วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2567

คืนสมดุลให้ป่าชุมชนด้วยจุลินทรีย์ แก้ปัญหา PM2.5 ลดเกิดไฟป่า

ชาวบ้านตำบลป่าป้อง ดอยสะเก็ด ร่วมกับภาคเอกชนฯ จัดกิจกรรม คืนสมดุลให้ป่าชุมชนด้วยจุลินทรีย์ แก้ปัญหาไฟป่าฟื้นนิเวศป่าไม้อย่างยั่งยืน นำตัวแทนชาวบ้านอบรมการ EM จากจุลินทรีย์ และเพาะเชื้อเห็ดป่าจากจุลินทรีย์ นำไปหว่านในป่าชุมชนบ้านทุ่งยาว ฟื้นคืนสมดุลให้ป่า นอกจากนี้ยังได้มีการนำEM น้ำไปฉีดพ่นเพื่อเร่งการย่อยสลายของซากพืชเพื่อลดเชื้อเพลิงในช่วงฤดูแล้ง นอกจากนี้ชาวบ้านยังได้ตั้งศูนย์เรียนรู้และธนาคารจุลินทรีย์ เพื่อต่อยอดสร้างรายได้ให้ชุมชน

ที่ป่าชุมชนบ้านทุ่งยาว ต.ป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ชาวบ้านตำบลป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด ต่างน้ำเชื้อเห็ดป่า 16 ชนิด จุลินทรีย์แห้งและน้ำ และ EM บอล ที่ผลิตขึ้นจากการเข้าอมรมที่ศูนย์จุลินทรีย์ ตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ มาหว่าน และรดในพื้นที่ป่าชุมชมบ้านทุ่งยาว เพื่อฟื้นคืนสมดุลให้ป่า เร่งการย่อยสลายของซากพืชเพื่อลดเชื้อเพลิงในช่วงฤดูแล้ง หลังจากที่ บริษัท กัลฟ์ (GULF ) และ บริษัท เชียงใหม่เวสท์ ทู เอ็นเนอร์จี จำกัด (CMWTE) ร่วมกับ ชุมชนบ้านทุ่งยาว ต.ป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ได้จัดโครงการ “คืนสมดุลให้ป่าชุมชนด้วยจุลินทรีย์” เพื่อแก้ปัญหาไฟป่าและฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้ โดยมี นายสมพงศ์ เจริญศิริ กำนันตำบลป่าป้อง และนายจิรศักดิ์ มีสัตย์ ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ บริษัท GULF CMWTE และ เทศบาลตำบลป่าป้อง มูลนิธิเกษตรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมให้การสนับสนุนวิทยาการอบรมให้ความรู้กับชาวบ้าน

กิจกรรมในวันนี้ เป็นการอบรมด้านความรู้เกี่ยวกับจุลินทรีย์ และความรู้ฐานชีวภาพ (Biobased) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม ให้ชุมชนเข้าใจมิติความสัมพันธ์ของวัฏจักรธรรมชาติด้านชีววิทยากับวิถีชีวิตชุมชนและป่าไม้ ฯลฯ การรู้จักใช้จุลินทรีย์เพื่อสิ่งแวดล้อม การเกษตร และแนวทางพัฒนาอาชีพรายได้ชุมชนด้วย นอกจากนั้นยังมีการสาธิตจากวิทยากรและผู้เข้าร่วมลงมือปฏิบัติ การขยายเชื้อจุลินทรีย์ การหมักปุ๋ยหมักจากวัสดุท้องถิ่น เช่น ใบไม้ หญ้าฟาง เศษอาหารจากครัวเรือน ผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพชนิดต่างๆ การทำจุลินทรีย์ก้อน (EM Ball) เป็นปุ๋ยและบำบัดน้ำเสีย และการเพาะชยายเชื้อเห็ดป่า เป็นต้น และยังมีกิจกรรมในป่าชุมชน คือ การคืนสมดุลให้ป่าด้วยจุลินทรีย์ ซึ่งผู้เข้าร่วมได้นำจุลินทรีย์ชนิดน้ำชนิดแห้งไปฉีดพ่นโรย บริเวณป่าชุมชนบ้านทุ่งยาว และหมักใบไม้ในป่า เพื่อเพิ่มการย่อยสลายใบไม้ซึ่งเป็นเชื้อไฟได้ และหมักเป็นปุ๋ยฟื้นฟูดินในป่าที่เสื่อมโทรมหรือเคยถูกไฟป่าเผาผลาญ ทำให้จุลินทรีย์ในดินป่าตาย นิเวศเสียสมดุล นอกจากสอนชุมชนขยายเชื้อเห็ดยังนำเชื้อเห็ดป่าหลายชนิดนำไปใส่กระจายในป่าที่โคนต้นไม้ใหญ่น้อย และยังกระจายเชื้อเห็ดในชุมชนสวนไร่นา เพื่อจะได้มีแหล่งเห็ดรับประทานในชุมชน รณรงค์ลดการเผาป่าหาเห็ดของชุมชนควบคู่กับการอนุรักษ์ป่าของชุมชน และได้นำจุลินทรีย์ก้อนไปโยนสู่ป่าและแหล่งน้ำด้วย

ด้าน ดร.กฤษณ์ พงษ์เทพิน นักวิชาการ อดีตอาจารย์ ม. เทคโนโลยีพระจอมเกล้า ฯ ลาดกระบัง เปิดเผยว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกเกิดจากภาวการณ์เสียสมดุลของระบบนิเวศน์ และวิ่งแวดล้อม จึงมีแนวคิดที่ว่าในการลดภาวะโลกร้อน และการย้อนไปสู่ยุคที่เหมือนเกิดโลกใหม่ ต้องทำอย่างไรบ้าง จึงได้วิเคราะห์ดูว่า ระบบฐานชีวภาพ จะสามารถอธิบายของการเสียสมดุลได้ดี ก็เลยนำยุทธศาสตร์นี้มาส่งเสริมให้กับชุมชนในเรื่องของไบโอชีวภาพ ซึ่งเรานิยามว่า การส่งเสริมยุทธศาสตร์เมืองจุลินทรีย์ ก็คือ การนำเอาองค์ความรู้ด้านจุลินทรีย์ต่างๆ ส่งเสริมให้ชุมชนในการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเผาป่าเอาเห็ด หรือเผาป่าเพื่อสร้างมูลค่าบางอย่าง หรือความสะดวกในการหาพืชพันธุ์ธัญญาหารเล็กๆ น้อยๆ ในป่า ซึ่งสร้างความเสียหายกับระบบนิเวศน์เป็นจำนวนมาก เพราะองค์ความรู้เรื่องเมืองจุลินทรีย์ เอาตัวจุลินทรีย์ซึ่งเป็นกลไกวัฏจักรของระบบนิเวศน์ทั้งหมดมาเป็นตัวที่จะเร่งย่อยสะลายเร่งระบบนิเวศน์ย้อนกลับมา คือเอาตัวจุลินทรีย์มาเร่งย่อยสลายเศษใบไม้ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงในป่า ตลอดจนย่อยสลายอินทรียวัตถุ สิ่งที่เหลือจากภาคการเกษตร เศษอาหาร ย้อนกลับมากลายเป็นปุ๋ย ปุ๋ยน้ำ เป็น EM บอล เป็นจุลินทรีย์ ที่ใช้ในการฟื้นฟูป่า เพราะว่าจุลินทรีย์ เป็นตัวกระตุ้นทำงานกับต้นไม้ ระบบนิเวศน์ อุณหภูมิ เป็นการฟื้นฟูดินให้มีชีวิต เมื่อดินดี ก็มีต้นไม้ ป่าก็มีชีวิต

“นอกจากนี้ยังมีการนำเชื้อเห็ดที่เป็นชนิดของเชื้อจุลินทรีย์ราที่เป็นเห็ดที่ขยายในชุมชนไปแพร่ขยายในป่า และส่งเสริมให้ชาวบ้านเพาะเห็ดตามเรือกสวนไร่นาซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน และจะช่วยลดให้ชาวบ้านเผาป่าหาเห็ด นอกจากนั้นสามารถนำจุลินทรีย์ไปต่อยอดในภาคเกษตรกรรม เช่น การทำปุ๋ยใช้ในแปลงเกษตรลดการใช้สารเคมี ซึ่งจะสามารถลดค่าใช้จ่ายให้เกษตรกรได้อีกด้วย กระบวนการทั้งหมดจะทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นเป็นที่มาของเมืองจุลินทรีย์ ก่อนหน้านี้ได้มีการเริ่มต้นการนำจุลินทรีย์มาส่งเสริมร่วมกับมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนไม่ต่ำกว่า 20 ปี กับเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ใช้ระบบและแนวคิดเดียวกัน นำจุลินทรีย์ไปบำบัดน้ำเสีย ฟื้นฟูระบบนิเวศ ไม่ว่าจะเป็นป่าชายเลน ด้วยการนำจุลินทรีย์ฟื้นฟูดินและน้ำก่อนปลูกป่าชายเลนจนประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับการปลูกป่า จะเห็นได้ว่าหลังจากปลูกแล้วส่วนใหญ่ต้นไม้จะตาย ถ้าหากเราใช้ระบบจุลินทรีย์ชีวภาพเข้าไปช่วยเอาใบไม้ทั้งหมดซึ่งเป็นอินทรียวัตถุที่กองทั่วไปในป่าแล้วเติมจุลินทรีย์เข้าไป ใบไม้ กิ่งไม้ ที่เป็นเชื้อเพลิงจะย่อยสลายกลายเป็นอาหารของต้นไม้ เหมือนยุคที่ป่าเติบโตเอง แต่ปัจจุบันป่าไม้เสียสมดุลเนื่องจากจุลินทรีย์ในดินถูกนำลายและเหลือน้อยจากการเผาป่า และการชะลางหน้าดินของน้ำป่าที่เกิดจากการทำลายป่าไม้ ที่มาดำเนินการที่ป่าชุมชนแห่งนี้ต้องการสร้างให้พื้นที่นี้เป็นภูเขาจุลินทรีย์ของชาวเชียงใหม่ เป็นต้นแบบของเมืองเชียงใหม่ ในการดูแลป่าไม้โดยชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขยายไปสู่เมืองต่างๆ ภูเขาต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะสามารถลดการเผาป่า และเป็นการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ได้อย่างยั่งยืน ในฐานของไบโอชีวภาพ” ดร.กฤษณ์ฯ กล่าว

ขณะที่ นายจิรศักดิ์ มีสัตย์ ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ บริษัท GULF CMWTE กล่าวว่า บริษัทฯ มีนโยบายและให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ต่อการร่วมอนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมร่วมกับชุมชน โดยเฉพาะปัญหาไฟป่า หมอกควัน PM 2.5 การเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ ป่าไม้ฯ ซึ่งมีผลกระทบอย่างรุนแรงในปัจจุบัน ทั้งชาวดอยสะเก็ด และ จ. เชียงใหม่ บริษัทฯ เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ยินดีที่ร่วมสนับสนุนชุมชน เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชน

ด้าน นายสมพงศ์ เจริญศิริ กำนันตำบลป่าป้อง กล่าวว่า พื้นที่ป่าชุมชนบ้านทุ่งยาว กินพื้นที่ 4 หมู่บ้านในตำบลป่าป้อง มีพื้นที่ทั้งหมด 3 พันกว่าไร่ ที่ผ่านมาป่าแห่งนี้จัดการด้วยกระบวนการป่าคาร์บอนเครดิตของตำบลป่าป้อง โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ก่อนหน้านี้ชาวบ้านได้ดำเนินกิจกรรมในป่าชุมชน เช่น การทำฝายชะลอน้ำ การทำแนวกันไฟ ชิงเก็บลดเผา ปลูกป่าเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามวิถีชีวิตของชาวบ้าน นั้นยังขาดองค์ความรู้ด้านวิชาการ ซึ่ง บริษัทฯ บ.กัลฟ์ และ เชียงใหม่เวสท์ ทู เอ็นเนอร์จี จำกัด ได้สนับสนุน งบประมาณ นักวิชาการ มาให้ความรู้แก่ชุมชน ในการบริหารจัดการพื้นที่ป่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การให้ความรู้กับชาวบ้านเรื่องจุลินทรีย์ การใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ การหมักหัวเชื้อจุลินทรีย์ และการนำขยะในครัวเรือนเพื่อนำไปทำปุ๋ย นำไปต่อยอดการสร้างรายได้ให้ชุมชน นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมจัดตั้งศูนย์เรียนรู้และธนาคารจุลินทรีย์แก่ชุมชน ซึ่งจะเกิดประโยชน์ทั้งชุมชนและการฟื้นฟูป่าชุมชนได้เป็นอย่างมาก เบื้องต้นความรู้ในวันนี้ที่ชาวบ้านได้รับทางชุมชนจะได้มีการบริหารจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการคัดแยกเศษอาหารออกจากขยะ แล้วนำมาขยาย EM นำมาทำปุ๋ยใช้ในครัวเรือน ซึ่งจะสามารถลดขยะที่เป็นเศษอาหารได้

ขณะที่ พระประสิทธิ์ กิตติญาโณ เจ้าอาวาสวัดพระนอน ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ซึ่งได้เดินทางมาร่วมการอบรมครั้งนี้ด้วย เปิดเผยว่า ทางวัดและชุมชนประสบปัญหาขยะจึงได้มีการรณรงค์ให้ชาวบ้านในพื้นที่คัดแยกขยะ โดยเริ่มที่วัดพระนอนทำเป็นตัวอย่างให้ชาวบ้าน เช่นช่วงที่วัดมีงานและมีโรงทาน ก็จะให้สามเณร และอาสาสมัครชาวบ้านคัดแยกขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้จะนำไปขายให้บริษัทฯ ส่วนขยะที่เป็นพลาสติกก็จะไปเข้าเตาเผาเปลี่ยนเป็นน้ำมันใช้ในวัดทั้งเครื่องยนต์ ทั้งเชื้อเพลิงเผาศพ แต่ขยะจากเศษอาหาร ทางวัดมีจำนวนมาก ใช้วิธีกำจัด เช่น นำไปหมักทำปุ๋ย แต่ก็เกิดกลิ่นเหม็นเนื่องจากยังไม่ได้จัดการขยะเปียกตามหลักวิชาการ ซึ่งความรู้ที่ได้รับในวันนี้คิดว่าจะนำไปต่อยอดในการบริหารจัดการขยะที่วัดเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะเปียกสามารถนำ EM นำไปหมักมาทำเป็นปุ๋ย ไปใส่ต้นไม้และแปลงผักภายในวัดได้อีกด้วย

นายรณกร บวรเลิศศักดา และ นายนิพนธ์ สุวรรณรังสี ชาวบ้าน ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ซึ่งเข้ารับฟังการอบรม บอกว่า ในส่วนของครัวเรือนในพื้นที่ตำบลดอนแก้ว จะมีเศษอาหารและขยะเปียกเป็นจำนวนมาก การอบรมวันนี้ได้เห็นประโยชน์การกำจัดขยะเปียกอย่างถูกวิธีด้วยองค์ความรู้การใช้จุลินทรีย์ และสามารถนำวิธีการดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการขยะในชุมชน และยังสามารถนำไปต่อยอดสร้างรายได้จากขยะให้ชาวบ้านด้วยการขยายหัวเชื้อจุลินทรีย์ และการทำ EM ได้อีกด้วย ซึ่งหลังจากนี้จะได้มีการนำองค์ความรู้ที่ได้วันนี้ไปถ่ายทอดต่อให้กับชาวบ้านในชุมชนต่อไป