ผส.ชป.1 ตรวจเยี่ยมโครงการชลประทานลำพูน ย้ำ “งานไหนทำได้ ให้ทำทันที” แสดงถึงความมุ่งมั่นทำเพื่อองค์กร พร้อมขอให้เน้นการประชาสัมพันธ์ต้องลงให้ถึงพื้นที่ “เราเข้าใจอย่างไร เกษตรกรควรเข้าใจเช่นนั้น” อย่าเป็นแค่ไปรษณีย์ส่งแค่เอกสาร ส่วนปริมาณน้ำในพื้นที่ยังมีน้อย คป.ลำพูน เผยอ่างขนาดกลางมีน้ำแค่ 24 ล้านคิว ส่วนอ่างขนาดเล็กมีน้ำเก็บแค่ 32 ล้าน
วันที่ 27 ส.ค. 63 ที่สำนักงานโครงการชลประทานลำพูน นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 (ผส.ชป.1) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารในสังกัดสำนักงานชลประทานที่ 1 ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการชลประทานลำพูน เพื่อติดตามความก้าวหน้าและรับฟังผลการดำเนินงานของโครงการฯ ที่ผ่านมา โดยมีนายวุฒิชัย รักษาสุข ผู้อำนวยการโครงการชลประทานลำพูน พร้อมด้วยข้าราชการ เจ้าหน้าที่ในสังกัดโครงการชลประทานลำพูนให้การต้อนรับและรายงานผลการดำเนินงานของโครงการ
ก่อนโครงการชลประทานลำพูนจะนำเสนอสรุปผลการดำเนินงานของโครงการฯ นายสุดชาย พรหมมลมาส ผส.ชป.1 พบปะหัวหน้าส่วนงานและเจ้าหน้าที่ของโครงการฯ พร้อมกับมอบนโยบายสำหรับเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานเพื่อสอดรับกับแนวทางการการทำงานของ สชป.1 และ กรมชลประทาน
นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผส.ชป.1 กล่าวว่า โครงการชลประทานลำพูนเป็น 1 ใน 3 โครงการชลประทานในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ที่ไม่เคยมาทำงาน การมาเยี่ยมโครงการก็เพื่ออยากทราบถึงแนวทางในการทำงานของแต่ละโครงการ อยากทราบถึงจุดแข็ง จุดอ่อน ปัญหา อุปสรรคต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอยู่ในโครงการ ส่วนแนวทางอันเป็นนโยบายสำคัญซึ่งประสบมาคือเรื่อง การประชาสัมพันธ์ จากที่ทำงานบริหารจัดการน้ำพบว่า ทั้งที่มีการประชุม การจัดรอบเวรชี้แจงทำความเข้าใจ แต่ท้ายที่สุดมีผลสะท้อนกลับมาว่า ไม่ได้ข่าว ไม่รู้ไม่ทราบข้อมูล เป็นปัญหาที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมายาวนาน ล่าสุดช่วงแล้งที่ผ่านมายังมีบางคนบางกลุ่มไปร้องผู้ว่า
“การประชาสัมพันธ์ไม่ได้ลงไปในพื้นที่อย่างจริงจัง แต่ละโครงการทำตัวเป็นไปรษณีย์ ส่งแค่เอกสารออกไปแล้วเป็นจบ แต่จริงแล้วจะต้องติดตามว่าในพื้นที่รับรู้รับทราบข้อมูลนั้นมากน้อยเพียงใด ทั้งน้ำน้อย น้ำหลาก ข้อมูลต้องไปถึงพื้นที่ในพื้นที่ต้องรับรู้รับทราบจริง จึงอยากให้หน่วยปฏิบัติจนถึงระดับหัวหน้า หรือเจ้าหน้าที่รับผิดชอบทุกคน ขออย่าเป็นแค่ไปรษณีย์ มีเรื่องจากโครงการออกไปเรื่องต้องไปถึงพื้นที่ให้ได้และพื้นที่ต้องเข้าใจด้วย ส่วนควรจะทราบถึงระดับไหน อยากให้โฟกัสไปที่ กลุ่มผู้ใช้น้ำ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ ท้องที่ต้องรับทราบ มีการประกาศเสียงตามสายหรือหอกระจายข่าวได้ยิ่งดี อีกอย่างที่ความทำคือ ป้ายไวนิล ประชาสัมพันธ์ในเรื่องนั้นๆ ทำติดในย่านชุมชนในหมู่บ้าน หรือจุดชุมนุมของกลุ่มผู้ใช้น้ำ” ผส.ชป.1 กล่าว
“หากเกิดเหตุในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นน้ำหลาก น้ำแล้ง หรือเหตุการณ์ใดๆ ในพื้นที่รับผิดชอบของโครงการฯ ต้องรายงานผ่านไลน์ให้ทราบโดยทันที โดยเฉพาะเหตุสาธารณภัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำหลาก น้ำกัดเซาะถนน – สะพานขาด โดยขอให้รายงานให้ครบถ้วนทั้งเรื่องความเสียหายหรือเรื่องไม่ดี และเรื่องดีๆ รวมถึงการแก้ไขในเบื้องต้น แล้วรายงานให้ครบทั้งหัวหน้างาน ผอ.โครงการ จังหวัด และ สชป.1 พร้อมทั้งภาพและคลิปประกอบการรายงานในทุกครั้ง เพื่อจะได้รายงานให้กรมฯ ทราบต่อไป” นายสุดชายฯ กล่าว
นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผส.ชป.1 กล่าวต่อว่า อีกประการในการทำงาน งานไหนทำได้ ให้ทำทันที จะไม่มีเรื่องการข้ามหน้าข้ามตาเข้ามาเป็นอุปสรรคในการทำงาน งานที่ทำได้ไม่ต้องรอผู้บังคับบัญชาสั่ง ทำได้ทำทันที ที่ทำก็เพื่อปกป้อง แก้ไข เพราะอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ ทำเสร็จก็รายงานให้ทุกระดับทราบ อย่างน้อยที่สุดแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะทำเพื่อองค์กร
ในส่วนโครงการชลประทานลำพูน โดย นายวุฒิชัย รักษาสุข ผอ.คป.ลำพูน นายคณิต สัตย์ซื่อ หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม นายสุภรณ์วัฒน์ สุรการ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ คป.ลำพูน นำเสนอผลการดำเนินงาน พอสรุปได้ว่า โครงการชลประทานลำพูน ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 บ้านจำขี้มด ต.ศรีบัวบาน อ.เมือง จ.ลำพูน ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดลำพูนทั้ง 8 อำเภอ 51 ตำบล และ อีก 4 ตำบลของ อ.สารภี จ.เชียงใหม่ (ต.ดอนแก้ว ต.ขัวมุง ต.สันทราย และ ต.ท่ากว้าง) พื้นที่โดยรวมราว 2.8 ล้านไร่ ส่วนพื้นที่ชลประทาน 226,029 ไร่ แบ่งพื้นที่ความรับผิดชอบออกเป็น 4 ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษา มีโครงการขนาดกลาง จำนวน 10 แห่ง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 4 อ่าง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่ธิ อ่างเก็บน้ำแม่ตีบ อ่างเก็บน้ำแม่สาน และอ่างเก็บน้ำแม่เมย ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวม 8.763 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 24.96% ของความจุ สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กจำนวน 45 แห่ง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวม 7.680 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 32.07% ของความจุ และฝายขนาดกลาง จำนวน 6 ฝาย ตามแนวลำน้ำปิง มีปริมาณน้ำเก็บกัก 15.655 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งนี้ โครงการชลประทานลำพูนได้มีการประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มผู้ใช้น้ำและเกษตรกรในพื้นที่ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ใช้น้ำชลประทานเสริมในกรณีที่ไม่มีในตกในพื้นที่ รวมถึงมีการประเมินความเสี่ยงอุทกภัยตามอำเภอต่างๆ ของจังหวัดลำพูน โดยที่ผ่านมาได้ให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านอุทกภัยและการกำจัดวัชพืชสิ่งกีดขวางทางน้ำ ซึ่งเป็นผลมาจากอิทธิพลพายุซินลากู และร่องมรสุมกำลังแรงที่พัดเข้าหาพายุฮีโกส ซึ่งขณะนี้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติแล้ว
ส่วนผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2563 ประกอบด้วยแผนงานโครงการทั้งสิ้น 3 แผนงาน 30 โครงการ แบ่งเป็นแผนงานพื้นฐานด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จำนวน 5 โครงการ แผนงานยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จำนวน 23 โครงการ และแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จำนวน 2 โครงการ สำหรับแผนการดำเนินงานปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ประกอบด้วย 3 แผนงาน 46 โครงการ ด้วยงบประมาณ 197,152,000 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกรมชลประทาน