วันศุกร์, 27 ธันวาคม 2567

วอนชาวนาเริ่มปลูกข้าวหลัง 15 ก.ค.ไปแล้ว ชลประทานชี้น้ำน้อยแล้งลากยาวต้องรอฝนช่วย

12 มิ.ย. 2020
1504

น้ำในเขื่อนมีน้อยแล้งลากยาว ชลประทานเตือนฝนทิ้งช่วงยาว วอนให้ชาวนาเริ่มปลูกข้าวหลังกลางกรกฎาคมไปแล้ว เชื่อนากว่า 1.9 แสนไร่ไร้ปัญหาเพราะได้ฝนช่วย หลังทำบุญขอขมาต้นน้ำแม่กวงวงถกผู้แทน JMC ได้ข้อสรุป ส่งน้ำจากเขื่อนแม่กวงฯ ให้ 3 รอบเวรช่วยตกกล้า ตกลงปลูกพร้อมกันหลัง 15 ก.ค. ส่งผลประหยัดน้ำได้กว่า 1 ล้านคิว การบริหารน้ำยังโฟกัสไปที่น้ำเพื่อการบริโภค

วันที่ 11 มิ.ย. 63 บริเวณพลับพลาริมสันเขื่อนแม่กวงอุดมธารา อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 เป็นประธานในพิธีสืบชะตาเขื่อนแม่กวงฯ โดยมี นายจิระชาติ ซื่อตระกูล นายอำเภอดอยสะเก็ด นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ชลประทาน และประชาชนกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ดอยสะเก็ด ร่วมพิธี เพื่อความเป็นสิริมงคล โดยก่อนหน้านั้น ผอ.คบ.แม่กวงฯ ได้ประกอบพิธีทำบุญศาลเจ้าพ่อดอยลอง เพื่อขอขมาสิ่งศักดิ์ ขอขมาแม่น้ำ และกระทำการต่างๆ ในพื้นที่เขื่อนแม่กวงอุดมธารา อันเป็นพิธีที่ทำติดต่อกันมานานกว่า 100 ปี ก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อนแม่กวงขึ้น โดยพิธีอาจกล่าวได้ว่าเป็นกุศโลบายเพื่อให้ประชาชนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด รู้คุณค่าของน้ำ รู้คุณค่าของธรรมชาติ ตามความเชื่อของชาวล้านนาที่ทุกพื้นที่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกปักษ์รักษาอยู่ จากนั้นในเวลา 13.00 น. ได้มีการประชุมร่วมกับผู้แทนกลุ่มผู้ใช้น้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา หรือ JMC เพื่อหาแนวทางในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฝนทิ้งช่วงก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูฝนเต็มตัวในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมต่อเนื่องเดือนสิงหาคม

ก่อนการประชุม JMC นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 (ผส.ชป.1) กล่าวถึงภาพรวมสถานการณ์น้ำในพื้นที่ ชป.1 ว่า จากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงในห้วงเวลานี้ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาได้ให้ข้อมูลว่า ช่วงกลางเดือนมิถุนายนไปจนถึงกลางเดือนกรกฎาคมจะเกิดฝนทิ้งช่วง จึงได้ขอร้องให้เกษตรกรไม่ให้เริ่มทำนาปีในช่วงนี้เพราะหากปักดำในช่วงนี้ก็ไม่มีฝนมาช่วย สำหรับเขื่อนแม่กวงอุดมธาราขณะนี้ปริมาณน้ำกักเก็บมีอยู่ราว 65 ล้าน ลบ.ม. โดยมีแผนจะส่งน้ำให้เกษตรกรในพื้นที่ประมาณ 7 รอบเวร ในช่วงฝนทิ้งช่วงนี้เพื่อให้การปลูกข้าวนาปีในฤดูกาลนี้ผ่านพ้นไปด้วยดี

“ในพื้นที่ท้ายเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลก็เช่นกัน เตรียมน้ำไว้สำหรับช่วงฝนทิ้งช่วงนี้ราว 37 ล้าน ลบ.ม. โดยจะส่งให้ในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ ทั้งชลประทานมีข้อแนะนำให้พี่น้องเกษตรกรสำหรับฤดูกาลเพาะปลูกนาปีปีนี้ ควรที่จะปลูกในช่วงหลังวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป ซึ่งจะเป็นช่วงที่เข้าสู่ฤดูฝนเต็มตัวฝนช่วงนั้นจะชุกเพิ่มมากขึ้น” ผส.ชป.1 กล่าว

นายสุดชายฯ กล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่การเกษตรในพื้นที่รับน้ำจากเขื่อนแม่กวงฯ ช่วงฤดูฝนราว 1.2 แสนไร่ ส่วนพื้นที่รับน้ำจากเขื่อนแม่งัดฯ ราว 7 หมื่นไร่ รวมแล้วก็ราว 1.9 แสนไร่ ที่จะมีการเพาะปลูกข้าวนาปีในช่วงฤดูฝน เมื่อดูสถิติน้ำฝนปีที่น้องที่สุดปี 2558 ราว 830 ม.ม. ในปี 2562 ปริมาณน้ำฝนมีอยู่ราว 860 ม.ม. ซึ่งใกล้เคียงกับปีที่มีฝนน้อยที่สุด หลังจากช่วงแล้งสุดในปี 2559 ปี 2560 ปี 2561 ปริมาณฝนอยู่ในเกณฑ์ปกติ พื้นที่การเกษตรมีการเพาะปลูกเป็นไปตามแผน ก็คือ ฝนก็ปลูกได้ แล้งก็ปลูกได้บางส่วน พอถึงปี 2562 ปริมาณฝนน้อย การบริหารจัดการน้ำต้องลำดับความสำคัญของกิจกรรม อันดับแรกคือ น้ำอุปโภคบริโภค ก็คือ น้ำประปา ที่ต้องไม่ให้ขาดแคลน เฉพาะเขื่อนแม่กวงฯ ต้องเตรียมน้ำสำหรับการผลิตน้ำประปาให้เมืองเชียงใหม่ราวเดือนละ 1 ล้าน ลบ.ม. แต่ละปีก็ราว 12 ล้าน ลบ.ม. นั่นหมายความว่าต้องเตรียมน้ำในปริมาณนี้ได้เพื่อให้เชียงใหม่รอดพ้นจากวิกฤติน้ำ อีกส่วนหนึ่งที่เตรียมการไว้คือการใช้น้ำสำรองในช่วงฝนทิ้งช่วงส่งไปให้พื้นที่เพาะปลูกในช่วงนาปี โดยส่งให้เป็นรองเวร เพื่อพยุงต้นกล้าให้อยู่รอดได้จนถึงมีฝนมาเติมในช่วงเข้าสู่ฝนเต็มรูปแบบซึ่งก็จะทำให้ข้าวนาปีรอดได้

ด้านนายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา กล่าวเพิ่มเติมว่า จากบทเรียนฝนทิ้งช่วงในปีที่ผ่านมา ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าฝนจะน้อยกว่าเกณฑ์ราว 10% แต่ผลปรากฏว่า ปี 62 ฝนในบริเวณเขื่อนแม่กวงฯ น้อยกว่าเกณฑ์ราว 11-18% ซึ่งใกล้เคียงการคาดการณ์ของกรมอุตุ สำหรับปีนี้กรมอุตุนิยมวิทยาคาดหมายว่า ฝนจะน้อยกว่าเกณฑ์ราว 5% เพราฉะนั้นการบริการจัดการก็จะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา แต่เนื่องจากปีที่แล้วเกษตรกรใช้น้ำในช่วงแล้งค่อยข้างใช้มาก ทำให้น้ำตั้งต้นก่อนเข้าสู่ฤดูฝนในปีที่แล้วน้อยกว่าน้ำตั้งต้นในปีนี้ ปีที่ผ่านมาน้ำตั้งต้นมีราว 43 ล้าน ลบ.ม. ปีนี้แม่กวงฯ มีน้ำตั้งต้นราว 63 ล้าน ลบ.ม.

“เกษตรกรในพื้นที่ทราบดีว่า เมื่อใช้น้ำในฤดูแล้งมากพอเข้าสู่ฤดูฝนแล้วฝนทิ้งช่วงจะเกิดปัญหา ปีนี้ผู้ใช้น้ำช่วยกันเก็บน้ำไว้ก่อนในฤดูแล้งที่ผ่านมา ส่งให้เฉพาะไม้ผล จึงทำให้น้ำตั้งต้นในปีนี้มีมากกว่าปีที่แล้ว 20 ล้าน ลบ.ม. ก็เพื่อให้มีน้ำเพียงพอที่จะรับมือฝนทิ้งช่วง และเพื่อให้การใช้น้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในปีนี้จึงตกลงกันว่า จะไม่มีการปลูกก่อน โดยจะปลูกพร้อมๆ กันในวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่จะเข้าสู่ฤดูฝนเต็มตัว นั่นหมายความว่าน้ำที่จะใช้ในการเพาะปลูกก็จะใช้น้อยลง ก็จะใช้น้ำฝนเป็นหลัก น้ำชลประทานจะใช้เสริมเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลไปถึงแล้งหน้าหากว่าฝนนี้เก็บน้ำได้มาก แล้งหน้าปัญหาการบริหารจัดการน้ำก็จะน้อยตาม” ผอ.คบ.แม่กวงฯ กล่าว

นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ กล่าวต่อว่า ในพื้นที่รับน้ำเขื่อนแม่กวงฯ ค่อนข้างที่จะแล้งมากกว่า เพราะฉะนั้นเกษตรกรได้เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้น้ำในช่วงแล้ว ในช่วงวิกฤติน้ำน้อยบ่อยครั้งมาก มาถึงวันนี้มีการประชุมชี้แจงเรื่องการบริหารจัดการน้ำในปีนี้ให้ทราบ ก็จะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ทุกคนรับในหลักการที่หารือกันในเบื้องต้นและนำไปปฏิบัติ เพราะถึงวันนี้พบว่าในพื้นที่เขื่อนแม่กวงฯ ยังไม่มีการเพาะปลูกข้าวนาปีเลย ต่างจากปีที่แล้วที่ช่วงนี้จะมีเกษตรกรมีการเพาะปลูกไปบ้างแล้ว ปีนี้เกษตรกรในพื้นที่ก็จะเริ่มเพาะปลูกพร้อมๆ กันในวันที่ 15 กรกฎาคม เป็นต้นไป

ทั้งนี้ในเวลา 13.00 น. ในวันเดียวกันได้มีการประชุมกลุ่มผู้ใช้น้ำเขื่อนแม่กวงฯ หรือ การประชุม JMC เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในช่วงฝนทิ้งช่วงฤดูกาลเพาะปลูกเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยกำหนดปริมาณน้ำที่จะส่งในแต่ละรอบเวรเพื่อที่จะประหยัดและเก็บน้ำให้ได้มากที่สุดเพื่อใช้ในแล้งหน้า และถ้าหากว่าสถานการณ์เป็นเหมือกับปีที่แล้ว และน้ำสามารถเก็บเพิ่มได้อีก 5% การบริหารจัดการอยู่ในแนวทางที่กำหนดเป็นไปตามแผนลักษณะที่เป็นอยู่ขณะนี้ เชื่อว่าน้ำตั้งต้นแล้งหน้าในช่วงปลายๆ ฝนนี้น่าจะมีน้ำกักเก็บอยู่ราว 120 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับผลการประชุม JMC ในวันนี้ ที่ประชุมมีมติเริ่มส่งน้ำในวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 กำหนดส่งน้ำเพื่อการเตรียมแปลง ปลูกกล้า และปลูก รวม 3 รอบเวร ปริมาณน้ำราว 31,237,920 ลบ.ม. เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมาซึ่งฝนทิ้งช่วงเช่นเดียวกันและปล่อยน้ำรวม 3 รอบเวรเช่นกันแต่ใช้น้ำไปราว 32,646,188 ลบ.ม. เท่ากับว่าสามารถประหยัดน้ำไปได้ราว 1 ล้าน ลบ.ม. โดยในรอบเวรแรกซึ่งจะเปิดตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. เป็นต้นไป คลองฝั่งขวาจะเปิด 7 วัน ปิด 5 วัน แต่ละวันเปิดที่ปริมาณ 1.5 ลบ.ม.ต่อวินาที คลองสายหลักจะเปิด 14 วัน ปิด 5 วัน เปิดในปริมาณ 4.8 ลบ.ม.ต่อวินาที และคลองฝั่งซ้ายจะเปิดตลอดเวลาในปริมาณ 7.0 ลบ.ม.ต่อวินาที