วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

บิ๊กฉัตรตามงานเจาะอุโมงค์ ผลงานไม่คืบติดปัญหาพื้นที่อุทยาน ยันต้องชง ครม. เคาะก่อนจึงจะก่อสร้างได้

22 ก.พ. 2018
3785

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2561 พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางเพื่อตรวจเยี่ยมโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีการเจาะอุโมงค์ส่งน้ำที่ใหญ่และยาวที่สุดในประเทศไทย ดำเนินงานโดยกรมชลประทาน เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถสร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำ แก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ บรรเทาอุทกภัยและคุณภาพน้ำในลุ่มน้ำปิงได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

ทั้งนี้รองนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กรมชลประทานเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2564 นี้ ซึ่งการดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าว มี 2 ช่วง ช่วงแรกการขุดเจาะช่วงอ่างเก็บน้ำแม่งัด – แม่กวง และอาคารประกอบ คืบหน้าไปร้อยละ 27 ส่วนช่วงที่ 2 ขุดเจาะอุโมงค์ส่งน้ำช่วงลำน้ำแม่แตง – แม่งัด และอาคารประกอบ คืบหน้าร้อยละ 10 ทั้งนี้สาเหตุที่งานยังไม่ขยับเร็วเพราะติดขั้นตอนการใช้พื้นที่เขตอุทยานฯ

ส่วนการขอใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติรวม 745 ไร่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อนุมัติให้ใช้พื้นที่ป่าสงวนดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว คงเหลือเฉพาะพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติศรีลานนา จำนวน 229 ไร่ ที่อยู่ระหว่างการเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการในการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติตามขั้นตอนต่อไป โดยการดำเนินการในขั้นตอนการเพิกถอนจากการเป็นพื้นที่อุทยานหากยังไม่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจะยังไม่สามารถทำการก่อสร้างได้

สำหรับรายละเอียดความคืบหน้าการก่อสร้างตามโครงการช่วงแรกแม่แตง – -แม่งัน ในสัญญาที่ 1 กม.0+000 – 13+600 ระยะเวลาก่อสร้าง 1,800 วัน แผนงานก่อสร้างปี 2559-2564 ใช้วิธีการเจาะและระเบิด (Drilling & Blasting : D&B) และใช้เครื่องเจาะอุโมงค์ (Tunneling Boring Machine : TBM) ในการขุดเจาะอุโมงค์ ความยาว 13.600 กม. ผู้รับจ้าง บริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด มีผลงานก่อสร้างสะสม 13.604 เปอร์เซ็นต์

สัญญาที่ 2 กม. 13+600 – 25+624.378 ระยะเวลาก่อสร้าง 1,800 วัน แผนงานก่อสร้างปี 2559-2564 ใช้วิธีการเจาะและระเบิด (Drilling & Blasting : D&B) และใช้เครื่องเจาะอุโมงค์ (Tunneling Boring Machine : TBM) ในการขุดเจาะอุโมงค์ ความยาว 12.024 กม. ผู้รับจ้าง บริษัท สยามพันธุ์วัฒนา จำกัด (มหาชน) ผลงานก่อสร้างสะสม 5.042 เปอร์เซ็นต์

ในส่วนโครงการช่วงที่ 2 การก่อสร้างจากแม่งัด – แม่กวง ในสัญญาที่ 1 กม.0+000 – 12+500 ระยะเวลาก่อสร้าง 2,340 วัน
แผนงานก่อสร้างปี 2558-2564 ใช้วิธีการเจาะและระเบิด (Drilling & Blasting : D&B) ในการขุดเจาะอุโมงค์ ความยาว 12.500 กม. ผู้รับจ้าง บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ผลงานก่อสร้างสะสม 12.013 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสัญญาที่ 2 กม.12+500 – 22+975 ระยะเวลาก่อสร้าง 1,440 วัน แผนงานก่อสร้างปี 2558-2562 ใช้เครื่องเจาะอุโมงค์ (Tunneling Boring Machine : TBM) ในการขุดเจาะอุโมงค์ ความยาว 10.476 กม. ผู้รับจ้าง บมจ. ยูนิคเอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น ผลงานก่อสร้างสะสม 44.717 เปอร์เซ็นต์

สำหรับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำแม่กวงอุดมธาราเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ได้เฉลี่ยปีละประมาณ 160 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อใช้ในการเกษตร อุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม และรักษาระบบนิเวศ ช่วยเพิ่มเสถียรภาพการส่งน้ำของพื้นที่ชลประทานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จำนวน 175,000 ไร่ และเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกช่วงฤดูแล้งของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง จำนวน 14,550 ไร่ และยังช่วยสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรม ในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และล้าพูน จากปีละ 13.31ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 49.99 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้งยังจะเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพในการจัดการน้ำในลุ่มน้ำปิงตอนบน ซึ่งกรมชลประทานจะน้าระบบโทรมาตรและระบบเตือนภัยน้ำท่วมมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำและเตือนภัยจากน้ำหลากที่เกิดขึ้นล่วงหน้าอีกด้วย