ชลประทานเชียงใหม่ เร่งตรวจสอบประตูระบายน้ำท่าวังตาล วางแผนรับมือพายุ หลังประชาชนกังวลจะเกิดน้ำท่วมเหมือนปี 65 พร้อมเตรียมกระสอบทรายเสริมพนังกั้นน้ำไม่ต่ำกว่า 2,000 ใบ ปรับปรุงพนังกั้นน้ำบริเวณท้ายประตูระบายน้ำสูงขึ้นกว่า 1.50 เมตร และกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ และวัชพืชในลำน้ำปิง ป้องกันปัญหาน้ำเอ่อล้นท่วมบ้านเรือนราษฎร
วันที่ 22 ก.ค. 67 นายชนม์ฐพัฒน์ เครือศรี หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการชลประทานเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายศิริฉัตร บัวพุทธา หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 8 โคงการชลประทานเชียงใหม่ ลงพื้นที่ตรวจสอบอาคารประตูระบายน้ำ เครื่องจักรเครื่องมือ และการบริหารจัดการน้ำ เนื่องจากศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือได้คาดการณ์ว่าจะมีพายุเข้ามาในพื้นที่ภาคเหนือ จำนวน 2 ลูก ตั้งแต่เดือนสิงหาคม – ตุลาคม จะทำให้ฝนตกหนักในพื้นที่ ประกอบกับประชาชนในพื้นที่ตำบลป่าแดด และท่าวังตาลมีความกังวลว่าจะเกิดน้ำท่วมบ้านเรือนราษฎร เหมือนกับปี 65 ที่มีพายุโนรู เข้ามาในพื้นที่ฃ
นายชนม์ฐพัฒน์ เครือศรี หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า ประตูระบายน้ำป่าแดด เป็นประตูระบายน้ำในแม่น้ำปิงที่สำคัญ 1 ใน 9 แห่ง ตาม 10 มาตรการรองรับน้ำในพื้นที่ตัวเมืองเชียงใหม่ การบริหารจัดการน้ำของโครงการชลประทานเชียงใหม่ ตาม 10 มาตรการของสำนักงานชลประทานที่ 1 เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 67 ทางผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 มอบหมายให้ รองผู้อำนวยการสำนักฯ ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ ตรวจสอบอาคารชลประทานที่อยู่ในลำน้ำปิงทั้งหมดตั้งแต่ประตูระบายน้ำท่าวัตาล ในตัวเมืองเชียงใหม่ ถึงประตูระบายน้ำแม่สอย ที่เป็นตัวสุดท้าย ตรวจสอบการบริหารจัดการน้ำ เครื่องมือต่างๆ เกือบทั้งหมดพร้อมใช้งาน 100 เปอร์เซ็นต์ แต่มีบางส่วนที่ได้รับงบประมาณและอยู่ระหว่างการซ่อมแซม การกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำและการกำจัดวัชพืช ทางโครงการชลประทานเชียงใหม่ได้ดำเนินการที่ด้านหน้าประตูระบายน้ำท่าวังตาลไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 บางส่วนที่มีวัชพืชลอยมาก็ใช้แรงคนทำการเก็บต่อเนื่อง ปัจจุบันประตูท่าวังตาลมีความพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์ด้านการบริหารจัดการน้ำ
การกำจัดวัชพืชในพื้นที่อื่นๆ ทางโครงการชลประทานเชียงใหม่ ได้ดำเนินการจัดเก็บวัชพืชไปหมดแล้ว โดยใช้งบประมาณเป็นค่าน้ำมันในการดำเนินการ สำหรับประตูระบายน้ำท่าวังตาล มีหัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 8 เชียงใหม่ พร้อมเจ้าหน้าที่ทำการเฝ้าระวังเรื่องของสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์น้ำ ตั้งแต่ต้นน้ำใน อ.เชียงดาว จุดวัด P.20 มาถึงจุดวัด P.1 สะพานนวรัฐ ตัวเมืองเชียงใหม่ ระยะทาง 100 กว่ากิโลเมตร การเดินทางของน้ำตั้งแต่ต้นน้ำถึงตัวเมืองเชียงใหม่ ใช้เวลากว่า 1 วัน จึงมีเวลารองรับน้ำและแจ้งเตือนภายใน 24 ชั่วโมง และมีการระบายน้ำบางส่วนเพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับน้ำที่จะมาถึง ซึ่งทางศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือได้มีการแจ้งเตือนในไลน์กลุ่มของผู้บริหารจังหวัดเชียงใหม่ ให้เฝ้าระวังเพราะจะมีสภาวะฝนตกหนัก และมีการติดตามปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ตอนบนตั้งแต่อำเภอเชียงดาว แม่แตง เขื่อนแม่งัด ลำน้ำแม่ริมที่เป็นลำน้ำสาขาของลำน้ำปิง มีการติดตามอย่างต่อเนื่อง
สำหรับราษฎรในเขตพื้นที่ตำบลป่าแดด และท่าวังตาล มีความเป็นห่วงว่าจะเกิดน้ำท่วมอีกหรือไม่เหมือนในปี 2565 ซึ่งในปีนั้นมีพายุ “โนรู” พัดผ่านเชียงใหม่ ทางสำนักงานชลประทานที่ 1 ได้เก็บสถิติไว้ ปริมาณน้ำไหลผ่านลำน้ำปิง ในวันที 3 – 4 ต.ค. 65 ซึ่งมีระดับสูงเกินกว่าตลิ่งประมาณ 1 เมตร โดยปริมาณน้ำที่วัดได้ 574 ลบ.ม.ต่อวินาที ปริมาณน้ำมากกว่าศักยภาพของลำน้ำปิงที่รองรับได้ถึง 74 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้น้ำบางส่วนไหลเอ่อล้นพนังกั้นน้ำปิงในจุดที่เป็นฟันหลอต่างๆ ปัจจุบันทางโยธาธิการและผังเมืองได้จัดทำพนังกั้นน้ำไปบางส่วนแล้ว แต่ยังมีจุดที่ยังวิกฤติอยู่ ในช่วงที่เกิดพายุโนรู ทางจังหวัดเชียงใหม่ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ปภ.เชียงใหม่, สำนักงานชลประทานที่ 1, เทศบาลตำบลป่าแดด, เทศบาลตำบลท่าวังตาล แจ้งเตือนให้กับประชาชนทราบ แล้วมีการวางกระสอบทราย ซึ่งหลังจากวันที่ 4 ต.ค. 65 เมื่อพายุโนรูผ่านไปแล้วแต่ยัมีน้ำท่วมขังที่บ้านเรือนของราษฎรก็มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำช่วยเหลือในหลายๆ จุด ในส่วนของประตูระบายน้ำท่าวังตาลก็มีการยกประตูระบายน้ำขึ้นทั้งหมด 6 บาน น้ำที่มาจากพายุโนรูเกินศักยภาพของลำน้ำปิง ประกอบกับบริเวณด้านท้ายประตูระบายน้ำมีระดับตลิ่งที่ต่ำกว่าด้านหน้า และเส้นทางน้ำคับแคบ ทางโครงการชลประทานเชียงใหม่ ก็มีแผนในการปรับปรุงยกระดับตลิ่งขึ้นมาประมาณ 1.50 เมตร ป้องกันแนวตลิ่งให้สูงขึ้น
นอกจากด้านท้าย ปตร.ท่าวังตาล ในช่วงด้านหน้ายังมีบางจุดที่เป็นฟันหลอ ยังไม่ได้มีการปรับปรุงพนังกั้นน้ำ บางส่วนก็จะได้ใช้กระสอบทรายและแผ่นไม้เสริมพนัง บางส่วนทำการปิด ส่วนด้านท้ายน้ำที่มีระตลิ่งต่ำ ทางโครงการชลประทานเชียงใหม่ก็ได้ขอเสนองบประมาณในการปรับปรุงระดับพนังให้สูงขึ้นเท่ากับระดับพนังด้านหน้า ก็จะต้องยกระดับขึ้นมาประมาณ 1.50 เมตร อยู่ในระหว่างการขอสนับสนุนงบประมาณ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จก็จะสามารถป้องกันน้ำที่จะเอ่อล้นเข้าไปท่วมบ้านเรือนของราษฎรในพื้นที่ได้ นอกจากนี้ก็มีการเตรียมกระสอบทรายไว้บางส่วนแล้ว เพื่อจัดทำเป็นทำนบชั่วคราว ไม่ต่ำกว่า 2,000 ใบ และจะมีการประสานเทศบาลในแต่ละพื้นที่ เพื่อขอสนับสนุนในบางส่วนเพิ่มเติม และแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เรียบร้อยแล้ว หากเกิดสถานการณ์
สำหรับพื้นที่ที่อยู่ในการควบคุมของประตูระบายน้ำท่าวังตาล มีทั้งหมด 44,000 ไร่ ด้านหน้าเหนือ ปตร. ขึ้นไป มีฝายในลำน้ำปิง 3 แห่ง ได้แก่ ฝายพญาคำ ฝายหนองผึ้ง และท่าวังตาล แต่ละฝายจะมีระบบส่งน้ำและระบายน้ำ ทั้งหมดนี้น้ำบางส่วนในปี 65 ที่เกิดพายุโนรู จะเห็นว่าน้ำจะเอ่อล้นในจุดที่ต่ำที่เป็นฟันหลอเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชน ตอนนี้ได้สรุปบทเรียนและเสริมพนังกั้นน้ำปิงขึ้น เนื่องจากไม่สามารถขยายความกว้างของลำน้ำปิงได้ ซึ่งด้านท้ายประตูระบายน้ำท่าวังตาลมีเส้นทางน้ำคับแคบ บางช่วงมีความกว้างเพียง 65 – 70 เมตร ทำให้น้ำเท้อและหลากล้นในจุดตลิ่งที่ต่ำ และก็มีการปรับปรุงลำเหมืองเพิ่มเติม และเมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำหลากก็จะประสานไปยังจังหวัดลำพูน ที่เทศบาลตำบลอุโมงค์ ที่เป็นปลายน้ำ ให้มีการกำจัดวัชพืช สิ่งกีดขวางทางน้ำ และเปิดประตูระบายน้ำ เพื่อให้น้ำทั้งหมดไหลสู่แม่น้ำกวง
โครงการชลประทานเชียงใหม่ และกรมชลประทาน ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีการติดตามสถานการณ์น้ำเป็นประจำทุกวัน สภาพอากาศ พายุ ปริมาณน้ำฝน น้ำท่าในลำน้ำปิง เมื่อเกิดเหตุการณ์ก็จะแจ้งไปยังเลขานุการคณะทำงานฯ ของจังหวัดเชียงใหม่ คือ ปภ.เชียงใหม่ ในส่วนของจังหวัดมีการบูรณาการกันอย่างใกล้ชิด ขอให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ ขอให้มีความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของกรมชลประทานและจังหวัดเชียงใหม่