้เกษตรกรได้ใช้ พร้อมเผยทั้งอ่างทั้งเขื่อนทั้งประเทศรับน้ำได้อีกกว่า 4 หมื่นล้านคิว ย้ำแม้จะได้น้ำเพิ่มแต่ยังต้องช่วยกันประหยัดให้ได้มากที่สุด เพื่อแล้วที่จะถึงไร้ปัญหา

ที่ฝายแม่สาว อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำหลังจากพายุ “ซินลากู” พัดผ่านประเทศไทย ว่า ซินลากูพัดผ่านประเทศไทยมีทั้งผลบวกและลบ ผลลบเช่นอีสานตอนบนรวมถึงภาคเหนือ ทั้งที่เลย ที่น่าน ที่เชียงใหม่ ล้วนเกิดอุทกภัย ในเชิงบวกมีล้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ ที่เห็นได้ชัดคือ เขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งต้นน้ำอยู่ที่ จ.น่าน ตั้งแต่วันที่ 1-7 ส.ค. มีน้ำไหลเข้าเขื่อนสิริกิติ์ราว 4-5 ร้อยล้าน ลบ.ม. ในภาพรวมทั้งประเทศที่ภาคเหนือได้น้ำเก็บกักราว 1,400 กว่าล้าน ลบ.ม. ที่ได้อานิสงค์รับน้ำได้ดี ทั้งเขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนภูมิพล รวมทั้งเขื่อนอุบลรัตน์ และแนวโน้มยังมีน้ำไหลเข้าเขื่องและอ่างเก็บน้ำอย่างต่อเนื่อง

“สำหรับพื้นที่เชียงใหม่ทั้งอ่างเก็บเขื่อนแม่งัดฯ แม่กวงฯ มีน้ำไหลเข้าเขื่อนเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันนี้มีน้ำกักเก็บราว 30% ของความจุ เป็นสัญญาณที่ดีเนื่องจากว่า น้ำที่ไหลเข้าอ่างมากกว่าน้ำที่นำไปใช้ ณ เวลานี้ทั่วประเทศมีน้ำไหลเข้าแหล่งกักเก็บวันละ 300 กว่าล้าน ลบ.ม. ส่วนที่ปล่อยออกมีอยู่ราว 60 กว่าล้าน ลบ.ม. ในพื้นที่ภาคเหนือก็เช่นเดียวกันที่น้ำไหลเข้ามีมากกว่าน้ำปล่อยออก” รองอธิบดีกรมชลฯ กล่าว

นายทวีศักดิ์ฯ กล่าวต่อว่า ส่วนสถานการณ์แล้ง ที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2562 ทั้งปี ฝนตกในประเทศมีปริมาณต่ำกว่าค่าปกติราว 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ ภาคเหนือต่ำกว่า 16-17% ภาคกลางต่ำกว่าราว 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ พอมาปี 2563 ตั้งแต่ต้นปีจนถึง ณ ปัจจุบันนี้ ฝนยังตกต่ำกว่าค่าปกติราว 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ สถานการณ์ขณะนี้ฝนจะเริ่มเพิ่มมากขึ้น แล้งก็จะคลี่คลาย ซึ่งคาดว่าฝนจะตกกระจายต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมไปจนถึงกลางเดือนตุลาคม ซึ่งก็จะถือว่าสิ้นสุดฤดูฝนของภาคเหนือและภาคกลาง ต่อจากนั้นก็จะเป็นภาคใต้ไปจนถึงเดือนมกราคมปีหน้า

รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่การเกษตรในแผนซึ่งอยู่ในพื้นที่ชลประทานมีอยู่ราว 16 ล้านไร่ ขณะนี้ทั้งประเทศปลูกไปแล้วราว 53% ภาคเหนือปลูกไปแล้วราว 60-70 % ช่วงนี้กรมชลประทานส่งเสริมให้พี่น้องเกษตรกรใช้น้ำฝนในการเพาะปลูกให้มากที่สุด ฝนที่ตกลงมาจะกับเก็บในอ่างในเขื่อนให้ได้มากที่สุด เพื่อสำรองไว้สำหรับช่วงแล้งปี 2563 ต่อเนื่องถึงปี 2564 ซึ่งประเด็นนี้เป็นนโยบายสำคัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ให้ไว้ว่า เพื่อเพาะปลูกให้ใช้น้ำฝนและน้ำท่าเพื่อการเพาะปลูกเป็นหลัก ส่วนน้ำที่ไหลเข้าอ่างหรือเขื่อนให้เก็บไว้ให้มากที่สุด ประเด็นนี้ทางกรมชลประทานรับนโยบายของผู้บริหารการบริหารจัดการน้ำจึงมุ่งไปที่บริหารจัดการน้ำท่า โดยอาศัยบานระบายหรือประตูระบายน้ำเพื่ออัดน้ำเข้าสู่ระบบส่งน้ำ เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้น้ำสำหรับการเพาะปลูก น้ำฝนที่ตกลงมาไหลเข้าอ่างเข้าเขื่อนก็จะเก็บไว้ทั้งหมดเพื่อให้พี่น้องเกษตรกรจะมีน้ำใช้ในช่วงฤดูแล้ง 2564 ที่จะถึง

“สำหรับศักยภาพของเขื่อนหรือแหล่งกักเก็บน้ำ ในภาพรวมทั้งประเทศขณะนี้มีน้ำกักเก็บอยู่ราว 16% ยังรับน้ำได้อีกมาก ภาคเหนือรับได้อีกราว 17,000 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมทั้งประเทศรับน้ำได้อีกราว 40,000 กว่าล้าน ลบ.ม. ยืนยันว่าถ้าฝนตกเหนือเขื่อนหรืออ่างยังรับน้ำได้อีกมากที่จะเก็บไว้ใช้ในช่วงแล้ง ขณะนี้กรมชลประทาน โดยศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ โดยอธิบดี ทองเปลว กองจันทร์ ได้มอบหมายให้มีการวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์ คาดการณ์ไว้ก่อนกว่า ในวันที่ 1 พ.ย. 63 นี้ จะมีน้ำในอ่างเก็บน้ำเท่าไร ซึ่งจากการวิเคราะห์คาดว่าปริมาณน้ำจะมากกว่าในปี 2562 เทียบกับเวลาเดียวกันในวันที่ 1 พ.ย. ทั้งภาพรวมทั้งประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งทุ่งเจ้าพระยา” นายทวีศักดิ์ฯ รธบ. กรมชลประทาน กล่าว

“หากเป็นไปตามคาดการณ์ เชื่อว่าแล้งหน้าที่จะถึงนี้ “รอด” แต่ว่าพี่น้องประชาชนพี่น้องเกษตรกรทุกครัวเรือนทุกคนต้องช่วยกันประหยัดน้ำ ต้องช่วยกันเก็บกักไว้ใช้ด้วยตัวเองบ้าง ที่ไหนมีสระมีตุ่มมีบ่อคอนกรีตก็ให้เก็บนำฝนไว้ใช้ให้ได้มากที่สุด ส่วนภาคเกษตรกรรมใครมีสระน้ำ มีบ่อบึง ก็ให้เก็บไว้ให้ได้มากที่สุด ในส่วนของกรมชลประทานจะบริหารจัดการเพียงแค่ ส่งน้ำไปช่วยเสริมเพื่อให้เพียงพอต่อการใช้เท่านั้น ส่วนแล้งหน้าที่จะถึงต่อไปนี้จะเป็นเช่นไร ขึ้นอยู่กับว่าพี่น้องประชาชน เกษตรกร จะช่วยกันประหยัดน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ได้มากน้อยเพียงใด เพื่ออนาคตก็ขอให้ใช้น้ำอย่างประหยัดและขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสารของทางราชการทุกระยะเวลา” นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวในที่สุด