วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

ภัยหนาว “ราชการยังต้องขอ” เกณฑ์ประกาศภัยบีบซะหน้าเขียว ต่ำกว่า 8 องศาฯ 3 วันติด คาดชาติหน้าได้ประกาศภัย

08 พ.ย. 2017
5533

ที่ห้องประชุม 4 ชั้น 4 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายธนา นวลปลอด หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์และการจัดการ สนง.ปภ.เชียงใหม่ แถลงถึงการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยหนาวจังหวัดเชียงใหม่ ประจำปีงบประมาณ 2560 ว่า ด้วยกรมอุตุนิยมวิทยา มีประกาศลงวันที่ 24 ตุลาคม 2560 เรื่อง การเข้าสู่ฤดูหนาวของประเทศไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งประเทศไทยได้เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวแล้วเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา โดยอุณหภูมิต่ำสุดบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน รวมทั้งของภาคกลาง และภาคตะวันออก ลดลงอยู่ในเกณฑ์อากาศหนาวเย็นเกือบทั่วไปอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับลมชั้นบนระดับล่างได้เปลี่ยนเป็นลมตะวันออกหรือตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนลมชั้นบนระดับบนเปลี่ยนเป็นลมตะวันตก รวมทั้งปริมาณและการกระจายของฝนบริเวณประเทศไทยตอนบนลดลงต่อเนื่อง

“ในด้านการการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ช่วงฤดูหนาว จ.เชียงใหม่ ได้มีประกาศจัดตั้งศูนย์ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ภัยหนาว จังหวัดเชียงใหม่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ขึ้น ณ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2560 พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการศูนย์บัญชาการ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ และให้อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ภัยหนาว ระดับอำเภอ ระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามลำดับ” หน.กลุ่มงานยุทธศาสตร์ฯ กล่าว

นายธนาฯ กล่าวต่อว่า ขณะนี้จังหวัดเชียงใหม่ได้สั่งการให้อำเภอทุกอำเภอ ดำเนินการสำรวจความต้องการเครื่องกันหนาว ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ทุกอำเภอแล้ว โดยให้เน้นกลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้สูงอายุ คนพิการและทุพพลภาพ เด็กไร้ผู้อุปการะ ผู้มีรายได้น้อย และผู้ประสบความเดือดร้อนด้านการดำรงชีพ ซึ่งคาดว่าจะได้รับข้อมูลผลการสำรวจฯ จากอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ภายในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 นี้ พร้อมกันนี้ได้มีการสั่งการให้ทุกภาคส่วนใช้ข้อมูลในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยหนาว พร้อมทั้งมีนโยบายให้จัดหาเครื่องกันหนาวให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ร่วมถึงการขอรับการสนับสนุนจากภาคเอกชนด้วยอีกทาง

“สำหรับข้อมูลการให้ความช่วยเหลือในปีที่ผ่านมาพบว่า ความต้องการเครื่องกันหนาวช่วยเหลือราษฎรของจังหวัดเชียงใหม่ทั้ง 25 อำเภอนั้น มีความต้องการจำนวนเครื่องกันหนาวทั้งสิ้น 343,129 ชิ้น โดยในกลุ่มผู้เปราะบางมีมากถึง 171,631 คน กลุ่มเปราะบางนี้ประกอบด้วย ผู้สูงอายุ 142,261 คน เด็ก 5,117 คน และคนพิการ 24,253 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือมาก่อนช่วง 2 ปีที่ผ่านมารวมอยู่ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่สูงใน อ.ฝาง อมก๋อย แม่แจ่ม และอำเภอโซนเหนือของจังหวัด ทั้งนี้ฤดูหนาวที่ผ่านจังหวัดได้ให้ความช่วยเหลือแล้วรวมจำนวน 236,919 ชิ้น” หน.กลุ่มงานยุทธศาสตร์ฯ กล่าว

“การที่ต้องดำเนินการดังที่กล่าวมานี้ในการจะขอรับการสนับสนุนเครื่องกันหนาวจากภาคเอกชน เนื่องจากการจะประกาศภัยหนาวนั้น ตามระเบียบกระทรวงการคลังได้กำหนดไว้ว่า การจะประกาศให้เป็นเขตภัยพิบัติภัยหนาวและหน่วยงานราชการจะให้ความช่วยเหลือได้ พื้นที่ที่จะประกาศนั้นจะต้องมีอุณหภูมิต่ำกว่า 8 องศาเซลเซียสต่อเนื่องกันตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป คือจะประกาศเป็นเขตพื้นที่ให้ความช่วยเหลือได้ต้องดำเนินการในวันที่ 4 และวันที่ประกาศนั้นอุณหภูมิก็ต้องต่ำกว่า 8 องศาเซลเซียสด้วย จึงจะนำเงินราชการเข้าไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยหนาวในพื้นที่นั้นได้” นายธนาฯ กล่าว

หน.กลุ่มงานยุทธศาสตร์ฯ กล่าวอีกว่า การดำเนินการในปีนี้ก็เช่นเดียวกันกับปีที่ผ่านมา จังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินการขอรับการสนับสนุนเครื่องกันหนาวจากทางมูลนิธิ และภาคเอกชนไปแล้ว อาทิ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), กลุ่มบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์, มูลนิธิฮอนด้าประเทศไทย, บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่นซิสเทม จำกัด (เทสโก้ โลตัส), บริษัท กาดสวนแก้ว 2545 และมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ เป็นต้น เพื่อเตรียมการไว้ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวต่อไป

ประเด็นเกี่ยวกับเกณฑ์ที่กำหนดการจะประกาศภัยหนาวได้ต้องมีอุณหภูมิต่ำกว่า 8 องศาฯ ติดต่อกัน 3 วัน เป็นอุปสรรคต่อการให้การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนหรือไม่ อย่างเช่นปีที่ผ่านมาประชาชนยังขาดเครื่องกันหนาวที่แจ้งความต้องการมากกว่า 1 แสนชิ้น นายธนา นวลปลอด กล่าวว่า เนื่องจากเป็นเกณฑ์ที่กำหนดไว้อันเป็นระเบียบราชการ ซึ่งทางจังหวัดเชียงใหม่ไม่ได้นิ่งนอนใจได้มีหนังสือชี้แจงไปยังส่วนกลางแล้วเกี่ยวกับเรื่องนี้ อีกทั้งยังมีการนำเรียนในที่ประชุมในวาระที่ผู้บริหารระดับสูงจากส่วนกลางมาตรวจเยี่ยมและประชุมในเชียงใหม่ ถึงข้อจำกัดในการที่จะต้องให้พื้นที่มีอุณหภูมิหนาวเย็นต่ำกว่า 8 องศาฯ ติดต่อกันต่อเนื่องเป็นเวลา 3 วัน เป็นเรื่องที่ยากจะเป็นไปได้ อาจจะมีบ้างในบางพื้นที่อย่างเช่น ยอดดอยอินทนนท์ หรือที่ดอยอ่างขาง แต่ใช่ว่าคิดจะประกาศก็ประกาศได้เลยแม้ว่าพื้นที่นั้นทราบกันแล้วว่าอุณหภูมิต่ำตามเกณฑ์ ตัวเลขอุณหภูมิที่ว่านั้นก็ต้องมีหน่วยงานเป็นที่ยอมรับ น่าเชื่อถือ รับรองตัวเลขนั้นด้วย ประเด็นนี้จึงเป็นปัญหาอุปสรรคมาหลายปีแล้ว” นานธนา นวลปลอด หน.กลุ่มยุทธศาสตร์ฯ สนง.ปภ.เชียงใหม่ กล่าว