วันเสาร์, 23 พฤศจิกายน 2567

“สุดชาย” ย้ำคนชลประทาน อย่าเป็นแค่ไปรษณีย์!! งานไหนทำได้ ให้ทำทันที

27 ส.ค. 2020
2126

ผส.ชป.1 ตรวจเยี่ยมโครงการชลประทานลำพูน ย้ำ “งานไหนทำได้ ให้ทำทันที” แสดงถึงความมุ่งมั่นทำเพื่อองค์กร พร้อมขอให้เน้นการประชาสัมพันธ์ต้องลงให้ถึงพื้นที่ “เราเข้าใจอย่างไร เกษตรกรควรเข้าใจเช่นนั้น” อย่าเป็นแค่ไปรษณีย์ส่งแค่เอกสาร ส่วนปริมาณน้ำในพื้นที่ยังมีน้อย คป.ลำพูน เผยอ่างขนาดกลางมีน้ำแค่ 24 ล้านคิว ส่วนอ่างขนาดเล็กมีน้ำเก็บแค่ 32 ล้าน

วันที่ 27 ส.ค. 63 ที่สำนักงานโครงการชลประทานลำพูน นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 (ผส.ชป.1) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารในสังกัดสำนักงานชลประทานที่ 1 ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการชลประทานลำพูน เพื่อติดตามความก้าวหน้าและรับฟังผลการดำเนินงานของโครงการฯ ที่ผ่านมา โดยมีนายวุฒิชัย รักษาสุข ผู้อำนวยการโครงการชลประทานลำพูน พร้อมด้วยข้าราชการ เจ้าหน้าที่ในสังกัดโครงการชลประทานลำพูนให้การต้อนรับและรายงานผลการดำเนินงานของโครงการ

ก่อนโครงการชลประทานลำพูนจะนำเสนอสรุปผลการดำเนินงานของโครงการฯ นายสุดชาย พรหมมลมาส ผส.ชป.1 พบปะหัวหน้าส่วนงานและเจ้าหน้าที่ของโครงการฯ พร้อมกับมอบนโยบายสำหรับเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานเพื่อสอดรับกับแนวทางการการทำงานของ สชป.1 และ กรมชลประทาน

นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผส.ชป.1 กล่าวว่า โครงการชลประทานลำพูนเป็น 1 ใน 3 โครงการชลประทานในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ที่ไม่เคยมาทำงาน การมาเยี่ยมโครงการก็เพื่ออยากทราบถึงแนวทางในการทำงานของแต่ละโครงการ อยากทราบถึงจุดแข็ง จุดอ่อน ปัญหา อุปสรรคต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอยู่ในโครงการ ส่วนแนวทางอันเป็นนโยบายสำคัญซึ่งประสบมาคือเรื่อง การประชาสัมพันธ์ จากที่ทำงานบริหารจัดการน้ำพบว่า ทั้งที่มีการประชุม การจัดรอบเวรชี้แจงทำความเข้าใจ แต่ท้ายที่สุดมีผลสะท้อนกลับมาว่า ไม่ได้ข่าว ไม่รู้ไม่ทราบข้อมูล เป็นปัญหาที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมายาวนาน ล่าสุดช่วงแล้งที่ผ่านมายังมีบางคนบางกลุ่มไปร้องผู้ว่า

“การประชาสัมพันธ์ไม่ได้ลงไปในพื้นที่อย่างจริงจัง แต่ละโครงการทำตัวเป็นไปรษณีย์ ส่งแค่เอกสารออกไปแล้วเป็นจบ แต่จริงแล้วจะต้องติดตามว่าในพื้นที่รับรู้รับทราบข้อมูลนั้นมากน้อยเพียงใด ทั้งน้ำน้อย น้ำหลาก ข้อมูลต้องไปถึงพื้นที่ในพื้นที่ต้องรับรู้รับทราบจริง จึงอยากให้หน่วยปฏิบัติจนถึงระดับหัวหน้า หรือเจ้าหน้าที่รับผิดชอบทุกคน ขออย่าเป็นแค่ไปรษณีย์ มีเรื่องจากโครงการออกไปเรื่องต้องไปถึงพื้นที่ให้ได้และพื้นที่ต้องเข้าใจด้วย ส่วนควรจะทราบถึงระดับไหน อยากให้โฟกัสไปที่ กลุ่มผู้ใช้น้ำ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ ท้องที่ต้องรับทราบ มีการประกาศเสียงตามสายหรือหอกระจายข่าวได้ยิ่งดี อีกอย่างที่ความทำคือ ป้ายไวนิล ประชาสัมพันธ์ในเรื่องนั้นๆ ทำติดในย่านชุมชนในหมู่บ้าน หรือจุดชุมนุมของกลุ่มผู้ใช้น้ำ” ผส.ชป.1 กล่าว

“หากเกิดเหตุในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นน้ำหลาก น้ำแล้ง หรือเหตุการณ์ใดๆ ในพื้นที่รับผิดชอบของโครงการฯ ต้องรายงานผ่านไลน์ให้ทราบโดยทันที โดยเฉพาะเหตุสาธารณภัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำหลาก น้ำกัดเซาะถนน – สะพานขาด โดยขอให้รายงานให้ครบถ้วนทั้งเรื่องความเสียหายหรือเรื่องไม่ดี และเรื่องดีๆ รวมถึงการแก้ไขในเบื้องต้น แล้วรายงานให้ครบทั้งหัวหน้างาน ผอ.โครงการ จังหวัด และ สชป.1 พร้อมทั้งภาพและคลิปประกอบการรายงานในทุกครั้ง เพื่อจะได้รายงานให้กรมฯ ทราบต่อไป” นายสุดชายฯ กล่าว

นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผส.ชป.1 กล่าวต่อว่า อีกประการในการทำงาน งานไหนทำได้ ให้ทำทันที จะไม่มีเรื่องการข้ามหน้าข้ามตาเข้ามาเป็นอุปสรรคในการทำงาน งานที่ทำได้ไม่ต้องรอผู้บังคับบัญชาสั่ง ทำได้ทำทันที ที่ทำก็เพื่อปกป้อง แก้ไข เพราะอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ ทำเสร็จก็รายงานให้ทุกระดับทราบ อย่างน้อยที่สุดแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะทำเพื่อองค์กร

ในส่วนโครงการชลประทานลำพูน โดย นายวุฒิชัย รักษาสุข ผอ.คป.ลำพูน นายคณิต สัตย์ซื่อ หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม นายสุภรณ์วัฒน์ สุรการ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ คป.ลำพูน นำเสนอผลการดำเนินงาน พอสรุปได้ว่า โครงการชลประทานลำพูน ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 บ้านจำขี้มด ต.ศรีบัวบาน อ.เมือง จ.ลำพูน ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดลำพูนทั้ง 8 อำเภอ 51 ตำบล และ อีก 4 ตำบลของ อ.สารภี จ.เชียงใหม่ (ต.ดอนแก้ว ต.ขัวมุง ต.สันทราย และ ต.ท่ากว้าง) พื้นที่โดยรวมราว 2.8 ล้านไร่ ส่วนพื้นที่ชลประทาน 226,029 ไร่ แบ่งพื้นที่ความรับผิดชอบออกเป็น 4 ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษา มีโครงการขนาดกลาง จำนวน 10 แห่ง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 4 อ่าง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่ธิ อ่างเก็บน้ำแม่ตีบ อ่างเก็บน้ำแม่สาน และอ่างเก็บน้ำแม่เมย ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวม 8.763 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 24.96% ของความจุ สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กจำนวน 45 แห่ง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวม 7.680 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 32.07% ของความจุ และฝายขนาดกลาง จำนวน 6 ฝาย ตามแนวลำน้ำปิง มีปริมาณน้ำเก็บกัก 15.655 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ โครงการชลประทานลำพูนได้มีการประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มผู้ใช้น้ำและเกษตรกรในพื้นที่ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ใช้น้ำชลประทานเสริมในกรณีที่ไม่มีในตกในพื้นที่ รวมถึงมีการประเมินความเสี่ยงอุทกภัยตามอำเภอต่างๆ ของจังหวัดลำพูน โดยที่ผ่านมาได้ให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านอุทกภัยและการกำจัดวัชพืชสิ่งกีดขวางทางน้ำ ซึ่งเป็นผลมาจากอิทธิพลพายุซินลากู และร่องมรสุมกำลังแรงที่พัดเข้าหาพายุฮีโกส ซึ่งขณะนี้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติแล้ว

ส่วนผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2563 ประกอบด้วยแผนงานโครงการทั้งสิ้น 3 แผนงาน 30 โครงการ แบ่งเป็นแผนงานพื้นฐานด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จำนวน 5 โครงการ แผนงานยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จำนวน 23 โครงการ และแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จำนวน 2 โครงการ สำหรับแผนการดำเนินงานปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ประกอบด้วย 3 แผนงาน 46 โครงการ ด้วยงบประมาณ 197,152,000 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกรมชลประทาน