วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

“เลิศวิโรจน์”เชื่อเพิกถอนพื้นที่อุทยานทัน ผู้ใหญ่2 กระทรวงทราบปัญหาดี คาดเจาะอุโมงค์แม่งัด-แม่กวงเสร็จตามแผน

29 พ.ค. 2018
3113

วันที่ 28 พ.ค. 61 เวลา 11.00 น. ที่บริเวณพื้นที่หน้าอุโมงค์เข้า-ออกหมายเลข 2 โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา อุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่แตง-แม่งัด ซึ่งอยู่ในสัญญาที่ 1 โดยมี บมจ.ไร้ท์ท้นเน็ลลิ่ง เป็นผู้รับจ้าง นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะเดินทางตรวจเยี่ยมโครงการฯ และติดตามการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำ โดยมี นายวิทย์ วงษ์กมลชุณห์ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กรมชลประทาน พร้อมเจ้าหน้าที่ ผู้รับจ้างทั้ง 4 สัญญางานให้การต้อนรับ บรรยายสรุปความคืบหน้าการก่อสร้าง และนำตรวจการทำงานภายในอุโมงค์หมายเลข 2

นายวิทย์ วงษ์กมลชุณห์ ผอ.สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 (ผสญ.1) กล่าวว่า โครงการเพิ่มประมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ช่วง รวม 4 สัญญางาน ช่วงที่ 1 ช่วงแม่แตง-แม่งัด สัญญาที่ 1 กม.0+000 – 13.600 ระยะเวลาก่อสร้าง 1,800 วัน แผนงานก่อสร้างปี 2559-2564 ใช้วิธีการเจาะ/ระเบิด และใช้เครื่องเจาะ TBM ในการขุดเจาะอุโมงค์ ความยาว 13.600 กม. มีบริษัท ไร้ท์เนเน็ลลิ่ง จำกัด เป็นผู้รับจ้าง ขณะนี้มีผลงานก่อสร้างสะสมร้อยละ 18.41 ขณะนี้ได้ทำการติดตั้งหัวเจาะแบบ TMB แล้วเสร็จทั้งระบบแล้ว ช่วงที่ผ่านมาต้องมีการปรับระบบจ่ายไฟฟ้า คาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องหัวเจาะได้ในช่วงต้นเดือนมิถุนายนนี้ หลังจากนั้นผลงานที่ได้เชื่อจะมีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการใช้หัวเจาะสามารถทำงานได้เร็วกว่าวิธีเจาะระเบิด

“สำหรับสัญญาที่ 2 ในช่วงแรกของการก่อสร้างอุโมงค์นี้ งานจะต่อจากสัญญาแรกที่ กม.13+600 ถึง กม.25+624.378 เป็นงานต่อจาก บจ.ไร้ท์เนเน็ลลิ่ง ถึงอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดฯ ความยาว 12.024 กม. มี บมจ.สยามพันธุ์วัฒนา เป็นผู้รับจ้าง ระยะเวลาก่อสร้าง 1,800 วันเช่นกัน แผนงานก่อสร้างปี 2559-2564 ขณะนี้มีผลงานการก่อสร้างสะสมอยู่ที่ร้อยละ 6.795 งานช่วงนี้บริเวณพื้นที่ก่อสร้างบางส่วนอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติศรีลานนา ยังไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างใดได้” ผสญ.1 กล่าว

นายวิทย์ฯ กล่าวต่อว่า ในช่วงที่ 2 ช่วงแม่งัด-แม่กวง สัญญาที่ 1 กม.0+000 – 12+500 มีระยะเวลาการก่อสร้าง 2,340 วัน แผนงานก่อสร้างปี 2558-2564 ใช้วิธีการเจาและระเบิดเพียงวิธีเดียวในการเจาะอุโมงค์ตลอดความยาว 12.500 กม. มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดิเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้รับจ้าง ขณะนี้มีผลงานก่อสร้างสะสมอยู่ที่ร้อยละ 13.311 ในพื้นที่ก่อสร้างในช่วงนี้บางส่วนอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติศรีลานนาเช่นกัน

“ส่วนสัญญาที่ 2 ในช่วงที่ 2 นี้งานก่อสร้างต่อจากสัญญาแรกที่ กม.12+500 จนถึง กม.22+975 ระยะเวลาการก่อสร้าง 1.440 วัน แผนงานก่อสร้างปี 2558-2562 ความยาวรวม 10.476 ช่วงนี้เป็นการเจาะอุโมงค์โดยเครื่องเจาะอุโมงค์ : TMB มี บมจ.ยูนิคเอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น เป็นผู้รับจ้าง มีผลงานการก่อสร้างสะสมร้อยละ 54.522” นายวิทย์ วงษ์กมลชุณห์ ผสญ.1 กล่าว

ด้าน นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ในประเด็นยังมีพื้นที่ที่โครงการต้องใช้สำหรับการก่อสร้างยังไม่ได้รับการเพิกถอนออกจากเขตอุทยานแห่งชาติศรีลานนา ว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้มีการหารือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อการจะหาแนวทางร่วมกันในการจะใช้พื้นที่ ซึ่งคงไม่เฉพาะพื้นที่ของโครงการเพิ่มปริมาณน้ำให้เขื่อนแม่กวงอุดมธาราเท่านั้น ทุกโครงการที่ดำเนินการในพื้นที่ป่าสงวน พื้นที่ป่าอนุรักษ์ อุทยาน ต้องหารือร่วมกันเพื่อหาวิธีการทางออกในการจะแก้ไขปัญหาให้ได้รวดเร็ว

“สำหรับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธาราก็เป็นโครงการหนึ่งที่ต้องใช้พื้นที่ป่าอนุรักษ์ ยังอยู่ในช่วงของการทำเรื่องขออนุญาตใช้ คงเป็นเรื่องที่จะเร่งระยะเวลาในการอนุญาตได้ เพราะว่าผู้บริหารระดับสูงทั้ง 2 กระทรวงที่เกี่ยวข้องโดยตรงรับทราบเรื่องนี้เป็นอย่างดี” ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าว

ต่อประเด็นที่ว่า การส่งมอบพื้นที่ล่าช้าจะเป็นประเด็นให้ผู้รับเหมาใช้เป็นเงื่อนไขในการจะยึดระยะเวลาการก่อสร้างออกไปจากเดิม นายเลิศวิโรจน์ฯ กล่าวว่า ประเด็นนี้เป็นเรื่องอนาคต หากดูระยะเวลาของงานซึ่งมีทั้งสิ้น 4 สัญญา ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาราวปี 2564 ยังพอมีเวลาที่จะเร่งรัดการทำงานได้หากมีการอนุญาต ขณะนี้ยังมีพื้นที่ที่ยังทำงานได้อยู่ก็ทำในส่วนอื่นไปก่อน ทุกสัญญางานที่ 4 สัญญายังทำงานอย่างต่อเนื่อง หากการอนุญาตการใช้พื้นที่ล่าช้าก็เป็นอนุสงค์ที่ผู้รับจ้างจะได้รับ

สำหรับที่มาของโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา สืบเนื่องจากการที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดม เป็นเขื่อนซึ่งมีความจุ 263 ล้าน ลบ.ม. แต่จากสถิติที่ผ่านมามีน้ำไหลเข้าอ่างฯ เฉลี่ยปีละ 202 ล้าน ลบ.ม. สวนทางกับการใช้น้ำในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.ลำพูน ที่มีความต้องการใช้น้ำสูงกว่าปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างฯ ที่มีเก็บ เฉลี่ยแล้วที่เขื่อนแม่กวงฯ ขาดแคลนน้ำเฉลี่ยปีละประมาณ 137 ล้าน ลบ.ม. หากคาดการณ์ไปถึงอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า จะขาดแคลนน้ำเพิ่มขึ้นเป็นปีละประมาณ 173 ล้าน ลบ.ม.

กรมชลประทานจึงได้ศึกษาหาวิธีการเพิ่มปริมาณน้ำให้เขื่อนแม่กวงฯ ได้พบว่าลำน้ำแม่แตงมีปริมาณน้ำท่ามากถึงปีละ 622 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ กรมชลประทานจึงจะผันน้ำส่วนเกินจากลำน้ำแม่แตงในช่วงฤดูฝนเดือน พ.ค.- ก.ย. ไปเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ปีละ 113 ล้าน ลบ.ม. และผันน้ำส่วนเกินจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลปีละ 47 ล้าน ลบ.ม. รวมเป็น 160 ล้าน ลบ.ม. ไปยังเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เพื่อสนับสนุนการอุปโภค-บริโภค อุตสาหกรรม และเพิ่มพื้นที่ชลประทานในฤดูแล้งจาก 17,060 ไร่ เป็น 76,129 ไร่