วันเสาร์, 23 พฤศจิกายน 2567

รอบเวรที่ 5 ชป.1 เคาะลดโรยน้ำจากเขื่อนแม่งัดฯ แค่ 5.2 แสน ลบ.ม.

03 ก.พ. 2022
913

รอบเวรที่ 5 ชป.1 เคาะลดโรยน้ำจากเขื่อนแม่งัดฯ แค่ 5.2 แสน ลบ.ม. ผลพวงจากฝนกลางมกราคม-ปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงมีพอ

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ สำนักงานชลประทานที่ 1 อ.เมืองเชียงใหม่ นายอภิวัฒน์ ภูมิไธสง ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 1 (ผจบ.ชป.1) เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและพิจารณาการระบายน้ำจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เพื่อสนับสนุนพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำปิงซึ่งเป็นพื้นที่ทั้งจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน ในฤดูแล้ง ปี 2564/65 โดยมี นายเฉลิมเกียรติ อินทกนก ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำ หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษา ผู้ควบคุมอาคารชลประทาน ในแต่ละประตูระบายน้ำและฝายตลอดลำน้ำปิง ตั้งแต่ประตูระบายน้ำท่าวังตาล อ.เมืองเชียงใหม่ ไปจนถึงประตูระบายน้ำแม่สอบ อ.จอมทอง ร่วมประชุม

เสร็จสิ้นการประชุม นายอภิวัฒน์ ภูมิไธสง ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 1 กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมเพื่อติดตามการระบายน้ำตามแผนการระบายน้ำของเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลให้กับพื้นที่ฤดูแล้งในปี 2564/65 ซึ่งมีการประชุมในวันพุธทุกสัปดาห์ตั้งแต่เริ่มมีการระบายน้ำรอบเวรที่ 1 ซึ่งระบายน้ำเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 65 สำหรับวันนี้เป็นการประชุมเพื่อติดตามผลการระบายน้ำรอบเวรที่ 4 และการจะส่งน้ำในรอบเวรที่ 5

“จากที่ประชุมทราบว่า ปัจจุบันเขื่อนขนาดใหญ่ ทั้งเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลและเขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีการใช้น้ำเป็นไปตามแผน ส่วนสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางก็อยู่ในเกณฑ์ดี มีน้ำเพียงพอสำหรับการจะบริหารจัดการในช่วงฤดูแล้งนี้ไปจนสิ้นสุดฤดูกาล สาระสำคัญอีกประการคือ การพิจารณาการระบายน้ำจากเขื่อนแม่งัดฯ ในรอบเวรที่ 5 ซึ่งจะเริ่มระบายน้ำในวันที่ 4 ก.พ. 65 จากการติดตามสถานการณ์น้ำตั้งแต่ ปตร.ท่าวังตาล ไปจนถึง ปตร.แม่สอย ซึ่งเป็นจุดสุดท้ายในเขต อ.จอมทอง พบว่า ปริมาณน้ำที่คงค้างอยู่ในระบบทางน้ำหรือในแม่น้ำปิงหน้าฝายต่างๆ มีปริมาณค่อนข้างดี ประกอบกับการคาดการณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าในวันที่ 4-6 ก.พ. อาจจะมีฝนตก เป็นฝนตกเล็กน้อย ถึงไม่มากแต่ก็ถือว่าสามารถเป็นแหล่งน้ำต้นทุนให้พื้นที่ได้บางส่วน” ผจบ.ชป.1 กล่าว

นายอภิวัฒน์ฯ กล่าวต่อว่า ปริมาณที่จะต้องเติมแทนน้ำที่ใช้ไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีอยู่ราวเกือบ 4 แสน ลบ.ม. ในส่วนนี้การส่งน้ำในรอบเวรที่ 5 ซึ่งแต่เดิมกำหนดไว้จะส่งน้ำ 2 วัน วันแรกจะระบายน้ำจากเขื่อน 8 ลบ.ม. ต่อวินาที วันที่ 2 จะระบายน้ำลดลงเหลือ 5 ลบ.ม. ต่อวินาที รวมทั้ง 2 วัน ตามแผนเดิมจะระบายน้ำอยู่ที่ 1.12 ล้าน ลบ.ม. จากการประชุมที่ประชุมคาดว่าจะใช้น้ำไม่ถึงจึงพิจารณาร่วมกันว่าจะปรับลดลง เหลือระบายน้ำที่ 6 ลบ.ม. ต่อวินาที คิดเป็นปริมาตรน้ำอยู่ที่ 520,000 ลบ.ม. ซึ่งจะเพียงพอกับการใช้น้ำในรอบสัปดาห์นี้

“แผนเดิมกำหนดไว้ว่าจะใช้น้ำจากเขื่อนแม่งัดฯ 28 ล้าน ลบ.ม. หรือ 21 รอบเวร มาถึงรอบเวรที่ 5 ใช้น้ำไปน้อยกว่าแผนอยู่ 3 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากได้งดการระบายน้ำในรอบเวรที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงที่มีฝนตกในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และลดการระบายในรอบเวรที่ 2 กับรอบเวรที่ 4 พร้อมกันนั้นที่ประชุมได้กำชับเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามน้ำและพบปะเกษตรกรในพื้นที่เพื่อรับทราบรับฟังข้อมูล ปัญหา เพื่อทางชลประทานจะได้เข้าไปให้การช่วยเหลือ” ผจบ.ชป.1 กล่าว

“โดยภาพรวมตั้งแต่ช่วงต้นฤดูการเพาะปลูกได้มีการชี้แจงให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำทราบก่อน ส่วนใหญ่ก็จะลดพื้นที่การเพาะปลูก โดยเฉพาะข้าวนาปรัง สำหรับพื้นที่มีการปลูกอยู่ได้มีการสำรวจพบว่าเกษตรกรมีแหล่งน้ำเป็นของตนเองเพียงพอต่อการใช้ตลอดฤดูแล้ง” นายอภิวัฒน์ ภูมิไธสง ผจบ.ชป.1 กล่าว