นายเกรียงไกร พานดอกไม้ ผู้อำนวยการสำนักงานการเลือกตั้งจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เขตเลือกตั้งเชียงใหม่แต่ก่อนมี 10 เขต เมื่อลดจำนวน สส. เหลือ 350 คน ทำให้ตัวหารเขตก็ลดลงตาม จาก 10 เขต เหลือ 5 เขต ในเบื้องต้นทางสำนักงาน กกต.จังหวัดเชียงใหม่ ได้สำรวจแล้วทั้ง 9 เขต จะเป็นเขตไหนบ้าง แต่เป็นแค่ร่างไว้เท่านั้น ยังไม่เคาะว่าจะใช้รูปแบบที่วางไว้จริงหรือไม่ เพราะว่าจะต้องรอการประกาศจำนวนราษฎรตอนสิ้นปีปฏิทินอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าจำนวนราษฎร ณ วันสิ้นปีนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปจากจำนวนประชากรที่ใช้อยู่ขณะทำร่าง ซึ่งเขตพื้นที่จะเปลี่ยนตามไปด้วย
สำหรับประเด็นที่มีกระแสข่าวว่าจะมีการเลือกตั้งภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 หากต้องรอจำนวนประชากรที่ประกาศช่วงสิ้นปีจะแบ่งเขตได้ทันกับการเลือกตั้งหรือไม่ นายเกรียงไกรฯ ผอ.กกต.เชียงใหม่ กล่าวว่า เงื่อนไขการเลือกตั้งขึ้นอยู่เงื่อนไขทางกฎหมายด้วย กฎหมายทั้ง 4 ฉบับถ้ามีผลบังคับแล้วจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 150 วัน ตามรัฐธรรมนูญ แต่ว่ามีกฎหมายฉบับหนึ่งคือ กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาจะมีผลบังคับในอีก 90 วัน ซึ่งเป็นเงื่อนไขทางกฎหมาย โรดแมปการเลือกตั้งคงไม่ขยับมากน่าจะเป็นไปตามที่ คสช. และรัฐบาลประกาศไว้
ทั้งนี้เขตเลือกตั้งเดิมทั้ง 10 เขตเลือกตั้งล่าสุด ซึ่งเป็นการแบ่งเขตภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ประกอบด้วย
เขตเลือกตั้งที่ 1 อำเภอเมืองเชียงใหม่ (เฉพาะ ตำบลช้างเผือก ตำบลแม่เหียะ ตำบลสุเทพ ตำบลศรีภูมิ ตำบลช้างม่อย ตำบลพระสิงห์ ตำบลป่าตัน ตำบลหายยา และ ตำบลช้างคลาน) มี น.ส.ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ เป็น สส.เขต เขตเลือกตั้งที่ 2 อำเภอเมืองเชียงใหม่ (เฉพาะ ตำบลวัดเกต ตำบลฟ้าฮ่าม ตำบลหนองหอย ตำบลท่าศาลา ตำบลหนองป่าครั่ง และ ตำบลป่าแดด) และ อำเภอสารภี มีนายกฤษดาภรณ์ เสียมภักดี เป็น สส.เขต
เขตเลือกตั้งที่ 3 อำเภอดอยสะเก็ด, อำเภอสันกำแพง และ อำเภอแม่ออน เขตนี้มีการเปลี่ยนแปลง สส. มากถึง 3 คน โดยคนแรก น.ส.ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่งเนื่องจาก ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาให้พ้นจากตำแหน่ง ส.ส. และห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ต่อมามีการเลือกตั้งซ่อม นายเกษม นิมมลรัตน์ ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อม ในปี พ.ศ. 2555 และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. สมัยแรก เดือนมีนาคม พ.ศ. 2556 ได้ลาออกจากตำแหน่ง โดยให้เหตุผลเรื่องปัญหาสุขภาพ และต้องการจะทำงานการเมืองในท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่มากกว่า จากนั้นมีการเลือกตั้งซ่อมอีกครั้งเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2556 นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ลงสมัครและจับสลากได้หมายเลข 2 ผลการเลือกตั้ง นางเยาวภาฯ ชนะการเลือกตั้ง ได้เสียงจากคนเขต 3 เชียงใหม่ 67,101 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 64.92 จึงได้รับการเลือกตั้ง
เขตเลือกตั้งที่ 4 อำเภอสันทราย, อำเภอพร้าว และ อำเภอแม่แตง (เฉพาะ ตำบลแม่หอพระ) มีนายวิทยา ทรงคำ เป็น สส.เขต เขตเลือกตั้งที่ 5 อำเภอแม่อาย และ อำเภอฝาง (ยกเว้น ตำบลแม่ข่า) มีนายประสิทธิ์ วุฒินันชัย เป็น สส.เขต เขตเลือกตั้งที่ 6 อำเภอเชียงดาว, อำเภอเวียงแหง, อำเภอไชยปราการ และ อำเภอฝาง (เฉพาะ ตำบลแม่ข่า) มีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เป็น สส.เขต
เขตเลือกตั้งที่ 7 อำเภอแม่ริม, อำเภอแม่แตง (ยกเว้น ตำบลแม่หอพระ) และ อำเภอเมืองเชียงใหม่ (เฉพาะ ตำบลสันผีเสื้อ) มีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เป็น สส.เขต เขตเลือกตั้งที่ 8 อำเภอหางดง, อำเภอสันป่าตอง และ อำเภอสะเมิง (เฉพาะ ตำบลสะเมิงใต้ และตำบลสะเมิงเหนือ) มีนายนพคุณ รัฐไผท เป็น สส. เขต เขตเลือกตั้งที่ 9 อำเภอแม่วาง, อำเภอจอมทอง, อำเภอดอยหล่อ, อำเภอกัลยาณิวัฒนา, อำเภอแม่แจ่ม (เฉพาะ ตำบลแม่นาจร) และ อำเภอสะเมิง (เฉพาะตำบลยั้งเมิน ตำบลแม่สาบ และตำบลบ่อแก้ว) มีนายสุรพล เกียรติไชยากร เป็น สส. เขต และเขตเลือกตั้งที่ 10 อำเภอแม่แจ่ม (ยกเว้น ตำบลแม่นาจร), อำเภอฮอด, อำเภอดอยเต่า และ อำเภออมก๋อย มีนายศรีเรศ โกฏิคำลือ เป็น สส. เขต (ที่มาข้อมูลเขตเลือกตั้งและ สส.เขต : https://th.wikipedia.org/wiki/สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่)
ทั้งนี้มีแหล่งข่าวได้ประเมินการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ซึ่งจะมี 9 เขต โดยจะรวมพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ทั้ง 2 เขตเลือกตั้งเป็นเขตเดียวเฉพาะอำเภอเมืองเชียงใหม่ ทั้งอำเภอ โดยแยก อ.สารภี ไปเกลี่ยรวมกับอำเภออื่น ซึ่งคาดว่าจะเป็นกลุ่มเขต 3 อ.สันกำแพง ดอยสะเก็ด และ อ.แม่ออน ช่วงนี้ในพื้นที่เชียงใหม่เริ่มมีการทาบทามผู้ที่มีพลังพอจะลงสนามชิงชัยเก้าอี้ สส. ทั้ง 9 เขต ของเชียงใหม่ มีรายชื่อทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่โผล่ให้ได้ยินเป็นระลอก