วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

อัญเชิญพระบรมราโชวาทในหลวง ร.9 กล่าวกลางวงถก UIHJ “ปนัดดา” ชี้จะพัฒนาธรรมภิบาลประชาชนต้องมีส่วนร่วม

04 พ.ค. 2018
2547

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2561 ที่ห้อง World Ballroom ABC โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการกระทรวงยุติธรรม กล่าวสุนทรพจน์ในนามส่วนราชการไทยต่อผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ นักวิชาการ เรื่อง “หลักประกันความยุติธรรมที่มั่นคงและยั่งยืน” (Guaranteeing a Secure and Sustainable Justice) ภายในงานการประชุมคองเกรสนานาชาติสภาเจ้าพนักงานบังคับคดีระหว่างประเทศ ครั้งที่ 23

โดยมี นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี Mrs. Françoise Andrieux ประธานสภาเจ้าพนักงานบังคับคดีระหว่างประเทศ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรมบังคับคดี และผู้เข้าร่วมประชุมสภาเจ้าพนักงานบังคับคดีระหว่างประเทศ เข้าร่วมรับฟัง

ในส่วนหนึ่งของสุนทรพจน์ หม่อมหลวงปนัดดาฯ ได้อัญเชิญพระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีพระราชดำรัสว่า ความรู้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ความรู้เชิงวิชาการ และความรู้เชิงจริยธรรม และกล่าวถึงศาสตร์พระราชา อันหมายถึงองค์ความรู้ที่ว่าด้วยเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน และหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) ซึ่งเป็นหลักสากลที่สอดคล้องกับที่องค์การระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลกและสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ได้กำหนด ซึ่งประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับหลักธรรมาภิบาลมาอย่างต่อเนื่อง

โดยมุ่งเน้นการพัฒนาธรรมาภิบาล ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และการตรวจสอบอำนาจรัฐโดยภาคประชาชน และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ โดยเฉพาะมาตรา 65 ที่บัญญัติไว้มีสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า “รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ตามหลักธรรมาภิบาล” ในส่วนของกรมบังคับคดี ได้กำหนดมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมในการปฏิบัติงานโดยมีจรรยาบรรณเฉพาะของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ และได้มีการจัดตั้ง “สถาบันพัฒนาการบังคับคดี” ( Legal Execution Professional Academy : LEPA ) เพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาวิชาชีพการบังคับคดี อันจะเป็นหลักประกันความยุติธรรมที่ยั่งยืน

นอกจากนั้น หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ได้อัญเชิญบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มากล่าวต่อที่ประชุม ความว่า :
“Born men are we all and one,
brown, black by the sun cultured.
Knowledge can be won alike.
Only the heart differs from man to man.”

(“ฝูงชนกำเนิดคล้าย คลึงกัน
ใหญ่ย่อมเพศผิวพรรณ แผกบ้าง
ความรู้อาจเรียนทัน กันหมด
เว้นแต่ชั่วดีกระด้าง ห่อนแก้ ฤาไหว”)

และพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ความว่า :
“Education can be divided into two kinds of knowledge: first is the academic knowledge, which will be beneficial to oneself and the country, if applied after completing the course of learning; second is moral knowledge, or ‘Dhamma’, that is, learning how to conduct oneself. Both require wisdom on the part of the learner. But those who use only the academic knowledge, without moral knowledge, cannot be considered persons of wisdom.”

(“การศึกษาสามารถแบ่งออกเป็นสองประเภท ประการแรก คือ ความรู้ทางวิชาการซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ตนเองและประเทศชาติหากสามารถนำมาใช้ภายหลังจากจบการศึกษา ประการที่สอง คือ ความ รู้ทางศีลธรรมหรือ”ธรรมะ” คือการเรียนรู้วิธีปฏิบัติตน ทั้งสองประการต่างต้องใช้สติปัญญาของผู้เรียน แต่การใช้ความรู้ทางวิชาการเท่านั้นโดยปราศจากความรู้ทางจริยธรรมก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นผู้มีปัญญา”)

หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล กล่าวขอบคุณสมาชิกประเทศ UIHJ ที่ให้เกียรติเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมจัดขึ้นที่ประเทศไทย กำลังใจในยามนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญของสังคมในทุกๆ ประเทศ ชนทุกๆ ชาติ ปัญหาที่มีความแตกต่างหลากหลายกันไป แต่ชนส่วนใหญ่คงมองว่าหลักธรรมาภิบาลและคุณธรรมจริยธรรมเท่านั้นคือทางออกของการแก้ไขปัญหาใดๆ และคนดีต้องมีที่ยืน มีโอกาสในการแสดงทัศนคติด้วยเหตุและผล ทุกท่านเดินทางมาเยือนประเทศไทยคราวนี้ ถือเป็นกำลังใจมอบให้แก่กัน ซึ่งเราคนไทยทุกคนมีความซาบซึ้งใจ