ว่าด้วยเรื่อง….สารวัตรกำนัน

สองสามเดือนที่ผ่านมารวมไปถึงเมื่อวาน มีคำถามมากมายเกี่ยวกับตำแหน่ง….สารวัตรกำนัน!!!

สารวัตรกำนัน…..อายุเกิน 60 ปี ได้ไหม? กำนันเกษียณ อยู่ต่อได้ไหม?
สารวัตรกำนัน…..รักษาการในหน้าที่กำนัน ได้ด้วยหรือ?!?
สารวัตรกำนัน…..ไม่มีกรอบแห่งคุณสมบัติ จริงหรือ?

เกี่ยวกับ พรบ.ลักษณะปกครองท้องที่ 2457 ผมเคยพูดกับหลายๆ คน แม้กระทั่งพูดในที่ประชุมชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ 17 จังหวัดภาคเหนือ ขณะที่ผมยังไปช่วยงาน สมาคมฯ จังหวัด แล้วมีโอกาสได้เข้าร่วมประชุม ว่า…

กฎหมายปกครองท้องที่ที่ใช้อยู่ทุกวันนี้น่ะ…มันพิการ!!

กฎหมายไม่สมบูรณ์ ไม่ทันสมัย ที่สำคัญ…ขัดแย้งกับกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
กลายเป็นว่า ในหลายๆ เรื่องมากมายที่จะปฏิบัติ…ต้องตีความ!!

ตีความมากไม่มากถึงขึ้น กรมการปกครอง ต้องออกคู่มือมาเล่ม หนากว่า 500 หน้า เพื่อรวบรวมหนังสือสั่งการและตอบข้อหารือ เอาไว้เป็น “คู่มือปฏิบัติงานกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน” ออกเมื่อปี 2561…ซึ่งน่าจะมีอีกหลายเล่ม มีที่ผมเล่มเดีย ฮา

ในเล่มมีเรื่องตอบข้อหารือและหนังสือเวียงให้ทุกจังหวัดทั่วประเทศถือปฏิบัติเกี่ยวกับ “การตั้งสารวัตรกำนัน” ไว้ด้วย

อย่างที่ผมว่าไว้นั้นล่ะ ก็กฎหมายลักษณะปกครองท้องที่มีพิกลพิการ เรื่อง “สารวัตรกำนัน” ก็เป็นเรื่องหนึ่งในความพิกลพิการของกฎหมาย เพราะว่า ตัวบททั้ง 132 มาตรา ของ พรบ.ลักษณะปกครองท้องที่ 2457 มีเพียงบทบัญญัติมาตราเดียวที่เขียนเกี่ยวกับสารวัตรกำนัน

บัญญัติไว้ใน มาตรา ๔๔ บัญญัติไว้ว่า….. ในตำบล ๑ ให้มีสารวัตรสำหรับเป็นผู้ช่วยและรับใช้สอยของกำนัน ๒ คน ผู้ที่จะเป็นสารวัตรนี้แล้วแต่กำนันจะขอร้องให้ผู้ใดเป็น แต่ต้องได้รับความเห็นชอบของผู้ว่าราชการเมืองด้วยจึงเป็นได้ และกำนันมีอำนาจเปลี่ยนสารวัตรได้

มีแค่นี้จริงๆ กลายเป็นว่า สารวัตรกำนัน นี่ ยิ่งใหญ่จริงๆ ไร้ข้อจำกัดด้วยประการทั้งปวง เพราะกฎหมายเปิดทางไว้ให้ ส่งผลให้เกิดการตีความกันไปต่างๆ นานา พาลเอาบางคนคิดว่า…

ข้ามาจาก…ผู้ว่าราชการเมือง 555

เห็นไหมล่ะ กฎหมายมันพิกลพิการจริง ที่สุด กรมการปกครอง ก็ต้องออกมาให้ความเห็นไว้ เพื่อให้ทุกจังหวัดนำไปปฏิบัติ ประเด็นแรกก็ต้องมาดูที่เจตนารมณ์ของกฎหมายเป็นสำคัญก่อน กฎหมายต้องการให้ “สารวัตรกำนัน” เป็นเช่นไร ที่จริงตัวบทระบุชัด แต่คนต่างหากที่ไปแปลความให้มันดูยิ่งใหญ่ เกือบจะแตะไม่ได้ เจตนารมณ์ของกฎหมายก็แค่ว่า

ให้ “กำนัน” ตั้ง “สารวัตรกำนัน” ได้ 2 คน ไว้มาช่วยงาน “กำนัน”….. “กำนัน” จบ หนังเลิก “สารวัตรกำนัน” ก็เลิก

มันก็แค่นี้จริงๆ ไม่เข้าใจจะไปตีความให้มันมากความ…ยิ่งตีความมาก ยิ่งจะทำให้เห็น ความอยาก!!! ในตัวตนคนที่ตีความมากยิ่งๆ ขึ้นไปเท่านั้น ซึ่งที่ผมเข้าใจว่าตัวบทกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนยิ่งแล้ว และเป็นอย่างที่ผมว่าไว้ เด่นชัดยิ่งขึ้นเมื่อกรมการปกครองมีหนังสือตอบข้อหารือผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เรื่องหารือการแต่งตั้งสารวัตรกำนัน เป็นหนังสือ ที่ มท 0309/19261 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2521 ระบุว่า

“…..การแต่งตั้งสารวัตรกำนันขึ้นนั้น วัตถุประสงค์ก็เพื่อที่จะให้ช่วยเหลือกำนันปฏิบัติงาน เพราะกำนันเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบงานทั้งหลายทุกกระทรวง ทบวง กรม ภายในตำบลให้เป็นไปด้วยความรียบร้อย ดังนั้นสารวัตรกำนันซึ่งเป็นผู้ช่วยของกำนัน จึงต้องมีภาระหน้าที่มากตามกำนันไปด้วย…..”

ตอกฝากโลงไปซะเลยกับความเข้าใจของผมเกี่ยวกับเรื่อง สารวัตรกำนัน…..

“สารวัตรกำนัน” เป็น “อำนาจเฉพาะตน” ของ “กำนัน” !!!
เพราะฉะนั้นการสิ้นสุดความเป็นกำนันจะด้วยเหตุใด ย่อมสิ้นสุดความเป็นสารวัตรกำนันที่กำนันคนนั้นตั้งโดยปริยาย คิดง่ายๆ แบบบ้านๆ เมื่อไม่มีกำนันคนที่มามอบหมายงานให้ปฏิบัติ ก็ไม่มีงานที่จะทำ ย่อมที่ความเป็นสารวัตรกำนันจะสิ้นสุดไปพร้อมกับความเป็นกำนันนั้นเอง ละถามว่ากรมการอำเภอจะเรียกใช้ได้หรือไม่ กฎหมายลักษณะปกครองท้องที่บัญญัติไว้ชัดเจนว่าเป็น “อำนาจเฉพาะตน” ของ “กำนัน” บุคคลอื่นย่อมไม่อาจเรียกใช้สั่งการได้ ทั้งตัวบททั้งเจตนารมณ์ของกฎหมายเขียนไว้ชัด กรมการปกครองเองก็มีหนังสือตอบไว้ชัดเจนแล้ว

ถึงแม้ว่าเรื่องของสารวัตรกำนัน มีบัญญัติไว้ในกฎหมายลักษณะปกครองทองที่บัญญัติเรื่องสารวัตรกำนันไว้เพียงแค่มาตราเดียว ก็ใช่ว่าจะไม่มีแนวทางการจะตั้ง จะออกจากตำแหน่งสารวัตรกำนัน ซะทีเดียว กรมการปกครอง มีหนังสือตอบข้อหารือและแจ้งเวียนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ โดยกำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับการพิจารณาตั้งสารวัตรกำนันไว้เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ เป็นหนังสือ ที่ มท 0409/ว232 ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2526 ระบุว่า….

“…..กระทรวงมหาดไทย เห็นว่า ในการคัดเลือกหรือให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งบุคคลเป็นสารวัตรกำนัน หากกำนันคัดเลือกและจังหวัดได้พิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยนำคุณสมบัติและไม่อยู่ในลักษะต้องห้ามของผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านมาประกอบพิจารณาด้วยก็จะสะดวกในการคัดเลือกการให้ความเห็นชอบและได้บุคคลที่มีความเหมาะสมเป็นสารวัตรกำนัน…..”

หนังสือฉบับนี้ไม่ได้ออกมาเพียงแค่แนะนำเท่านั้น แต่ได้มีการนำไปใช้ปฏิบัติจริง ซึ่งกรมการปกครองได้ยกเป็นตัวอย่างไว้ในคู่มือปฏิบัติงานกำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ เล่มที่ผมว่าไว้แต่ต้นนั่นล่ะ หนังสือ ที่ มท 0301.2/8745 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 เป็นหนังสือที่กรมการปกครองตอบข้อหารือผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ด้วยประเด็นที่มีกำนันได้เสนอชื่อบุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าด้วยการกระทำผิดกฎหมายป่าไม้และกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามการเป็นผู้ใหญ่บ้านให้เป็นสารวัตรกำนันซึ่งจังหวัดไม่เห็นชอบแต่งตั้ง ซึ่ง กรม ปค. ได้อ้างถึงหนังสือเวียน ที่ มท 0409/ว232 ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2526 ก็เท่ากับว่า กรมการปกครอง ได้สำทับชัดว่า….

ให้นำ คุณสมบัติและไม่อยู่ในลักษะต้องห้ามของผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน มาใช้กับ สารวัตรกำนัน ด้วย

คร่าวๆ กับ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 12 ของกฎหมายลักษณะปกครองท้องที่ มีด้วยกัน 15 อนุมาตรา อาทิ มีสัญชาติไทยโดยการเกิด มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่อย่างน้อย 2 ปี เป็นต้น และเมื่อผู้ใหญ่บ้านต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุ 60 ปี ย่อมที่ต้องมาใช้กับตำแหน่งสารวัตรกำนันด้วย เพราะเป็นคุณสมบัติหนึ่งของผู้ใหญ่บ้านที่จะมีอายุเกินกว่า 60 ปี ไม่ได้

สรุปแบบบ้านๆ แบบฉบับของ “วายุ” ได้ว่า
สารวัตรกำนัน เป็น “อำนาจเฉพาะตน” ของ กำนัน คนที่เสนอตั้ง มีเฉพาะกำนันคนที่ตั้ง เท่านั้น!!! มีสิทธิ์เรียกใช้ สั่งการ มอบหมายงานให้ปฏิบัติได้
สารวัตรกำนัน ย่อมสิ้นสุดความเป็นสารวัตรกำนัน ไปตาม กำนัน ที่สิ้นสุดความเป็นกำนันด้วยไม่มีคนมอบงานให้ เท่ากับสิ้นสุดภารกิจโดยปริยาย
สารวัตรกำนัน ต้องมี คุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดุจเดียวกับ ผู้ใหญ่บ้าน
ละคงไม่ต้องตอบในประเด็นที่ว่า สารวัตรกำนัน รักษาการ กำนัน ได้หรือไม่ คำตอบมันชัดแล้วว่า….
สารวัตรกำนัน เป็นเพียง ผู้ช่วยและรับใช้สอยของกำนัน เท่านั้น!!! ตามที่กฎหมายบัญญัติ

 

วายุ
7/12/2565

(ขอบคุณภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต)