วันศุกร์, 22 พฤศจิกายน 2567

ชลประทาน ทุ่ม 5.7 พันล้าน สร้าง 11 แหล่งกักน้ำ พื้นที่ ชป.1 “ดร.สุดชาย” ชี้อ่างต้องสร้างในอุทยานทำการพัฒนาแหล่งเก็บน้ำทำได้ช้า

07 ก.ย. 2023
2467

ชลประทานย้ำ “น้ำอุปโภคบริโภคคือ ปัจจัยสำคัญของเมืองเชียงใหม่” เขื่อนแม่งัดฯ เครื่องมือบริหารน้ำสำคัญเพื่อคนเชียงใหม่-ลำพูน ชป.1 เผยแผนสร้างแหล่งเก็บกักน้ำใหม่ทั่วทั้งพื้นที่ เชียงใหม่-ลำพูน-แม่ฮ่องสอน ปี 67-80 รวม 11 แห่ง งบกว่า 5.7 พันล้านบาท “ดร.สุดชาย” ชี้สร้างแหล่งเก็บน้ำค่อนข้างช้าเหตุจากต้องสร้างในเขตป่าอุทยานแทบทั้งสิ้น ต้องวางแผนพัฒนาให้เป็นระบบขนาดใหญ่ทั้งลุ่มน้ำ

วันที่ 5 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ที่สำนักงานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล สำนักงานชลประทานที่ 1 จัดกิจกรรมตามโครงการ “สื่อมวลชนสัญจร การบริหารจัดการน้ำชลประทานเขตพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 1” นำโดย ดร.สุดชาย พรหมมลกาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 พร้อมด้วย ผู้บริหารและคณะสื่อมวลชน ติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนต่อเนื่องฤดูแล้ง 2566/2567 และการบริหารภายใต้ปรากฎการณ์เอลนีโญ โดยมี นายเฉลิมเกียรติ อินทกนก ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ในโครงการฯ ให้การต้อนรับและรายงานสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการ

ดร.สุดชาย พรหมมลกาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 (ผส.ชป.1) กล่าวว่า ชป.1 มีพื้นที่ดูแลคือ ลุ่มน้ำปิงบน ตั้งแต่อำเภอเชียงดาวลงมาแอ่งเชียงใหม่ แม่น้ำลี้ แม่น้ำทาในเขตจังหวัดลำพูน ลุ่มน้ำโขงเหนือแบ่งตั้งแต่อำเภอไชยปราการ-ฝาง-แม่อาย น้ำฝางลงไปยังแม่กกแล้วลงแม่น้ำโขง และลุ่มน้ำปาย-น้ำยวม ไหลลงสาละวิน ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยภาพใหญ่ๆ จะเห็นว่าการพัฒนาแหล่งน้ำจะเกิดขึ้นได้ค่อนข้างช้า เพราะว่าการจะสร้างเขื่อนหรือแหล่งเก็บกักน้ำจะต้องเป็นพื้นที่หุบเขาเท่านั้น พื้นที่ในหุบเขาล้วนแต่อยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ สำหรับพื้นที่ ชป.1 เชียงใหม่-ลำพูน-แม่ฮ่องสอน ในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำได้ให้แนวคิดไว้ว่า ให้วางแผนเป็นลุ่มน้ำ ในลักษณะโครงการขนาดใหญ่ทั้งลุ่มน้ำ

“ในลำพูนได้มีการศึกษาไว้แล้วบางส่วน ลุ่มน้ำทา ลุ่มน้ำลี้ มีปัญหามาก แหล่งเก็บกักไม่มีด้วยพื้นที่ของลำพูนเป็นที่ราบค่อนข้างแบน หาแหล่งที่จะทำเขื่อนทำอ่างได้ค่อนข้างมีน้อย การบริหารจัดการทั้งลุ่มน้ำจะต้องเอาทุกภาคส่วนมาทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะหน่วยงานที่รับผิดชอบพื้นที่ที่ลุ่มน้ำไหลผ่าน อย่างเช่นหน่วยอุทยาน ในลุ่มน้ำของลำพูนการสร้างให้เป็นประตูระบายน้ำน่าจะเหมาะสมกับลักษณะของพื้นที่ หากยังเป็นฝายพอน้ำหลากทีเศษไม้เศษวัชพืชก็จะมากองเต็มหน้าฝาย วางแผนก็ต้องคิดทำทีเดียวทั้งลุ่มใน จะมาทำทีละตัวคิดทีละตัวขอเป็นตัวๆ ก็ขาดความต่อเนื่อง เมื่อได้เป็นโครงใหญ่ทั้งลุ่มน้ำก็ขอใช้พื้นที่กันทีเดียวทั้งโครงการ ในพื้นที่เชียงใหม่ขณะนี้ก็นำโครงการเก่ามาปรับปรุงให้มีหน้าที่ใหม่เพิ่ม อย่างเช่นคลองแม่แตงแต่เดิมทีใช้เพื่อการส่งน้ำก็ต้องช่วยระบายน้ำจากตัวเมืองเชียงใหม่อีกทางด้วย โครงการเก่าถูกนำมาใช้งานด้วยวัตถุประสงค์ใหม่” ผส.ชป.1 กล่าว

“ปัจจัยสำคัญของเมืองเชียงใหม่คือ น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อผลิตน้ำประปา เขื่อนขนาดใหญ่จะเป็นแหล่งน้ำสำคัญสำหรับการผลิตน้ำประปา การประปาไม่มีที่จะหาแหล่งน้ำก็จะมาที่แหล่งน้ำของชลประทาน เพราะเขื่อนขนาดใหญ่ไม่ว่าฝนหรือแล้งก็จะมีน้ำอยู่เสมอ ส่วนอ่างขนาดกลางอาจบริหารได้แค่ปีเดียวคือฝนกับแล้งเท่านั้นเองถ้าฝนไม่เข้าเกณฑ์แล้งจบก็หมดไป ยิ่งอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กก็จะบริหารจัดการได้แค่ปีเดียว ยิ่งตัวที่มีการถ่ายโอนไปให้ท้องถิ่น เมื่อไม่มีน้ำก็จะถูกปล่อยทิ้งร้าง เป็นอันจบไป งานที่สำนักงานชลประทานที่ 1 ทำมาถึงปัจจุบัน อาศัยฝาย อ่าง เครื่องมือต่างๆ ที่มีอยู่ทั้งหมดในการบริหารจัดการน้ำ อย่างน้อยที่สำคัญมาก อ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดฯ ต้องทำหน้าที่เพื่อคนเชียงใหม่และลำพูนไปจนถึงประตูระบายน้ำตัวสุดท้าย ประตูระบายน้ำแม่สอย” ดร.สุดชายฯ กล่าว

ด้าน นายอภิวัฒน์ ภูมไธสง ผู้อำนวยการส่วนจัดสรรน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 1 (ผจบ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้การจัดบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ชป.1 มีการสร้างแหล่งเก็บกักน้ำให้กระจายตัวในทุกลุ่มน้ำย่อยตั้งแต่ต้นน้ำในเขต อ.เชียงดาว จะมีอ่างเก็บน้ำแม่อ้อ ลุ่มน้ำแม่งัดจะมีอ่างเก็บน้ำแม่ตายละ อ่างเก็บน้ำแม่แวน ส่วนลุ่มน้ำแม่วินจะมีอ่างเก็บน้ำตกวังครก ลุ่มน้ำแม่กวงจะมีอ่างเก็บน้ำแม่ลาย ในพื้นที่ อ.แม่ออน ลุ่มน้ำแม่ขานจะมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่คือ อ่างเก็บน้ำแม่ขาน อ่างเก็บน้ำแม่วางอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนในแม่น้ำปิงที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างคือ ฝายสบร้อง ทดแทนฝายหินทิ้งของราษฎรที่มีอยู่เดิม ลุ่มน้ำแม่กลางจะมีอ่างเก็บน้ำแม่หอย อ่างเก็บน้ำแม่ปอน ส่วนตอนใต้ของเชียงใหม่จะมีอ่างเก็บน้ำแม่ฮอด และอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ป่าไผ่

“เหล่านี้เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่จะมีขึ้นในอนาคต ซึ่งแผนที่บรรจุไว้แล้วคือ อ่างเก็บน้ำแม่ปอน ที่ อ.จอมทอง เป็นโครงการพระราชดำริ มีปริมาณความจุ 2 ล้าน ลบ.ม. กำหนดแผนดำเนินการในปี 67-69 ในอำเภอฮอดจะมีอยู่ 2 อ่าง คือ อ่างแม่ฮอด ความจุ 3.3 ล้าน ลบ.ม. ก็จะดำเนินการในปี 67-69 เช่นเดียวกัน ส่วนอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ป่าไผ่ ตั้งอยู่ใน อ.ฮอด เช่นเดียวกัน มีความจุอยู่ 20 ล้าน ลบ.ม. จะมีแผนดำเนินการในปี 68-70 อีกแห่งหนึ่งมีในจังหวัดลำพูนซึ่งจะเป็นโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยจะกา เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเช่นเดียวกัน ความจุ 2 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมีการเปิดโครงการแล้วในปี 2566 นี้ ตามแผนจะดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2568 อีกโครงการในจังหวัดลำพูน คือ โครงการอ่างเก็บน้ำแม่สะป๊วด เป็นโครงการพระราชดำริ ตั้งในอำเภอแม่ทา ความจุ 17.83 ล้าน ลบ.ม. มีแผนดำเนินการในปี 68-72 สำหรับพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน มีโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ต๋อน กั้นห้วยม่วงก่อน เนื่องจากเมื่อปี 2544 เกิดอุทกภัยทำให้อ่างวิบัติ (อ่างแตก) อ่างตั้งเหนือหมู่บ้านสันติชน อำเภอปาย จะเป็นแหล่งน้ำสำคัญของอำเภอปายและยังป้องกันอุทกภัยอีกทางด้วย ท้ายสุดเป็นอ่างเก็บน้ำห้วยแม่แดด เป็นโครงการที่ร้องขอโดยราษฎรจะเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กในอำเภอกัลยาณิวัฒนา ขณะนี้จะเข้าสู่แผนการเตรียมความพร้อมเรื่องแบบเมื่อแล้วเสร็จก็จะตั้งเรื่องของบประมาณก่อสร้าง และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน ความจุ 4.6 แสน ลบ.ม. มีแผนในปี 67-69” นายอภิวัฒน์ฯ กล่าวในที่สุด

ทั้งนี้มีรายงานว่า กรมชลประทาทนมีแผนการสร้างแหล่งเก็บกักน้ำในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานชลประทานที่ 1 จำนวน 11 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่ลาย อ่างเก็บน้ำแม่หอย อ่างเก็บน้ำแม่ปอนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำแม่ซอตอันเนื่องมาจากพระราชตำริ อ่างเก็บน้ำแม่ป่าไผ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำห้วยจะกาอันเนื่องมาจากพระราชตำริ อ่างเก็บน้ำแม่สะป๊วตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำห้วยม่วงก๋อน อ่างเก็บน้ำแม่แตตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำแม่ปางค่าอันเนื่องมาจากพระราชตำริ และอ่างเก็บน้ำแม่ตายละ ซึ่งจะได้ปริมาณน้ำที่ความจุรวม 158.31 ล้าน ลบ.ม. ด้วยวงเงินงบประมาณการก่อสร้าง 5,729 ล้านบาท โดยมีพื้นที่ที่จะได้รับประโยชน์ราว 51,025 ไร่

สำหรับโครงการสำคัญที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในปี 2566 นี้ คือ โครงการอ่างเก็บน้ำแม่นาวง อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ความจุ 10.446 ล้าน ลบ.ม. ผู้ที่ได้รับประโยชน์ 2,000 ครัวเรือน พื้นที่เกษตร 18,000 ไร่ งบประมาณก่อสร้าง 488,374,000 บาท ระยะเวลาโครงการ 4 ปี (พ.ศ. 2564-2567) ขณะนี้มีผลงานก่อสร้างราว 59.411% อีกโครงการเป็นงานหาน้ำสนับสนุนโรงพยาบาลวัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านจันทร์พร้อมระบบส่งน้ำ ต.บ้านจันทร์ อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ ขนาดความจุ 457,222 ลบ.ม. งานแบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะแรกดำเนินการเสร็จแล้ว วงเงินงบประมาณ 29 ล้านกว่าบาท ระยะที่ 2 อยู่ระหว่างก่อสร้าง วงเงินงบประมาณ 39 ล้านกว่าบาท ผลงานการก่อสร้างอยู่ที่ 87.59%