วันจันทร์, 25 พฤศจิกายน 2567

“อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ป่าไผ่ฯ” ชลประทานเคาะ ปี 2564 คาดได้สร้าง ในพื้นที่ไร้คัดค้าน กังวลเพียงตะกอนทราย

09 ส.ค. 2019
3683

ปิดจ๊อบศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม “อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ป่าไผ่ฯ” ฟันธง EIA เสร็จปลายปีนี้ ปี 2563 และส่งหน่วยงานพิจารณา พ่วงด้วยการสำรวจออกแบบเดินและชงของบประมาณ คาดปี 2564 เริ่มดำเนินการก่อสร้าง นอ.ฮอด เผยในพื้นไร้ปัญหาต่อต้าน แจงชาวบ้านรอมาตั้งแต่ปี 2538 ห่วงปัญหาเดียวตะกอนทรายเหนืออ่างขึ้นไปมีมาก อาจส่งผลให้อ่างตื้นเขินไว ชลประทานแจงยังมีเทคนิคอ่างเก็บน้ำคุม แต่พื้นที่ตอนบนต้องร่วมกันรักษาระบบนิเวศด้วย

ที่หอประชุมโรงเรียนฮอดวิทยาคม อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ กรมชลประทาน โดยสำนักงานบริหารโครงการ จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 (ปัจฉิมนิเทศโครงการ) โครงการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ป่าไผ่ อันเนื่องมาจากพระราชดาริ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ โดยมี นายอนันต์ ภัทรเดชมงคล นายอำเภอฮอด เป็นประธานเปิดการประชุมฯ นายณัฐวุฒิ นากสุก ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรม สำนักงานชลประทานที่ 1 กล่าวรายงาน ซึ่งได้รับความสนใจทั้งจาก หัวหน้าส่วนราชการ ส.อบจ. ผู้นำท้องที่ ผู้บริหารท้องถิ่น กลุ่มผู้ใช้น้ำ เกษตรกร และประชาชนเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก

นายณัฐวุฒิ นากสุก ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรม ชป.1 กล่าวว่า ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2530 เห็นควรให้พิจารณาวางโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้าห้วยแม่ป่าไผ่ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้าของหมู่บ้านต่างๆ ในเขตอำเภอฮอดที่อยู่ขอบอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล โดยกรมชลประทาน ได้รับมอบหมายให้ดาเนินการพิจารณาศึกษาวางแผนโครงการมาเป็นลาดับ

“ปี พ.ศ. 2552 กรมชลประทานได้ศึกษาเพิ่มเติมและจัดทำรายงานแล้วเสร็จ โดยที่ตั้งโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ป่าไผ่ อันเนื่องมาจากพระราชดาริ ก่อสร้างปิดกั้น ห้วยแม่ป่าไผ่ ใน ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ โดยปี พ.ศ. 2561 กรมชลประทานมีแผนพัฒนาโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ป่าไผ่ อันเนื่องมาจากพระราชดาริ จึงได้ตรวจสอบข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม พบว่า พื้นที่ก่อสร้างโครงการ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำที่ระดับน้าสูงสุด พื้นที่หัวงานและอาคารประกอบ การก่อสร้างฝายห้วยแม่ป่าไผ่แห่งใหม่ การปรับปรุงลำน้ำลำห้วยแม่ป่าไผ่ (ตั้งแต่ท้ายฝายห้วยปลาผาถึงฝายห้วยแม่ป่าไผ่แห่งใหม่) การขยายระบบส่งน้ำเพิ่มเติม และถนนเข้าที่ตั้งเขื่อน มีพื้นที่รวม 1,107 ไร่ โดยพื้นที่ 1,006 ไร่ อยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่แจ่มและป่าแม่ตื่น ในเขตป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม (โซน C) จึงเข้าข่ายประเภทและขนาดโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เนื่องจากมีพื้นที่อ่างเก็บน้ำอยู่ในป่าอนุรักษ์มากกว่า 500 ไร่ กรมชลประทานได้มอบหมายกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด และ บริษัท ไทยคอนซัลแตนท์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ให้เป็นผู้ดำเนินการศึกษาจัดทำรายงาน เพื่อเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาให้ความเห็น ก่อนที่จะนำไปประกอบการ ขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่แจ่มและป่าแม่ตื่นจากกรมป่าไม้” นายณัฐวุฒิ นากสุก

ด้าน นายอนันต์ ภัทรเดชมงคล นายอำเภอฮอด กล่าวว่า โครงการนี้เท่ารับฟังความคิดเห็นจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่างเห็นด้วยกับการที่จะให้มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ป่าไผ่ฯ ซึ่งหากก่อสร้างแล้วจะเป็นประโยชน์กับประชาชนในด้านการเกษตรเป็นอย่างมาก ประชาชนในพื้นที่มีความต้องอยากให้ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 สำหรับข้อกังวลของคนในพื้นที่จะไม่มี แต่จะมีในส่วนของสภาพภูมิประเทศในพื้นที่เหนืออ่างเก็บน้ำยังมีความกังวลในเรื่องของดิน ทรายที่จะส่งผลกระทบต่อตัวอ่างเก็บน้ำ เมื่อมีการก่อสร้างแล้วเสร็จ ซึ่งเรื่องนี้ต้องสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนที่อยู่เหนืออ่างเก็บน้ำทำการเกษตรที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการพังทลายของดินลงแล้วไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำได้ ซึ่งเป็นข้อกังวลเพียงเรื่องเดียว เนื่องจากทรายในลำห้วยแม่ป่าไผ่มีปริมาณที่เยอะมาก

ด้าน นายณัฐวุฒิ นากสุก ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรม ชป.1 กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จภายในสิ้นปีนี้ ก็จะส่งต่อให้คณะกรรมการพิจารณาเพื่อพิจารณารายละเอียดต่างๆ การขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่อจากนั้นจะเป็นขั้นตอนการสำรวจออกแบบซึ่งอาจทำควบคู่กันไปในระหว่างขั้นตอนการพิจารณา ซึ่งเหล่านี้อยู่ในขั้นตอนการเตรียมความพร้อมคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2563 และจะของบประมาณเพื่อก่อสร้างได้ ในปี พ.ศ. 2564 ก็เริ่มดำเนินการก่อสร้าง แต่เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อาจจะของบประมาณบางส่วนจาก กปร. มาส่วนหนึ่งเพื่อเปิดโครงการประเภทอาคารประกอบต่างๆ ไปก่อนเป็นเบื้องต้นได้

ทั้งนี้ นายณัฐวุฒิ นากสุก กล่าวถึงแนวทางในการแก้ปัญหาดิน ทราย ที่อาจถูกชะล้างลงมายังอ่างเก็บน้ำ ว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้คงต้องประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องของการใช้ที่ดิน การปลูกพืช กิจกรรมต่างๆ ด้านเหนือน้ำ เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ช่วยกันสนับสนุนและช่วยกันจัดการกับการรักษาระบบนิเวศต่างๆ อาทิ การรณรงค์การไม่ตัดไม้ทำลายป่า การเพาะปลูก เพื่อลดผลกระทบต่างๆ ของดินที่จะไหลลงสู่ตัวอ่าง ทั้งนี้ในการออกแบบอ่างเก็บน้ำก็จะมีการคำนวณไว้ล่วงหน้าก่อนว่าอัตราการกัดเซาะหน้าดินบริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำขึ้นไปจะมีปริมาณเท่าไร โดยจะคำนวณว่าตะกอนจะไหลเข้าสู่อ่างด้วยระยะเวลาเท่าไร อัตราการพังทลายมากน้อยเท่าไร และจะสะสมอยู่ในอ่างมากน้อยเพียงใด ตะกอนที่จะสะสมในอ่างจะใช้เวลาเท่าใด ซึ่งจะได้ค่าต่ำสุดในการที่จะทำการจ่ายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำ ซึ่งโครงการอ่างเก็บน้ำขนาดกลางจะกำหนดไว้ที่ระยะเวลา 50 ปี