วันจันทร์, 25 พฤศจิกายน 2567

งบว่า 2.3 พันล้าน ผุดโรงไฟฟ้าจากขยะชุมชน เชียงใหม่หนุ่นเต็มที่หวังจัดการขยะโซนใต้อย่างมีประสิทธิภาพ

จังหวัดเชียงใหม่ จับมือภาคเอกชนไทย-จีน ทุ่มงบ 2,300 ล้าน ผุดโปรเจค โรงไฟฟ้า ขยะมูลฝอย จากชุมชน ลดก๊าซ โลกร้อน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อแก้ไขปัญหาขยะล้นเมืองเชียงใหม่ จัดพิธีลงนามข้อตกลงร่วมลงทุนโครงการบริหารกำจัดขยะมูลฝอยชุมชนปราศจากมลพิษ ผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดเล็ก หลังลงนามเริ่มทำงานก่อสร้างทันที

วันที่ 31 ตุลาคม 2567 ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลบ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายก่อชิ เพชรไพรพนาวัลย์ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านหลวง อ.จอมทอง ทั้งสอง เป็นพยานในพิธีลงนามข้อตกลงร่วมลงทุนโครงการบริหารกำจัดขยะมูลฝอยชุมชนปราศจากมลพิษ ผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดเล็ก (Very Small Power Product : VSPP) กำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 MW(เมกาวัตต์) โดยใช้ขยะมูลฝอยชุมชนเป็นเชื้อเพลิง บริษัทเอกชนนำโดย MR.เจ้า เตเปี่ยน (Mr. Cao Debiao) CEO บริษัท China Tlanying Inc. หรือ บริษัท CNTY ลงนามกับนายบัณฑิต เดชฤาษี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซเว่นซัน 2514 โดยมีสักขีพยานอีกคือเจ้าหน้าที่อำเภอจอมทอง ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ อ.จอมทอง และนายก อปท.ในพื้นที่ และสมาพันธ์นักธุรกิจเก็บขนสิ่งปฏิกูลมูลฝอยภาคเหนือ (เชียงใหม่) ร่วมในพิธี

MR.เจ้า กล่าวหลังจากพิธีลงนาม ว่า หลังจากวันนี้บริษัทฯ จะเริ่มลงมือก่อสร้างโรงงานทันที คาดว่า 24 เดือน หรือ 2 ปี จะสร้างโรงงานให้แล้วเสร็จ สามารถกำจัดขยะได้มากถึง 500 ตันต่อวัน โดยปริมาณกำจัดมากสุดอยู่ที่ 650 ตันต่อวัน โรงงานสามารถผลิตไฟฟ้าได้ไม่เกิน 10 MW. (เมกาวัตต์) ซึ่งบริษัทจะใช้เงินลงทุนโครงการนี้ประมาณ 2,300 ล้านบาท และจะทำให้ชาวเชียงใหม่ได้ประโยชน์ทางเรื่องการแก้ไขปัญหาขยะอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการกำจัดขยะแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้กับชาวบ้านและประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง จากประสบการณ์ที่จัดสร้างโรงกำจัดขยะผลิตกระแสไฟฟ้ามาแล้วที่ประเทศจีน และได้นำคณะผู้บริหารทางจังหวัดเชียงใหม่ และทางอำเภอจอมทองไปศึกษาดูงาน ก็ได้เห็นแล้วว่าโรงงานเป็นเหมือนสวนสุขภาพ รูปแบบโรงงานที่จีนจะนำมาเป็นต้นแบบเพื่อก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าในพื้นที่ ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ หากแต่จะทันสมัยและมีคุณภาพมากกว่า เพราะปัจจุบันมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิน และมีคุณภาพดีกว่าโรงงานต้นแบบที่ประเทศจีน ซึ่งที่จีนได้ดำเนินการมานานกว่า 10 ปีแล้ว และที่นั่นขณะนี้กลายเป็นที่ศึกษาดูงานของนานาชาติหลายประเทศ” MR.เจ้า เตเปี่ยน CEO บริษัท CNTY กล่าว

ทั้งนี้โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ทาง นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายก่อชิ เพชรไพรพนาวัลย์ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านหลวง และ MR.เจ้า เตเปี่ยน CEO บริษัท CNTY กับ นายบัณฑิต เดชฤาษี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซเว่นซัน 2514 ได้หารือกันที่ศาลากลางเชียงใหม่ เมื่อเช้าที่ผ่านมาแล้ว โดยที่ประชุมสรุปได้ว่า งานนี้เป็นนโยบายแห่งชาติของการจัดการให้ขยะหมดสิ้นจากชุมชน โดยกระทรวงมหาดไทยได้มอบวิธีการให้แต่ละจังหวัดจัดการขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นจากภาคครัวเรือนโดยการนำมากำจัดอย่างถูกวิธี โดยอนุญาตให้ทั่วประเทศรวมกลุ่มจัดการขยะด้วยวิธีการเผาแบบไร้ควันนำพลังงานความร้อนผลิตไฟฟ้า เนื่องจาก จ.เชียงใหม่ เป็นหัวเมืองท่องเที่ยวมีขยะเกิดขึ้นประจำจากประชากรในจังหวัดประมาณ 1,800 – 2,000 ตัน/วัน ทั้งยังมีขยะเกิดจากนักท่องเที่ยวรวมทั้งประชากรแฝงอีกส่วนหนึ่ง ทำให้มีขยะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 300-400 ตัน/วัน รวมแล้วขยะทั้งจังหวัดจะมีมากกว่า 2,500 ตัน/วัน จากที่ผ่าน จ.เชียงใหม่ไม่มีพื้นที่ กำจัดขยะที่เหมาะสมเป็นของรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐ มีการกำจัดขยะโดยวิธีการฝังกลบโดยภาคเอกชน ซึ่งเกิดต้นทุนในการจัดการที่ไม่คุ้มต่อการบริหารงานท้องถิ่น ทั้งยังมีขยะเพิ่มจากจำนวนประชาชนที่เติบโตขึ้นทุกๆปี กว่าเท่าตัว

กระทรวงมหาดไทย โดย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ร่วมบูรณาการทุกภาคส่วน อาทิ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้ง กรมกอง ต่างๆ ได้ออกเป็นข้อกฎหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ร่วมกลุ่มจัดการคัดเลือกเทคโนโลยีมากำจัดขยะที่ทั่วโลกยอมรับว่าการเผาขยะแบบสมบูรณ์แปรสภาพเป็นพลังงานไฟฟ้านั้นดีที่สุด ประหยัดทั้งงบประมาณ ทำให้ขยะหมดสิ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งนำความร้อนผลิตไฟฟ้ากลับไปในรูปแบบพลังงานสะอาดได้อีก เป็นโรงไฟฟ้าปราศจากมลพิษ โดยใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิง

เมื่อ จ.เชียงใหม่ มีขยะมากกว่า 2,500 ตัน/วัน จึงมีการจัดการกลุ่มผู้จัดการ ( Clusters ) 3 กลุ่ม เทศบาลตำบลบ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เป็น Clusters 3 ได้เสนอตนเองเป็นเจ้าภาพรวมกลุ่มนำรูปแบบการจัดการด้วยการเผาขยะนำความร้อนผลิตไฟฟ้าในรูปแบบของผู้ประกอบการขนาดเล็กมาก (VSPP) Very Small Power Producer นำไฟฟ้าที่ได้เสนอขายให้กับ PEA ได้ไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ จัดการโครงการนี้ แบบ B.O.T (Build Operate Transfer ) รัฐร่วมกับเอกชน เอกชนผู้ลงทุนให้สัญญาว่า จะเป็นผู้ลงทุนออกแบบก่อสร้างและบริหารจัดการโรงงานกําจัดขยะมูลฝอยชุมชนปราศจากมลพิษเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดเล็กมาก VSPP ( Very Small Power Producer) ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมทันสมัย มีการจัดการขยะให้ได้มากกว่า 500 ตัน/วัน ซึ่งเป็นโครงการที่เทศบาลตำบลบ้านหลวงจะใช้เทคโนโลยีเตาเผาจากยุโรป และมีผู้ประกอบการด้านการจัดการขยะจากประเทศจีน มีประสบการณ์มามากกว่า 20 ปี จะเข้ามาร่วมดำเนินการ ทั้งนี้ได้มี บริษัท เซเว่นซัน 2514 จำกัด เป็นผู้รับสัมปทาน และมีผู้ร่วมทุนคือ บริษัท CNTY ซึ่งเป็นบริษัทมหาชน จากประเทศจีน

MR.เจ้า เตเปี่ยน CEO บริษัท CNTY. นายบัณฑิต เดชฤาษี บริษัท เซเว่นซัน 2514 ได้วางแผนจัดการขยะแบบสมัยใหม่ให้มากที่สุดเพื่อลดจำนวนขยะชุมชนที่เกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 500 ตัน และมีแผนนำขยะเก่าสะสมในพื้นที่ฝังกลบนำมาผสมเป็นเชื้อเพลิงอีก 100 ตัน/วัน ในรูปแบบไร้มลพิษ ได้วางกรอบการลงทุนไว้กว่า 1,900 -2,000 ล้านบาท สร้างให้เป็นโรงไฟฟ้าขยะต้นแบบของประเทศไทยที่ลงทุนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบ B.O.T(Build Operate Transfer ) โดยผู้ลงทุนเป็นผู้ลงทุนออกแบบก่อสร้างและบริหารจัดการโรงงานกําจัดขยะมูลฝอยชุมชนปราศจากมลพิษเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดเล็กมากนี้ตามโครงการ โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้เชื้อเพลิงจากขยะชุมชนเท่านั้น ทั้งนี้ผู้สัมปทานจะบริหารก่อน เมื่อครบสัญญาจะยกเป็นสมบัติของเทศบาลตำบลบ้านหลวงหรือชุมชนให้บริหารเข้ามาบริหารต่อ มีการมอบรายได้ให้กับชุมชนในรูปกองทุนไฟฟ้า รวมทั้งจัดการขยะให้เทศบาลตำบลบ้านหลวงฟรี ตลอดสัญญา 20 ปี มีการจ้างแรงงานในพื้นที่เพื่อก่อสร้างและจ้างแรงงานใน อ.จอมทอง เข้าทำงานในโครงงานก่อน หลังจากนั้นจะประกาศรับทั้งจังหวัดเชียงใหม่ คาดว่า จะเกิดเงินหมุนเวียนในช่วงก่อสร้างอย่างมาก เกิดการจ้างงาน จะ ลดค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชน, หน่วยงานราชการทั่วเชียงใหม่ มากกว่า 50% ของค่าจัดการขยะมูลฝอยที่ อปท. ต่างๆ ต้องรับผิดชอบต่อครัวเรือน

ทั้งนี้ผู้บริหารสัมปทานโครงการ นายบัณฑิต เดชฤาษี ของบริษัท เซเว่นซัน 2514 จำกัด ได้ให้ข้อมูลว่า ตนเองรู้ว่าวิธีการกำจัดขยะโดยการเผานั้น มีมากกว่า 30 ปีแล้ว ที่ประเทศสิงคโปร์ ต่างประเทศนี้ไม่มีการฝังกลบขยะ ซึ่งนำเทคโนโลยีการเผาที่ทันสมัยมาใช้ขยะมูลฝอยของบ้านเรือนในประเทศไทยนั้นวิเคราะห์แล้วมีค่าความความร้อนดีมาก จากสมัยก่อนต้องใช้ขยะมากกว่า 100 ตัน จะได้ไฟฟ้า 1 เมกกะวัตต์ ตอนนี้ใช้ขยะแค่ 50 – 60 ตัน ได้ความร้อนผลิตไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ เมื่อโรงไฟฟ้านี้ตั้งเป้ากำจัดขยะที่ 600 ตัน/วัน จะได้ไฟฟ้าประมาณ 10 เมกะวัตต์ สามารถกำจัดขยะให้ชุมชนได้หมดสิ้น 600 ตัน ภายใน 1 วัน

MR.เจ้า ได้กล่าวอีกว่า บริษัท CNTY ที่สนใจมาลงทุนในประเทศไทยโดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่เป็นอย่างมาก เนื่องจากเชียงใหม่มีนักท่องเที่ยวจากจีนมาจำนวนมากทั้งที่อยู่อาศัยพำนักระยะยาว นำลูกหลานมาเรียนในตัวเมือง มีนักท่องเที่ยวจากจีนมาเพิ่มทุกๆ ปี ผู้คนในเชียงใหม่อัธยาศัยดี ให้การต้อนรับดี ให้ความอบอุ่นใจ อีกทั้งมีสถานกงสุลจีนตั้งอยู่ในตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่มาเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว ในฐานะเป็นผู้บริหาร CNTY ขอรับรองว่า บริษัทเป็นผู้เชี่ยวชาญในการสร้างและบริหารโรงไฟฟ้าขยะในประเทศจีน และอีกหลายประเทศในเอเชีย ทางบริษัทเป็นผู้ผลิตเตาเผาเอง และส่งขายให้กับโรงไฟฟ้าต่างๆ ทั่วโลก โดยใช้เทคโนโลยีจากยุโรป และนำเทคโนโลยีอื่นๆ มาพัฒนาตาม เช่น ระบบเผาไหม้ไร้ควัน, เทคโนโลยีบำบัดน้ำเสีย, การจัดการระบบน้ำ และจัดการกำจัดขยะให้รวดเร็วในวันต่อวัน

“การลงทุนในเชียงใหม่ ทางบริษัทจะลงทุนเป็นที่แรกกับพันธมิตรเรา จะทำให้ดีที่สุดและทำให้สวยที่สุดกว่าที่ใดๆ ในโลก พร้อมที่จะร่วมกับ พันธมิตรเรา คือ บริษัท เซเวนซัน 2514 ลงทุนในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงอีก 5 -7 แห่ง ภายใน 2 ปี” MR.เจ้า เตเปี่ยน (Mr. Cao Debiao) CEO กล่าวปิดท้าย