วันจันทร์, 25 พฤศจิกายน 2567

คาดงบกว่า 1 พันล้าน แพทย์ มช. ทอดสะพานบุญชวนร่วมสมทบบูรณะ “ตึกสุจินโณ” หมอเกษม เล่ายาว “กว่าจะเป็นอาคารผู้ป่วย…สุจินโณ” (มีคลิป)

23 พ.ย. 2019
5731

บันทึกคำต่อคำ…โดย ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย นายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พูดในในการแถลงข่าวเพื่อบอกบุญระดมทุนในการบูรณะ “ตึกสุจินโณ” ความว่า…..

“ความจริงประเทศไทยมีแพทย์แผนไทย มีแพทย์พื้นบ้านดูแลตัวเองมาโดยตลอด เรามีการแพทย์แผนฝรั่งเข้ามาตอนปลายรัชกาลที่ 3 ช่วงรัชกาลที่สาม สี่ ห้า คนไทยไม่ค่อยคุ้นกับแพทย์แผนตะวันตก หรือแพทย์แผนปัจจุบัน หรือแผนฝรั่ง แต่แล้วได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจเพิ่มมากขึ้นมากขึ้น จนกระทั่งเราต้องผลิตแพทย์แผนฝรั่งเอง ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ได้ทรงตั้งโรงเรียนแพทย์ขึ้นมา ต่อมาก็เป็น “คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล”

สามสี่สิบปีต่อมา หมอผลิตไม่ทันใช้ เพราะความต้องการทั่วประเทศมีมาก จึงมีการสร้างโรงเรียนแพทย์แห่งที่ 2 ขึ้นมา ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2490 ในหลวงรัชกาลที่ 8 มีพระราชดำริว่า ควรที่จะให้มีโรงเรียนแพทย์แห่งที่ 2 จึงได้มีการสร้างโรงเรียนแพทย์ขึ้นมาที่จุฬาฯ

อีกสิบปีต่อมา พ.ศ. 2500 รัฐบาลเห็นว่ามีโรงเรียนแพทย์เพียง 2 แห่งไม่เพียงพอ เพราะมีความต้องการหมอมีมากเหลือเกิน และก็ไม่ควรสร้างที่กรุงเทพอีก แห่งที่ 3 ควรจะมาสร้างที่ต่างจังหวัด ตอนนั้นจะคิดกันยังไงไม่ทราบ แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่นี่…ที่เชียงใหม่

พูดง่ายๆ ขณะนั้น โรงพยาบาลของเทศบาลมีอยู่แล้ว ชื่อ “โรงพยาบาลนครเชียงใหม่” เพราะว่าเรามีเทศบาลนครเชียงใหม่ สถานที่แห่งนี้ที่จริงก็คือ วิทยาลัยพยาบาล เราก็ไล่วิทยาลัยพยาบาลไปอยู่ลำปาง แล้วก็ยึดมาเป็น “สวนดอก” (ฮา) ยึดเป็นสวนดอกเลย อาคารเก่าก็ยังคงอยู่ก็คืออาคารเดิมขณะนี้ ซึ่งโทรมมากแล้ว

ที่สุดก็มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากอาจารย์หมอหลายๆ ท่าน ซึ่งจะรู้จักกันเป็นอย่างดี ที่ต้องขยายตัวก็เพื่อให้ทันกับ “โรค” ในช่วงที่ตั้งคณะแพทยศาสตร์มา ปีนี้เราฉลอง 60 ปี ตอนนั้นมีอาคารเดียว เราเรียกกันว่า “อาคาร 7 ชั้น” อาคารบุญสม มาร์ติน 7 ชั้นเท่านั้นเอง ทั้งหมอทำงาน พยาบาลทำงาน เภสัช ทันต อยู่รวมกันที่เดียวในอาคาร 7 ชั้น ซึ่ง…ไม่พอ

ก็คิดกันว่า…ต้องสร้างใหม่ ให้สูงกว่า 7 ชั้น แต่สมัยนั้นสูงกว่า 7 ชั้นไม่ได้ เพราะอยู่ใกล้สนามบิน เขาบอกห้ามเกิน 8 ชั้น คิดไปคิดมาบอก…อย่าเลย จะสร้างก็ต้องสร้างใหญ่เลยเพราะต้องใช้ไปอีกหลายปี ตอนนั้นมีคนพูดว่า..จะได้ไม่ต้องสร้างอีก แต่จริงๆ ไม่ใช่!! ยังต้องสร้างอีก

ที่ตามมาก็คือ จะสร้าง จะเอาเงินที่ไหนมาสร้าง งบประมาณต้องใช้เยอะ คิดไปคิดมาคงต้องอาศัยบารมี “หลวงปู่แหวน”

หลวงปู่แหวน ทำไมถึงมาอยู่เชียงใหม่ เพราะท่านเป็นคนอีสาน ก็มีที่มา ย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อนโน้น ตอนที่พระเจ้ากาวิละได้ฟื้นบ้านฟื้นเมือง เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง ตอนนั้นเชียงใหม่เป็นเมืองร้าง รวมทั้งวัดเจดีย์หลวงยังเป็นวัดร้างด้วย พระจากกรุงเทพก็บอกว่า “จะต้องไปฟื้น” เพราะวัดเจดีย์หลวงเป็นวัดที่มีเจดีย์ใหญ่กลางเมือง โดยหลักของบ้านของเมือง…ต้องฟื้น!!

ก็ส่ง “เจ้าคุณอุบาลี สิริจนฺโท” มา ท่านเก่งมาก ท่านเป็นคนเก่ง เป็นคนอีสาน และ “เจ้าคุณอุบาลี” ลูกศิษย์ของท่านคือ “พระอาจารย์มั่น” พระอาจารย์มั่นที่เราถือกันว่าเป็น “ผู้นำวิปัสสนาจารย์” และพระอาจารย์มั่นท่านก็มีทั้งเพื่อน มีรุ่นน้อง มีลูกศิษย์ เป็นจำนวนมาก ก็มาอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง วัดเจดีย์หลวงเดิมนอกจากมีวัดใหญ่แล้วยังมีวัดบริวารอีก 4 วัด พระอาจารย์มั่นกับลูกศิษย์ก็มีอยู่ตาม 4 วัด (ขณะนี้เหลือวัดเดียวคือ วัดพันเตา นอกนั้นเป็นวัดร้างทั้ง 3 วัด บริวารของวัดเจดีย์หลวง)

สุดท้าย “เจ้าคุณอุบาลี” ถูกเรียกกลับกรุงเทพ ไปฟื้นพุทธ-ธรรมยุตที่อีสาน “พระอาจารย์มั่น” ก็เป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง ต่อ และมีลูกศิษย์ลูกหา ทั้ง พระอาจารย์แหวน พระอาจารย์สิม หลวงปู่ขาว ซึ่งเราได้ยินชื่อในพื้นที่นี้ทั้งนั้นเลย ซึ่งต่อจากนั้นแต่ละท่านก็ออกธุดงค์กัน ในท้ายที่สุดจริงๆ พระอาจารย์มั่น ประชาชนก็มาตามที่เชียงใหม่…กลับอีสานทีเถอะท่าน!! ก็เลยยกขบวนกันกลับ แต่มี 2 องค์ที่ไม่กลับ คือ

หลวงปู่แหวน สุจินโณ อยู่ที่ ดอยแม่ปั๋ง และ หลวงปู่สิม อยู่ที่ ถ้ำเชียงดาว

“ผมกลับมาจากเมืองนอก ปี 2517 ตอนนั้นทุกเดือน อาจารย์หมอทวนท้วม อาจารย์หมอไชยโรจน์ พี่แด้ อาจารย์หมอธีระศักดิ์ นั่งรถยกโขยงกันไปที่ดอยแม่ปั๋ง ฝุ่นทั้งนั้นเลย และต้องหิ้วปิ่นโตไปด้วย เพราะว่า ใช้เวลาเดินทางไป-กลับ นานมาก ต้องไปกินข้าวตอน (มื้อเที่ยง) ที่วัดดอยแม่ปั๋ง…ไปตรวจร่างกาย หลวงปู่แหวน และไปฟังธรรมะ ท่านก็จะสอนสั้นๆ สมัยนั้นไม่มีโทรศัพท์ มือถือไม่มีแน่นอน เราจะวัด”

สมเด็จจะเสด็จทางเหนือเป็นประจำ และเวลาท่านเฉียดไปใกล้อำเภอพร้าว ถ้ามีเวลาท่านก็จะบอกให้ขบวนแวะไปที่วัดดอยแม่ปั๋ง เพื่อจะไปกราบหลวงปู่แหวน

วัดดอยแม่ปั๋ง เจ้าอาวาสชื่อ พระอาจารย์หนู เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่แหวน หลวงปู่แหวนพอพระเจ้าอยู่หัว (ในหลวงรัชกาลที่ 9) จะเสด็จ หลวงปู่แหวนจะบอกพระอาจารย์หนู “อ่าว เตรียมตัวนะ วันนี้เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินเปิ้ลจะมาเยี่ยมเรา” ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าหลวงปู่ท่านรู้ได้อย่างไร อีกพักใหญ่ๆ ขบวนเสด็จก็จะเข้ามาที่วัด

“ผมเองบางครั้งตอนที่ “หลวงปู่แหวน” อาพาธมากๆ คือ ท่านครองจีวรแล้วท่านล้ม แล้วบาดเจ็บที่สะโพกต้องมาผ่าตัดที่นี่ ตอนที่ล้มคงเจ็บมาก นอน พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ มาหมดเลย สมเด็จพระสังฆราชก็มา สมเด็จก็มา ทุกพระองค์มาด้วยกันหมด เพื่อไปเฝ้าหลวงปู่แหวน ผมนั่งอยู่ข้างหลัง ท่านสนทนากันนานมาก อยากเข้าห้องน้ำก็ไปไม่ได้ นั่งอยู่ข้างหลังหลวงปู่แหวน ท่านนอนอยู่ พระอาจารย์หนูพูดหลวงปู่ ว่า “ไปรับเปิ้ลหน้อย พระเจ้าแผ่นดินมา” หลวงปู่ตอบว่า “เฮาบ่าสบาย เขาต้องมาหาเฮาก่า จะหื้อคนบ่าสบายไปหาคนดีได้จะใด คนดีต้องมาหาคนบ่าสบายก่า” …หลวงปู่พูดแบบนี้”

ทุกครั้งที่เสด็จ พระเจ้าอยู่หัวจะมีเทปบันทึกเสียง วางไว้ใกล้ๆ ปากหลวงปู่แหวน พระเจ้าอยู่หัวตรัสถามหลวงปู่ ซึ่งผมฟังความได้ไม่ครบถ้วน ส่วนใหญ่จะตรัสถามว่า “จะใช้ธรรมะข้อไหนปกครองแผ่นดิน ?”

“เชื่อหรือไม่ว่า หลวงปู่แหวน แทบจะไม่ได้ลงจากดอยแม่ปั๋งเลย แต่หลวงปู่ทราบหมดว่า เมืองไทยเกิดอะไรขึ้นบ้าง จะต้องแก้ไขปัญหาอย่างไร พระเจ้าอยู่หัวไปตรัสถามเป็นระยะ โดยมีเทปบันทึกเสียงเล็กๆ ไว้คอยบันทึกเสียงของหลวงปู่ตอบตามที่ท่านตรัสถาม”

พอคณะแพทยศาสตร์บอกว่าจะสร้างตึกใหญ่ขึ้นมาก็พากันไปอ้อนวอนหลวงปู่ ต้องเข้าใจก่อนว่า หลวงปู่แหวนท่านลึกซึ้งมากในพระธรรมวินัย เรื่องสร้างเหรียญเป็นเรื่องที่ท่านไม่ชอบที่สุด เหรียญที่จริงท่านไม่ได้สร้างนะ อาจารย์หนูเป็นผู้สร้าง แต่ถ้าสร้างเหรียญเพื่อมาสร้างโรงพยาบาล เป็นอะไรนานๆ ที่ท่านจะยอมให้สร้างซักที ครั้งนี้หลวงปู่ยอม เพื่อที่จะสร้างอาคารเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ร่วมกัน

หลวงปู่ก็ถามนะว่า ทำไมต้องสร้างอีก ก็กราบเรียนหลวงปู่ว่าที่มีอยู่ไม่เพียงพอ คนไข้มีเยอะทั้งภาคเหนือที่มาใช้บริการ เชื่อหรือไม่ว่า ในระหว่างการก่อสร้างอาคารนี้ ผมต้องขึ้นไปดอยแม่ปั๋งทุกเดือน หลวงปู่จะไม่ถามเรื่องอื่นเลย ถามเรื่องเดียวว่า “แล้วหรือยัง ?” อาคารเนียะแล้วหรือยัง เวยๆ หน้อยก่า เขาเจ็บเขาไข้จะได้มาฮักษา (เร็วๆ หน่อยสิ เขาเจ็บป่วยจะได้มารับการรักษา) คือช่วงนั้นมีสิ่งเดียวที่อยู่ในใจหลวงปู่คือ อาคารหลังนี้…

“ตึกสุจินโณ”

“แล้วหรือยัง เวยๆ หน้อยก่า” พอสร้างเสร็จ หลวงปู่ท่านดีใจมากเลย พระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาเปิด ต่อจากนั้นเมื่อหลวงปู่ท่านอาพาธมากๆ พวกเราก็นิมนต์ท่านมาพักรักษาตัวที่นี้ และสุดท้ายที่หลวงปู่ท่านมา ซึ่งท่านมามรณภาพที่นี่ ผมเป็นคนไปกราบหลวงปู่ต้อให้ท่านเข้ามา เพระว่า เลือดออกเต็มท้อง และช็อค เราเอาแอมบูแลนซ์ไปรับ ผมก็นั่งอยู่ในแอมบูแลนซ์มาส่งที่นี่ พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบก็เสด็จมาพร้อมด้วยทุกพระองค์ มาเยี่ยมหลวงปู่แหวน จนกระทั่งท่านสิ้น ซึ่งทุกคนทราบดี แล้วเราก็ร่วมกันจัดสถานที่ในการถวายน้ำอาบร่างหลวงปู่ที่ศาลาอ่างแก้ว ซี่งมีผู้คนเป็นจำนวนมาก

“ตึกสุจินโณ” ตอนที่สร้างเสร็จใหม่ๆ ก็ดีไปช่วงหนึ่ง เราก็ว่าตึกนี้ดีที่สุดแล้ว มาถึงวันนี้ 40 ปีแล้ว ก็ทรุดโทรมไปมากดั่งที่ปรากฏ ผมคิดว่า หลวงปู่แหวน ท่านจะรู้หรือไม่ว่า ตึกที่ท่านสร้างไว้นี้ ในแต่ละปีได้ดูแลคนไข้ราว 1.6 ล้านกว่าคน ถ้าเอา 1.6 ล้าน คูณด้วย 40 ปี มากกว่า 60 ล้านคนเข้าไปแล้วที่มาใช้บริการ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นประชาชนในเขตพื้นที่ภาคเหนือ และส่วนใหญ่จะเป็นคนไข้ที่มีความสลับซับซ้อน มาเองบ้าง โรงพยาบาลอื่นในภาคเหนือส่งมาบ้าง เชื่อว่า หลวงปู่ ท่านคงทราบ คงรู้ว่า ตึกนี้ได้สร้างบุญสร้างกุศล ช่วยเหลือชาวบ้านไปแล้วเป็นจำนวนมาก

“วันก่อนเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่ สปป.ลาว แต่ไม่ได้รับผลประทบ ต้องบอกว่าตึกนี้เป็นตึกแรกของเชียงใหม่ที่ป้องกันแผ่นดินไหว วิศวะ สถาปนิก ได้ออกแบบตึกนี้ให้ป้องกันแผ่นดินไหว้ได้ เพราะสูงถึง 15 ชั้น เขาลิมิตไว้แค่ 8 ชั้นเพราะใกล้สนามบิน แต่ตึกนี้อิทธิพลเยอะ (ฮา) ได้ 15 ชั้น แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องป้องกันแผ่นดินไหว ตึกจะส่ายได้ในบางครั้ง ต้องขออนุโมทนากับการที่จะปรับปรุง เพราะเก่ามาก”

“เอ็นดูแต้ โทรมแต้ เหมือนกับว่าเฮาไปหันสาวหน้อยตี้เกยงามเมื่อ 40 ปี๋ก่อน ละมาดูวันนี้ มันเหี่ยวไปหมด น่าเอ็นดูแต้ ไค้เสกกาถาหื้อปิ๊กไปเป๋นสาวหน้อยแหมกำเนาะ” บทส่งท้ายจาก หมอเกษม วัฒนชัย ด้วย คำเมือง ล้วนๆ

ด้าน ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า อาคารหลังนี้คณะศิษยานุศิษย์หลวงปู่แหวน “สุจิณฺโณ” ร่วมกับ ประชาชนทั่วประเทศ ช่วยกันบริจาคเงินเพื่อก่อสร้างให้เป็นอนุสรณ์สถานในมงคลสมัยที่หลวงปู่แหวน “สุจิณฺโณ” มีอายุครบ 90 ปี ในปี พ.ศ. 2521 และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่องค์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารผู้ป่วย “สุจิณฺโณ” เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2528

“โครงสร้างภายในอาคารรวมถึงอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ มีสภาพทรุดโทรม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการปรับปรุงทั้งอาคาร อาทิ ห้องพักผู้ป่วยสามัญ ห้องละ 6 เตียง จำนวน 108 ห้อง ห้องพักผู้ป่วยพิเศษ จำนวน 81 ห้อง ห้องผ่าตัด จำนวน 20 ห้อง ห้องฉุกเฉิน (Emergency Room) ให้เป็นศูนย์ผู้ป่วย (Complete Emergency Center) เพื่อเพิ่มศักยภาพการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยฉุกเฉินโรคสมองและโรคหลอดเลือดหัวใจ แบบ One Stop Service และห้องอื่นๆ ที่มีความจำเป็นในการบริการตรวจรักษาผู้ป่วย รวมถึงระบบสนับสนุนทางการแพทย์ ระบบสาธารณูปโภค และห้องประชุม ห้องปฏิบัติการ ตลอดจนจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อสนับสนุนกระบวนการดูแลรักษาผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณในการปรับปรุงทั้งสิ้นกว่า 1,000 ล้านบาท และใช้ระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ 3 ปี”

“เราจะเริ่มปรับปรุงในชั้นอายุรกรรมก่อน ซึ่งมี 2 ชั้น แต่จะปรับปรุงทีละชั้น โดยจะไม่ให้กระทบกับการบริการพี่น้องประชาชน เพียงแต่อาจจะไม่สะดวกบ้าง จากนั้นก็จะปรับปรุงตามแผนที่กำหนดไว้ ซึ่งเรามีคณะกรรมการดูแลเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ ขณะนี้ยังรอแบบซึ่งนำไปปรับปรุง คาดว่าแบบจะแล้วเสร็จอีกราว 1 เดือน จากนั้นเราก็จะดำเนินการหาผู้รับจากเพื่อเข้าดำเนินการปรับปรุงอาคารตามแผนทันที ก็น่าจะทำได้ในช่วงต้นปี 2563”

สำหรับผู้มีจิตศรัทธาที่มีความประสงค์จะบริจาคผ่านเครือข่ายโทรศัพท์ได้ทุกเครือข่าย โดยกดรหัส *948*0060*100# โทรออก (บริจาคครั้งละ 100 บาท) หรือโอนเงินผ่านธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาคณะแพทยศาสตร์ เชียงใหม่ ชื่อบัญชี โครงการปรับปรุงอาคารผู้ป่วย “สุจิณฺโณ” โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เลขที่บัญชี 468-0- 85999-6 (ใบเสร็จสามารถลดหย่อนภาษีได้) และสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ มูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก โทร. 053-938400 และ 053-935672 งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่