วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

ชป.1 จัดเต็ม!! เตรียมทั้งเครื่องมือ เครื่องจักร กำลังคน พร้อมรับมือน้ำท่วม

24 พ.ค. 2018
2419

สำนักงานชลประทานที่ 1 สนธิกำลังกับมณฑลทหารบกที่ 33 เตรียมความพร้อมเครื่องจักร ยานพาหนะเครื่องสูบน้ำ เรือท้องแบน พร้อมรับมือการบรรเทาอุทกภัยจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนในการพร้อมรับมือ หากเกิดสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบน

นายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 เปิดเผยว่า อุทกภัยเป็นปัญหาด้านสาธารณภัยที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่เสมอมา โดยทั่วไปฤดูฝนในประเทศไทยจะอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกันยายนของทุกปี ในช่วงนี้หลายพื้นที่จะมีฝนตกชุกและตกติดต่อกันเป็นเวลานาน จนเกิดน้ำหลาก ไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ทำการเกษตรและทรัพย์สินของประชาชน และจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้นับวันสถานการณ์ภัยจากอุทกภัย มีความถี่และมีความรุนแรงมากขึ้น

“จังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา และเป็นพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำปิง มีแม่น้ำสาขาอยู่หลายสาย และเป็นพื้นที่เผชิญกับอุทกภัย เป็นประจำทุกปี ภารกิจในการป้องกันและบรรเทาภัยจากอุทกภัย จึงต้องมีการเตรียมพร้อมอยู่เสมอ สำหรับในปี พ.ศ. 2561 สำนักงานชลประทานที่ 1 เตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำขนาด 8 ถึง 12 นิ้ว จำนวน 50 เครื่อง พร้อมติดตั้ง ณ จุดเสี่ยงภัยในเขตเมืองเชียงใหม่ 35 จุด สำรองไว้กรณีฉุกเฉิน 15 เครื่อง

จัดเตรียมยานพาหนะ รถนาคสูบน้ำเคลื่อนที่ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 12 นิ้ว จำนวน 2 คัน รถขุดไฮดรอลิค 2 คัน รถบรรทุกขนาดต่างๆ 8 คัน รถบรรทุกน้ำ 3 คัน เรือท้องแบน 1 ลำ กำลังพลมากกว่า 100 นาย พร้อมให้การสนับสนุนในการช่วยเหลือบรรเทาสาธารณภัย” ผส.ชป.1 กล่าว

นายจานุวัตรฯ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้เพื่อลดความเสียหายจากอุทกภัยให้เกิดน้อยที่สุด และสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็ว สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพ โดยแผนดังกล่าวกำหนดไว้ 2 ขั้นปฏิบัติการ ขั้นแรกเป็นขั้นเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ มีการประเมินความเสี่ยงภัยจากอุทกภัย โดยการวางแผนการพร่องน้ำในเขื่อน อ่างเก็บน้ำ เพื่อรองรับปริมาณน้ำหลากในพื้นที่เหนือเขื่อน ลดปริมาณน้ำหลากที่จะส่งผลต่อการเกิดอุทกภัยของเมืองเชียงใหม่ มีการจัดทำแผนที่พื้นที่เสี่ยงอุทกภัย แผนที่ทิศทางการไหลของน้ำ จุดติดตั้งเครื่องมือ อาคารที่สำคัญในลักษณะ One Map เพื่อรับสถานการณ์ การเตรียมการด้านโครงสร้างโดยการสำรวจปรับปรุงแหล่งน้ำหรือเส้นทางไหลของน้ำเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย และการเสริมสร้างความรู้และความตระหนักแก่ประชาชน นักเรียน นักศึกษา และเยาวชน เกี่ยวกับข้อมูล ข่าวสาร สถานการณ์ รวมถึงการป้องกันและการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องและปลอดภัยจากอุทกภัย

“ปฏิบัติการขั้นที่ 2 ได้แก่การจัดตั้งศูนย์ประมวลและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ เพื่อมอบหมายหน้าที่และความรับผิดชอบให้กับหน่วยขึ้นตรง ให้มีการประชุมติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการระดมสรรพกำลัง เจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงาน และทรัพยากรเครื่องจักร เครื่องมือ ยานพาหนะ เรือท้องแบน เครื่องสูบน้ำ พร้อมให้การสนับสนุนกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ ในลักษณะ Single Command” นายจานุวัตรฯ กล่าว

ผส.ชป.1 กล่าวต่อว่า สำหรับแผนการปฏิบัติในขั้นที่ 3 เป็นการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ตรวจสอบข้อมูลปริมาณน้ำฝน ระดับน้ำในแม่น้ำ คาดการณ์การเคลื่อนตัวของน้ำในแม่น้ำสายสำคัญ ส่วนปฏิบัติการขั้นที่ 4 ได้แก่ การแจ้งเตือนภัย โดยตรวจสอบข้อมูลและรายงานสถานการณ์ภัย แจ้งข่าวเตือนภัยล่วงหน้าประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนภัยล่วงหน้าแก่ประชาชน รวมถึงประสานการปฏิบัติกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง

“ภาพรวมของการเตรียมความพร้อมของสำนักงานชลประทานที่ 1 ในการรับสถานการณ์อุทกภัยในปี 2561 ที่กล่าวมานั้น เชื่อว่าจะสร้างความมั่นใจในการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนชาวเชียงใหม่ได้ในระดับหนึ่ง และเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นก็จะเร่งรัดเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในส่วนต่างๆ เข้าให้การช่วยเหลือ สนับสนุนทุกสรรพกำลังอย่างเต็มความสามารถ เพื่อให้สถานการณ์อุทกภัยกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว” นายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 กล่าวในที่สุด