ยี่เป็งเจียงใหม่ ปิดน่านฟ้าซัก 2 วัน
คิดเล่นๆ (ที่อยากให้เป็นจริง)
ว่าวฮม ว่าวควัน หรือว่า กมลอย สุดแล้วแต่ใครจะเรียก แต่บ้านผมเท่าที่จำความได้ตั้งแต่เกิดกว่า 50 ปี เราเรียกกันว่า…กมลอย!!
กมลอย…ปล่อยกลางวัน กมไฟ…ปล่อยกลางคืน
กมไฟ แต่ก่อนแทบไม่มี เพราะกระบวนการทำยากยิ่ง ละแวกบ้านเกิดผมย่านเมืองสาตร มีด้วยกัน 2 วัด วัดเมืองสาตรหลวง วัดเมืองสาตรน้อย ไม่เคยเห็นมีปล่อยกมไฟเลยซักลูก กมไฟที่ว่านี้ไม่ใช่ที่เอามาวางขายกันเกร่อเมื่อช่วง 5 ปี 10 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่กมที่ใครจะปล่อยก็ปล่อยได้ กมแต่ก่อนทั้งกมลอยกมไฟล้วนเกิดจาก…
ศรัทธา และ ความสามัคคี
ทำไมเป็นเช่นนั้น ก็เพราะว่า แต่ละลูก ต้องใช้ทั้งปัจจัย ทั้งกำลังแรงคน นอกจากนี้ต้องมีทักษะในการทำ ตั้งเริ่มต้นที่จะประกบให้เป็น “กม” กระทั่งถึงการปล่อย ซึ่ง…
ไม่สามารถปล่อยคนเดียวได้!!
อันว่า “กม” นี้ ต้องบอกได้ล่ะว่า เป็น เอกลักษณ์เฉพาะของล้านนา เท่านั้น!!! เรื่องนี้มีเฉพาะในล้านนาเท่านั้น ที่เยอะๆ ก็ เชียงใหม่ กับ ลำพูน นี่ล่ะ
กาลเปลี่ยน กลายเป็นว่า “กม” กลายเป็นมหันตภัย โดยเฉพาะกับ…อากาศยาน!!
เข้าใจได้ครับ ว่าอันตราย จริง!!
ในทางกลับกัน ถ้าอากาศยานไปมีบิน ก็ไม่อันตราย!!
อย่างที่ผมบอกนั่นล่ะ “กมลอย” มีมาแต่นานเนิ่น เกินกว่า 50 ปี แล้ว เชื่อว่าอยู่คู่กับล้านนามานานมาก ซึ่งเรียกได้เต็มปากว่า…
นี่คือ…วัฒนธรรมล้านนา วัฒนธรรมเชียงใหม่ ลำพูน
วัฒนธรรม คือ ผลิตภัณฑ์หนึ่งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้ทั้งประเทศไทย ให้ทั้งเชียงใหม่ มากมาย เป็นอุตสาหกรรมที่นำรายได้เช้าสู่เชียงใหม่ เพราะฉะนั้น…
การใดที่เป็นวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น จำต้องให้คงอยู่!!
ไม่บินซัก 2 วันจะเป็นไรไปล่ะ ประกาศกันตั้งแต่เนิ่นๆ เอาให้เป็นที่รู้กันทั่วโลกไปเลยว่า…
วันยี่เป็ง กับ วันแฮมค่ำ เครื่องบินงดบินเข้าเจียงใหม่!!!
คนจะเที่ยว จะมาดู “กมลอย” ที่เจียงใหม่ ซึ่งหาดูได้มากมายมีที่นี่ที่เดียว ที่เชียงใหม่ ที่ลำพูน จะได้วางแผนการเดินทางมาซะก่อนที่จะงดบิน มาก่อน 1 วัน ก็เท่ากับว่า…ต้องพำนักต้องเที่ยวเชียงใหม่อย่างน้อย 3 วัน ก็เท่ากับเพิ่มวันต้องเที่ยวเชียงใหม่ไปในตัว…แบบว่า บังคับให้ต้องเที่ยว
ว่ามาทั้งหมดนี้ แค่ “กมลอย” เท่านั้นนะ อันที่เป็น โคมลอย หรือ โคมไฟ ที่จุดกันตอนกลางคืน ไม่เกี่ยว!! อันนั้นค่อนข้างอันตราย ไฟไหม้ได้
เอา “ กมลอย ” กลับมาเหอะ น่าจะ “ ได้ ” มากกว่า “ เสีย ”…..งดบินซะ 2 วัน
“วายุ”
19 พ.ย. 64
ขอบคุณ ภาพจาก…อานนท์ ทองทัพ