วันอาทิตย์, 8 กันยายน 2567

“ดร.สุกฤษฏิ์” ชี้กรกฎาคมฝนอาจทิ้งช่วง ท้ายฤดูฝนชุก ลานีญ่าเริ่มสิงหาลากยาวถึงต้นปี 68

ผอ.ศูนย์อุตุภาคเหนือชี้ กรกฎาคมฝนอาจทิ้งช่วง ปลายฤดูฝนปริมาณฝนค่อนข้างดี สูงกว่าค่าปกติ 5% พายุหมุนเขตร้อนมีโอกาสเข้าไทย 1-2 ลูก สิงหาคมเข้าสู่ลานีญ่าลากยาวไปถึงต้นปี 2568 เชื่อน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคเพื่อการเกษตรไม่ขาดแคลน

ดร.สุกฤษฎิ์ เกิดแสง ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ เปิดเผยว่า ช่วงกรกฎาคมของทุกปีอาจมีโอกาสฝนทิ้งช่วง หรือฝนไม่ติดต่อกันหลายวันได้ ในช่วงฤดูฝน แต่จะเป็นระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตามจากดูค่าต่างๆ แล้ว คาดว่าฝนในปีนี้อยู่ในปริมาณที่ดีมากชัดเจนเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ฝนค่อนข้างตกกระจายตัวได้ดี และตกในปริมาณที่มากพอสมควร

“หากดูสถานการณ์เอลนีโญ ลานีญ่า ที่มีการติดตามสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่อง ช่วงนี้จะเป็นสถานการณ์ช่วงปลายของเอลณีโย คาดการณ์ว่าเดือนกรกฎาคมจะเข้าสู่สถานการณ์ที่เป็นกลาง จะอยู่ในสถานการณ์เป็นกลางราว 2 เดือน แล้วจะปรับเข้าสู่สถานการณ์ลานีญ่า หากมาเทียบความสอดคล้องกับลักษณะภูมิอากาศปกติช่วงเดือนสิงหาคมจะเป็นช่วงที่ร่องมรสุมจะเคลื่อนต่ำลงมาจากประเทศจีนมาพาดผ่านภาคเหนือ ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้ว่าปีนี้ในช่วงปลายฤดูฝนปริมาณฝนจะค่อนข้างดี คาดว่าปริมาณฝนจะสูงกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 5” ผอ.ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ กล่าว

ดร.สุกฤษฎิ์ เกิดแสง กล่าวอีกว่า สถานการณ์ลานีญ่าน่าจะเริ่มในช่วงเดือนสิงหาคม ดูจากแบบจำลองต่างๆ สถานการณ์ลานีญ่าน่าจะครอบคลุมระยะเวลาไปถึงต้นปี 2568 ซึ่งจะส่งผลให้สถานการณ์ฝนในช่วงปลายฤดูจะมีปริมาณที่มาก ซึ่งสถานการณ์เอลนีโญ ลานีญา จะมีการวิเคราะห์เป็นประจำทุกเดือน ซึ่งจะมีการอัพเดทสถานการณ์ให้ตลอดต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้คาดว่าสถานการณ์ลานีญ่าจะไม่มีความรุนแรงมากมายนัก แต่จะสะท้อนให้เห็นว่าน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรจะไม่มีสถานการณ์ที่ขาดแคลนเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ต่อคำถามที่ว่า สถานการณ์ลานีญ่าจะมีระยะเวลาครอบคลุมไปถึงแล้ง 2568 หรือช่วงไฟป่าหมอกควันปี 2568 หรือไม่ ดร.สุกฤษฎิ์ เกิดแสง กล่าวว่า ขณะนี้เท่าที่ข้อมูลที่มีสถานการณ์ลานีญ่าจะยาวไปถึงปลายปีและอาจจะครอบคลุมไปถึงต้นปี 68 หลังจากนั้นจะต้องมาอัพเดทสถานการณ์กันอีกครั้ง

“สำหรับฤดูฝนปีนี้สถานการณ์โดยรวมปริมาณฝนทั้งฤดูฝนจะอยู่ในระดับใกล้เคียงและไม่เกินค่าปกติ แต่เป็นช่วงท้ายฤดูฝนก็อาจจะค่าปกติเล็กน้อยราว 5% สำหรับพายุหมุนเขตร้อนที่อาจจะเข้ามาเติมเต็มให้กับแหล่งน้ำต่างๆ ปีนี้กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าจะมีพายุ 1-2 ลูก” ดร.สุกฤษฎิ์ฯ กล่าวในที่สุด

ทั้งนี้ศูนย์อุตุนิยมวิทยาคาดหมายลักษณะอากาศเดือน กรกฎาคม 2567 ไว้ว่า ระยะครึ่งแรกของเดือน มักจะมีฝนทิ้งช่วงต่อเนื่องจากปลายเดือนมิถุนายน เนื่องจากร่องความกดอากาศต่ำยังคงพาดผ่านอยู่บริเวณประเทศจีนตอนใต้และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยส่วนมากมีกำลังอ่อน ทำให้หลายพื้นที่มีฝนตกน้อยหรือไม่มีฝนตกเลยติดต่อกันหลายวัน ส่วนระยะครึ่งหลังของเดือนจะมีฝนตกชุกมากขึ้น จากร่องความกดอากาศต่ำจะเลื่อนกลับลงมาพาดผ่านประเทศไทยตอนบนอีกครั้ง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยจะมีกำลังแรงขึ้นเป็นระยะ ๆ และอาจมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนที่เข้ามาใกล้หรือเข้าสู่ประเทศไทยได้ตลอดแนวด้านตะวันออกของประเทศ เดือน ก.ค. นี้ คาดว่าปริมาณฝนรวมจะต่ำกว่าค่าปกติร้อยละ 10 โดยมีปริมาณฝนรวม(เฉลี่ย) 150-190 มิลลิเมตร (ค่าปกติ 189.6มิลลิเมตร) และอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่าค่าปกติประมาณ 0.5-1.0 องศาเซลเซียส