อ่างเก็บน้ำห้วยจะกา อ.ลี้ คืบ ใช้งบกว่า 410 ล้าน รมว.เกษตรฯ รับปากชาวบ้านต้องสร้างเสร็จในปี 2568 ภายในสิ้นปี 65 จ่ายค่าเวนคืนครบทุกราย
วันที่ 18 มี.ค. 65 เวลา 13.30 น. ที่บริเวณก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยจะกา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.แม่ลาน อ.ลี้ จ.ลำพูน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างตามโครงการฯ และพบปะชาวบ้านตำบลแม่ลาน โดยมี นายภาษเดช หงส์ลดารมภ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง กรมชลประทาน (รทส.) พร้อมด้วย ผู้บริหารสำนักงานและโครงการชลประทานในพื้นที่ เกษตรกร และประชาชนในพื้นที่ ให้การต้อนรับและร่วมรับฟังการนำเสนอความคืบหน้าโครงการฯ
นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน (รทส.) กล่าวว่า ความเป็นมาของ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยจะกา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2537 เกือบๆ 30 ปีที่ผ่านมา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรที่ประสบความแห้งแล้งที่บ้านกองวะ หมู่ที่ 7 ต.โป่งทุ่ง อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ ได้ทรงพระราชดำริให้กรมชลประทาน จัดสร้างแหล่งเก็บกักน้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภคสำหรับราษฎรในพื้นที่บ้านกองวะ และหมู่บ้านใกล้เคียงก็คือ ตำบลแม่ลาน แหงนี้ เนื่องจากราษฎรในพื้นที่เกิดปัญหาขาดแคลนน้าในพื้นที่การเกษตร
“หากพิจารณาจากจุดก่อสร้างพบว่าบริเวณต้นน้ำที่จะก่อสร้างตัวอ่างเก็บน้ำจะมีแม่น้ำสาขาค่อนข้างมาก โดยสภาพการใช้น้ำของเกษตรกรจะอาศัยสระเก็บน้ำเล็กๆ เพราะในพื้นที่ไม่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ สระน้ำที่มีอยู่ใช้น้ำได้ราว 2-3 เดือน จากนั้นก็จะแล้ง ก็จะทำให้ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ซึ่งประชากรของตำบลแม่ลานกว่า 90 % ประกอบอาชีพทำการเกษตร โดยปลูกลำไยเป็นหลัก” รทส. กล่าว
นายชูชาติฯ กล่าวต่อว่า ลักษณะโครงการฯ ซึ่งกรมชลประทานได้เข้ามาดำเนินการสำรวจ ออกแบบแล้วเสร็จพร้อมที่จะทำการก่อสร้างแล้ว โดยตัวที่เป็นทำนบดินที่จะปิดระหว่างช่องเขาสูง 17.50 เมตร ยาว 465.00 เมตร ซึ่งจะเก็บน้ำได้ 2.67 ล้าน ลบ.ม. เทียบกับน้ำที่ไหลลงอ่างเฉลี่ยทั้งปี 8.40 ล้าน ลบ.ม. สัดส่วนในการกักเก็บน้ำอยู่ที่ 32% ประมาณหนึ่งในสามของประมาณน้ำไหลเข้าอ่าง
รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดหาที่ดินในพื้นที่ก่อสร้างทั้งหมดประมาณ 350 ไร่ โดยเป็นที่ดินของราษฎรที่มีเอกสารสิทธิ์ 100 ไร่ ที่เหลือจะเป็นพื้นที่ป่าถาวรตาม มติ ครม. 2484 จำนวน 250 ไร่ ซึ่งพื้นที่นี้ทางกรมชลประทานได้ยื่นขออนุญาตแล้วเมื่อวันที่ 9 ก.ค. 64 โดยป่าตามมติ ครม. 2484 เป็นพื้นที่ที่ได้รับกรขอผ่อนผันสามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ที่ขออนุญาตไปพลางก่อนเท่าที่จำเป็นได้ ตามมติ ครม. 28 กันยายน 2536 โดยไม่ต้องรอให้กระบวนการขออนุญาตดำเนินการจบตามขั้นตอน
“ด้านการมีส่วนร่วมกับประชาชน ได้มีการประชุมและให้ราษฎรผู้ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียทรัพย์สินเข้ายื่นเรื่องขอรังวัดที่ดิน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 100 ราย เข้ามายื่นเรื่อง คิดเป็นร้อยละ 90 ของผู้ที่ได้ผลกระทบ ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการให้เจ้าหน้าที่ที่ดินมาทำการรังวัดและจัดตั้งคณะกรรมการกำหนดชดเชยทรัพย์สิน จัดทำบัญชีจ่ายค่าชดเชย” รทส. กล่าว
นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีฯ กล่าวอีกว่า ส่วนแผนงานงบประมาณตามโครงการ กำหนดแผนที่จะดำเนินการทั้งหมด 3 ปี ใช้วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 410 ล้านบาท โดยในปีที่ 1 กำหนดใช้งบประมาณตามแผนไว้ 138.5 ล้านบาท ปีที่ 2 วางแผนก่อสร้างใช้งบประมาณ 120 ล้านบาท และปีที่ 3 ใช้งบประมาณตามแผนการก่อสร้าง 151.5 ล้านบาท
ด้าน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมชลประทานซึ่งนำทีมโดยรองอธิบดีฯ ลงพื้นที่มาในวันนี้ไม่ใช่มาเพื่อหาเสียง แต่มาเพื่อแก้ไขปัญหาเพื่อประชาชนในพื้นที่ เบื้องต้นขอยืนยันว่า โครงการนี้เกิดขึ้น 100% ปัญหาที่ประชาชนได้รับผลกระทบโดยเฉพาะเรื่องที่ดิน ในปีงบประมาณ 2565 จะสั่งการให้มีการจ่ายค่าทดแทนค่าเสียหายที่ดินให้แล้วเสร็จในปี 2565 โดยโครงการห้วยจะกาฯ จะเริ่มต้นโครงการในปีงบประมาณ 2566 อย่างแน่นอน ระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี เพราะฉะนั้นการก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2568 ในปี 2569 ได้ใช้น้ำ
“ปริมาณน้ำกักเก็บ 2.67 ล้าน ลบ.ม. นั่นเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่อ่างเก็บน้ำนี้จะกักเก็บได้จากน้ำที่มีราว 8.40 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้นโครงการต่อเนื่องต่อจากนี้จะต้องเป็นโครงการที่จะทำให้ประชาชนในพื้นที่ใช้น้ำได้มากกว่า 2.67 ล้าน ลบ.ม. กรมชลประทาทก็จะเข้ามาดูแลระบบส่งน้ำ อาจมีระบบท่อส่งน้ำเข้ามาร่วมเพื่อขยายพื้นที่ชลประทานออกไปให้มากกว่าเดิม กรมพัฒนาที่ดินก็จะเข้ามาดูพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการจะสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ซึ่งนั่นหมายถึงจะได้ใช้น้ำมากกว่าน้ำที่กักเก็บไว้ 2.67 ล้าน ลบ.ม.” นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าว