อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เรียก ผอ.ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ และ ผอ.สถานีอุตุฯ 17 จังหวัดภาคเหนือ ถกซักซ้อมการใช้ข้อมูลสนับสนุนแก้ไฟป่า ฝุ่น PM2.5 อธิบดีเผยส่งข้อมูลรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือนให้กรมควบคุมมลพิษใช้วางแผน พร้อมย้ำทุกศูนย์บูรณาการให้ข้อมูลสนับสนุนจังหวัด ชี้การคาดหมายสภาพอากาศระยะสั้นๆ ได้ผลมากกว่า เพราะ Climate Change เป็นตัวแปรสำคัญ
ที่ห้องประชุมโรงแรมฟูรามา เชียงใหม่ ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การประยุกต์ใช้ข้อมูลอุตุนิยมวิทยาเพื่อสนับสนุน การบริหารจัดการปัญหาฝุ่นละอองในอากาศในระดับพื้นที่” และ บรรยายพิเศษในหัวข้อ “การพัฒนางานวิจัยด้านอุตุนิยมวิทยาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สอดคล้องกับ ทิศทางการพัฒนาในระดับสากล” โดยมีผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาจังหวัด ทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมการประชุม
ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยามีภารกิจสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ประเด็นหนึ่งที่เป็นปัญหาอย่างมากในขณะนี้ก็คือ เรื่องฝุ่นละออง ที่ผ่านมาในปีนี้จะเห็นว่าพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัตินี้ จะเป็นเหมือนกันทั่วประเทศโดยเฉพาะประเทศไทยตอนบน เรื่องนี้กรมอุตุนิยมวิทยาให้ความสำคัญ ที่ผ่านมาได้ให้ความร่วมมืออย่างดีกับกรมควบคุมมลพิษ โดยส่งข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาทั้งที่เป็นทิศทางลม ความเร็วลม อุณหภูมิ ปริมาณฝน และการคาดการสภาพอากาศซึ่งเป็นปัจจัยเบื้องต้นให้กรมควบคุมมลพิษใช้วางแผนการบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน
“ที่ผ่านมากรมอุตุนิยมวิทยาได้เข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการต่างๆ ที่บริหารจัดการไฟป่า ฝุ่นควัน จึงเป็นที่มาของการอบรมในวันนี้เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องจะได้นำข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาไปใช้ได้ต่อ โดยเลือกพื้นที่ภาคเหนือเป็นพื้นที่แรก เพราะว่า ภาคเหนือประสบปัญหาฝุ่นควันเป็นอันดับหนึ่ง” อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าว
ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ กล่าวต่อว่า สำหรับการคาดการณ์สภาพอากาศจะมีทั้งรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และรายสามถึงหกเดือน ซึ่งระยะเวลาที่นานกว่านี้จะไม่นำมาใช้แม้ว่าจะคาดการณ์ล่วงหน้านานขนาดนั้นได้ แต่ด้วยสภาวอากาศในปัจจุบันจะเกิดภาวะ Climate Change เป็นปัจจัยที่จะทำให้สภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหันทำให้การนำข้อมูลที่มีการคาดการณ์ยาวนานมาใช้จะไม่ได้ผล เบื้องต้นการคาดการณ์สภาพอากาศรายสัปดาห์ หรือรายเดือน น่าจะนำมาใช้ในการวางแผนได้
การดำเนินการของกรมอุตุนิยมวิทยาในเรื่อง ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาได้ดำเนินการสนับสนุนข้อมูลตรวจวัดสภาพอากาศ เช่น ข้อมูลตรวจอากาศผิวพื้น ณ สถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัดต่างๆ (ความกดอากาศ อุณหภูมิ ลม ความชื้น ฯลฯ) ข้อมูลจากสถานีตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWS) ข้อมูลการตรวจอากาศชั้นบน – วิทยุหยั่งอากาศ ข้อมูลเรดาร์ ดาวเทียม ข้อมูลสถิติและข้อมูลต่างๆ เพื่อการศึกษาและวิเคราะห์สภาพอากาศ ข้อมูลจากแบบจำลองสภาพอากาศ ในรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อการศึกษาและวิเคราะห์สภาพอากาศที่เกี่ยวข้องกับการแพร่กระจายของฝุ่นละออง นอกจากนี้ยังได้พยากรณ์และคาดหมายสภาพอากาศเชิงตัวเลข โดยใช้แบบจำลองสภาพอากาศ เพื่อพยากรณ์ตัวแปรทางอุตุนิยมวิทยา ที่สัมพันธ์กับการสะสมของ PM 2.5 และการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ เช่น ค่าความสูงชั้นบรรยากาศ ดัชนีอากาศเพื่อคุณภาพอากาศ ค่าดัชนีความทรงตัวของอากาศ ทิศทางความเร็วลม อัตราการระบายของลม ซึ่งเป็นการพยากรณ์อากาศแบบเฉพาะเจาะจงพื้นที่ (พิกัด) โดยพยากรณ์อากาศประจำวันและแนวโน้มการสะสมของฝุ่น รายภาค รายจังหวัด พยากรณ์อากาศระยะนาน (รายเดือน ราย 3-6 เดือน รายฤดูกาล) เพื่อการวางแผนบริหารจัดการฝุ่นละอองและผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวของหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยสามารถติดตามการวิเคราะห์ดัชนีอากาศเพื่อคุณภาพอากาศ ได้ทางเว็บไซต์ http://ozone.tmd.go.th/wi_map.htm โดยจากเว็บไซต์นี้ยังสามารถติดตามคาดหมายแนวโน้มการระบายอากาศ และข้อมูลทิศทางและความเร็วลมได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังได้ติดตามข้อมูลจุดความร้อนที่เป็นสาเหตุหลักของ PM2.5 รวมทั้งการคาดหมายสภาวะอากาศและผลกระทบต่อการสะสมของฝุ่น pm 2.5.ในพื้นที่ต่างๆของประเทศไทยในช่วง 7 วันข้างหน้าเป็นรายภาค ซึ่งในบริเวณที่มีจุดความร้อนมักจะมีฝุ่นPM2.5 ถ้ามีฝนตก มีลมพัด ฝุ่นละอองก็จะสะสมในบริเวณนั้นน้อยลง