วันเสาร์, 23 พฤศจิกายน 2567

คนแม่นะเฮ!! อ่างเก็บน้ำห้วยแม่อ้อคืบ กรมชลจัดปัจฉิมศึกษาผลกระทบ คาดใช้งบ 550 ล้านสร้าง

14 ธ.ค. 2021
1128

คาดใช้งบ 550 ล้านบาท สร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่อ้อฯ เชื่อเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2567 กรมชลประทานจัดปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาผลกระทบฯ เคาะความจุที่ 4.16 ล้าน ลบ.ม. ช่วยพื้นที่เกษตร 4,500 ไร่ พร้อมปรับภูมิทัศน์หนุนเป็นแหล่งท่องเที่ยว

วันที่ 14 ธ.ค. 64 เวลา 09.30 น. ที่หอประชุมเทศบาลตำบลแม่นะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน พร้อมคณะฯ ลงพื้นที่ติดตามโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่อ้อ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งโครงการฯ ดำเนินการประชุมรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน ครั้งที่ 2 (ปัจฉิมนิเทศโครงการ) โดยมี นายฉัตรเทพ เพิ่มทรัพย์ ปลัดอาวุโสฯ รักษาการนายอำเภอเชียงดาว เป็นประธานเปิดการประชุมฯ และ นายพรมงคล ชิดชอบ ผู้อำนวยการส่วนวางโครงการที่ 1 สำนักงานบริหารโครงการกรมชลประทาน กล่าวรายงาน ด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เจ้าหน้าที่โครงการชลประทานเชียงใหม่ พร้อมด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มชาวบ้าน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเข้าร่วมประชุม ณ หอประชุมเทศบาลตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

เสร็จสิ้นการนำเสนอผลการศึกษาผลกระทบ นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชน ว่า การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่อ้อ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสิ่งที่ราษฎรบ้านแม่นะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ได้ทำหนังสือทูลเกล้าถวายฎีกา ในหลวงรัชกาลที่ 9 ประสบปัญหาด้านแหล่งน้ำ ทางกรมชลประทานจึงได้เข้ามาตรวจสอบในช่วงปี 62 – 64 และมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ซึ่งได้แนวทางที่ชัดเจนที่จะนำมาพัฒนาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่อ้อ

“วันนี้ทางกรมชลประทานก็ได้มาทำปัจฉิมนิเทศโครงการพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ในช่วง 2 – 3 ปี ทางกรมชลประทาน สำนักงานชลประทานที่ 1 และโครงการชลประทานเชียงใหม่ ได้เข้ามาสอบถามความต้องการของพี่น้องประชาชนและทำการสำรวจพื้นที่ ซึ่งพี่น้องประชาชนมีความประสงค์ที่อยากจะให้เร่งทำการก่อสร้าง โดยอ่างเก็บน้ำที่จะก่อสร้างมีความจุประมาณ 4.16 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ด้านการเกษตร 4,500 ไร่ สภาพภูมิประเทศของอำเภอเชียงดาว ก็จะเป็นพืชไร่ เช่น หอม กระเทียม ข้าวโพด เมื่อได้น้ำประมาณ 4.16 ล้าน ลบ.ม. ก็สามารถที่จะพัฒนาการปลูกด้านการเกษตรได้มากขึ้น ไม่ว่าจะปลูกลิ้นจี่ ลำไย มะม่วง ก็อาจจะมีรายได้ที่มากขึ้น บางพื้นที่ก็อาจะเป็นการเกษตรการทำนา” รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าว

นายเฉลิมเกียรติฯ กล่าวต่อว่า ส่วนรูปแบบการส่งน้ำจะทำการส่งตามลำคลองเดิมของห้วยแม่อ้อ ที่มีฝายอยู่หลายตัวแล้วส่งเข้าแปลงการเกษตร บางพื้นที่จะนำน้ำ และอ่างเก็บน้ำที่สร้างนี้อยู่ค่อนข้างสูง ก็จะต้องใช้ท่อส่งน้ำเข้าช่วยเหลือพี่น้องประชาชนและการเกษตร อีกเรื่องก็ดูเรื่องของการเพาะพันธุ์ประมง เมื่อมีการสร้างอ่างเก็บน้ำแล้วทางกรมชลประทานก็จะมีการปล่อยพันธุ์ปลา เพาะขยายพันธุ์ในแหล่งน้ำ เพื่อให้เกษตรกรได้มีรายได้เพิ่มขึ้น และเมื่อมีอ่างเก็บน้ำที่อำเภอเชียงดาว ก็จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วย เพราะสภาพภูมิประเทศของพื้นที่มีป่าไม้ แหล่งน้ำ มีอากาศเย็นที่บริสุทธิ์ ก็จะส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวได้ด้วย

“การศึกษาผลกระทบในปี 64 ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว แต่บางพื้นที่ได้อยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเชียงดาว 67 ไร่ โดยจะมีการขอใช้พื้นที่ในปี 2565 – 2566 จากนั้นก็จะดำเนินการออกแบบตัวอ่างเก็บน้ำ ท่อส่งน้ำ และประตูระบายน้ำ และในปี 2567 ก็จะเริ่มดำเนินการก่อสร้าง โดยใช้เวลาก่อสร้าง รวม 4 ปี ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง ประมาณ 550 ล้านบาทในการก่อสร้าง และบริเวณรอบพื้นที่อ่างก็จะมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ มีเส้นทางการสัญจร ดูแลเรื่องผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม มีการจ่ายค่าชดเชยให้กับป่าไม้ที่ถูกตัดไป และผลกระทบกับพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่และได้รับผลกระทบ ก็จะมีการจ่ายค่าชดเชยให้ ซึ่งกรมชลประทานก็จะมีการจ่ายค่าชดเชยให้ผู้ได้รับผลกระทบทุกหน่วยงานด้วย” นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน กล่าว