วันศุกร์, 22 พฤศจิกายน 2567

“กลุ่มผู้ใช้น้ำโซน 9 คบ.แม่แตง” โค้งสุดท้ายชิง “กลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำดีเด่น” กรมชลลงพื้นที่ประเมิน ชื่นชมแนวทางบริหารจัดการน้ำ

24 มิ.ย. 2023
6042

“กลุ่มผู้ใช้น้ำโซน 9 คบ.แม่แตง” 1 ใน 4 กลุ่มทั้งประเทศเข้าชิง “กลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำดีเด่น” กรมชลประทานลงพื้นที่ประเมินเฟ้นเข้ม เพื่อเข้ารับรางวัลจากในหลวงรัชกาลที่ 10 พระราชพิธีวันแรกนาฯ 67 รองอธิบดีฯ เผยเริ่มประเมินครั้งแรกปี 2530 กว่า 30 ปี ได้กลุ่มผู้ใช้น้ำที่เข้มแข็ง กรมชลฯ กลายเป็นพี่เลี้ยง เหลืองบไปใช้เพื่อพัฒนาพื้นที่อื่นได้เพิ่มมากขึ้น

ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการคัดเลือกสถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทานดีเด่น ประจำปี พ.ศ.2567 พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจประเมินคัดเลือกสถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทานดีเด่น ประจำปี พ.ศ.2567 ระดับกรม (รอบคัดเลือก) กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานโซน 9 จังหวัดเชียงใหม่ เขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง สำนักงานชลประทานที่ 1 โดยมีคณะกรรมการกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานโซน 9 จังหวัดเชียงใหม่ นำโดย นายพัด ไชยวงค์ ประธานกลุ่มฯ และผู้เกี่ยวข้อง บรรยายการดำเนินการและตอบข้อซักถามจากคณะกรรมการในการตรวจประเมิน

เสร็จสิ้นการรับฟังการนำเสนอของกลุ่มฯ ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้เป็นการคัดเลือกกลุ่มเกษตรกรดีเด่นประจำปี 2567 ซึ่งเริ่มมาแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ในการคัดเลือกระดับโครงการ สำนักชลประทาน จนมาถึงระดับกรม ในระดับกรมได้ให้กลุ่มเกษตรกรทั้ง 17 สำนักงานชลประทานไปนำเสนอที่กรมชลประทาน ซึ่งผลการคัดเลือกได้มา 4 กลุ่มผู้ใช้น้ำที่จะมีการประเมินระดับพื้นที่อย่างวันนี้ กลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานโซน 9 ของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ในโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง สำนักงานชลประทานที่ 1 และอีก 3 กลุ่มคือ กลุ่มในจังหวัดกระบี่ อ่างเก็บน้ำคลองหยา สำนักงานชลประทานที่ 15 กลุ่ม ของสำนักงานชลประทานที่ 17 อยู่ในโครงการปัตตานี จังหวัดยะลา และกลุ่มโครงการบ้านดงน้อย จังหวัดฉะเชิงเทรา ทั้ง 3 กลุ่ม คณะกรรมการก็จะลงพื้นที่ไปประเมินหลังจากนี้ ก็จะประเมินว่ากลุ่มมีการดำเนินการอย่างไร เป็นไปตามเกณฑ์หรือไม่ ก็จะมีการให้คะแนนแล้วจัดลำดับว่าใครจะเป็นที่ 1 โดยกลุ่มที่ได้ลำดับที่ 1 จะได้เข้ารับพระราชทานรางวัลในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในเดือนพฤษภาคม 2567 จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 10

“สำหรับกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานโซน 9 จังหวัดเชียงใหม่ ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง สำนักงานชลประทานที่ 1 คณะกรรมการได้ฟังการนำเสนอของประธานกลุ่มฯ คือ นายพัด ไชยวงค์ ก็ขอชื่นชมในการบริหารจัดการน้ำขององค์กรผู้ใช้น้ำกลุ่มนี้ สิ่งสำคัญคือ กรมชลประทานเองถือว่าเป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง พื้นที่ประมาณ 97,000 ไร่ ในกลุ่มนี้มีพื้นที่ราว 12,000 กว่าไร่ กลุ่มฯ นี้มีการจัดองค์กรที่ชัดเจน มีการบริหารจัดการในกลุ่มที่ดี กลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานโซน 9 ถือเป็น 1 ใน 15 กลุ่มผู้ใช้น้ำที่มีการแบ่งปันน้ำให้แก่ภาคส่วนต่างๆ ได้ใช้ร่วมกันทั้งภาคอุตสาหกรรม การอุปโภคบริโภค และภาดการเกษตร ทั้งในพื้นที่ อ.หางดง และตัวจังหวัดเชียงใหม่ ได้ดี คณะกรรมการได้มีการประเมินผลผลิตจากการที่ได้นำน้ำไปใช้ มีการซักถามจากกรรมการที่มาจากหลายๆ ภาคส่วน คำตอบที่ได้มีความชัดเจนดี” รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าว

“รางวัลที่ได้เกษตรกรจะมีความปราบปลื้มใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากได้รับจากพระหัตถ์จากในหลวงรัชกาลที่ 10 ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ที่ท้องสนามหลวง ซึ่งเป็นพิธีที่สำคัญยิ่งของพี่น้องเกษตรกรไทยมาอย่างยาวนานหลายชั่วคน ซึ่งการคัดเลือกกลุ่มเกษตรกรดีเด่นเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2530 ประมาณ 30 กว่าปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ผมเข้ามารับราชการใหม่ ได้เห็นบทบาท กุศโลบาย ที่กรมชลประทานดำเนินการที่ต้องการจะให้เป็นกลุ่มเกษตรกรตัวอย่างที่จะนำพากลุ่มผู้ใช้น้ำอื่นมาดูงาน เพื่อเป็นการต่อยอดในการบริหารจัดการน้ำ เป็นการสอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่ให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางในการที่จะพัฒนาในด้านต่างๆ การพัฒนาด้านน้ำก็เช่นกันกรมชลประทานก็จะเสริมกำลังให้กับภาคประชาชนในการบริหารจัดการน้ำ ตลอดจนเรื่องของการดูแลทรัพย์สินที่เป็นของประเทศชาติให้เสมือนว่าเป็นทรัพย์สินของพี่น้องเกษตรกรเอง” ดร.ทวีศักดิ์ฯ กล่าว

รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่เป็นตัวชี้วัด โครงการใดหรือกลุ่มใด ที่ได้รับการการคัดเลือกเป็นสถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำนี้ ทางภาครัฐ จากที่เคยเป็นผู้จัดการเป็นผู้ทำเองกลายมาเป็นพี่เลี้ยง ทำให้สามารถไปพัฒนาพื้นที่อื่นเพิ่มได้ ประกอบกับจะเป็นการประหยัดงบประมาณได้เอาไปใช้ในพื้นที่ที่ยังไม่ได้มีการพัฒนา

หลังจากการนำเสนอและคณะกรรมการได้มีการซักถาม โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง สำนักงานชลประทานที่ 1 และกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานโซน 9 จังหวัด ได้นำคณะกรรมการประเมินฯ ลงพื้นที่ดูคลองชลประทานจุดคลองแยกจากคลองซอย 22 ซ้าย ซึ่งเคยมีปัญหาเรื่องการแย่งน้ำกันก่อนหน้าที่จะมีกติกาในการบริหาจัดการน้ำ แบ่งปันน้ำของโซน และเป็นข้อยุติของปัญหาการแย่งน้ำ โดยกฎระเบียบข้อบังคับของกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานแม่แตง โซน 9 ประกอบด้วย 1. สมาชิกต้องจ่ายค่าบริหารจัดการน้ำ 15 บาท ต่อไร่ 2. สมาชิกต้องมีส่วนร่วมในการบำรุงรักษาคูคลองตามที่ตกลงในที่ประชุม 3. การขโมยน้ำในพื้นที่นอกรอบเวรน้ำ จะถูกปรับเวลาการได้น้ำชดเชยให้แก่ผู้ที่ถูกขโมยน้ำตามข้อสรุปในที่ประชุม 4. สมาชิกผู้ใช้น้ำต้องผลัดเวรกันช่วยเหลือคณะทำงานคลองส่งน้ำสายใหญ่และคลองซอย หากไม่สามารถสนับสนุนแรงงานให้ได้ สนับสนุนเป็นงบประมาณ ครั้งละ 200 บาท/ราย 5. กรณีคณะกรรมการเห็นควรให้ทำการสูบน้ำเข้าพื้นที่เพื่อลดการอัดน้ำ เจ้าของที่ดินต้องสนับสนุนน้ำมัน 1 ส่วน คณะกรรมการส่วนกลาง 1 ส่วน ต่อจากนั้นไปชมโรงเพาะเมลอนของ Young Smart Farmer ที่ใช้น้ำในพื้นที่ชลประทานโซน 9