ผชป.1 เยือนแม่งัด ย้ำการประชาสัมพันธ์ ชี้ “ซินลากู” ได้น้ำเข้าเขื่อนแม่งัดเพียบ คาดสิ้นฝนมีน้ำเกือบ 200 ล้านคิว

22 ส.ค. 2020
1656

ผชป.1 เยือนเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ย้ำโครงการเก่าแก่ให้เน้นการประชาสัมพันธ์แบบถึงลูกถึงคน ชี้ “เรารู้อย่างไร เกษตรกรผู้ใช้น้ำต้องเข้าใจเช่นนั้น” “ผอ.ถา” จัดเต็มแบ่งงานให้ผู้รับผิดชอบตรงบรรยายสรุป ทั้งงานวิศวกรรม งานพัสดุ และหัวใจสำคัญงานจัดสรรน้ำ ย้ำยังให้ความสำคัญ “น้ำอุปโภค-บริโภค” เป็นอันดับแรก พร้อมเผยช่วง “ซินลากู” ได้น้ำเข้าเขื่อนเพียบ เส้นกราฟน้ำเข้าเขื่อนพุ่งกระฉูด 5 วัน หากฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 5% คาดว่าสิ้นฤดูฝนน้ำเขื่อนแม่งัดมีเฉียด 200 ล้านคิว เชื่อแล้งหน้าเอาอยู่

ที่ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 (ผชป.1) พร้อมคณะ ประชุมตรวจเยี่ยมและติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัด สชป.1 โดยมี นายเฉลิมเกียรติ อินทกนก ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก แม่งัดสมบูรณ์ชล พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่โครงการฯ ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปผลการดำเนินงานของโครงการฯ ตามแนวทาง RID No.1 ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วนงานหลัก ได้แก่ งานบริหารจัดการน้ำ งานบริหารสินทรัพย์ และงานวิศวกรรมบริหาร

ในส่วนของงานวิศวกรรมบริหาร นายพฤกษ์ เรืองไวทย หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม คบ.แม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล แจงว่า ปีงบประมาณ 2563 โครงการฯ มีงานบำรุงรักษาและซ่อมแซม ราว 50 โครงการ นับถึงวันที่ 14 ส.ค. 63 มีการดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการต่างๆ ไปแล้วราว 79.33% ซึ่งงานส่วนใหญ่จะเป็นการซ่อมแซมงานดาดคลองส่งน้ำ งานซ่อมแซมกว้านและบานระบาย ส่วนงานบริหารสินทรัพย์ บรรยายโดย น.ส.กนกวรรณ พันธ์ศรี หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ ซึ่งสรุปได้ว่า คบ.แม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชลนำสินทรัพย์ของโครงการฯ เข้าสู่ระบบจำนวน 311 รายการ แยกเป็น สินทรัพย์ที่ได้มาก่อนปี 2548 จำนวน 258 รายการ มูลค่า 155,969,483.56 บาท สินทรัพย์ที่ได้มาหลังปี 2548 จำนวน 53 รายการ มูลค่า 374,255,858.70 บาท

สำหรับงานบริหารจัดการน้ำ ซึ่งมีความสำคัญเพราะเกี่ยวข้องกับประชาชนและสังคมทั้งของจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูนโดยตรง นำเสนอโดย นายณัฐพล อภินันทโน หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โดยรายงานว่า เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลมีความจุอยู่ที่ 265 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบัน (16 ส.ค.) มีน้ำกักเก็บ 102.181 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 38.56% โดยมีแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน 2563 จัดสรรเพื่อการเกษตรตามแผนการเพาะปลูก 71,724 ไร่ โดยวางแผนใช้น้ำอยู่ราว 70 ล้าน ลบ.ม.

“มาตรการในการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝน 2563 กำหนดเป้าหมายไว้ว่า การบริหารจัดการเพื่อให้ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำมีเพียงพอสำหรับการใช้ตลอดฤดูฝนและสามารถเก็บกักไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้า(ปี 63/64) ได้ โดยจัดลำดับความสำคัญในการจัดสรร โดยจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคและรักษาระบบนิเวศเป็นอันดับแรก โดยต้องให้เพียงพอกับการใช้ตลอดทั้งปี รองลงมาเป็นการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งเบื้องต้นจะใช้น้ำฝนเป็นหลักแล้วใช้น้ำชลประทานเสริมในช่วงฝนทิ้งช่วง ส่วนการบริหารน้ำท่าจะอาศัยระบบและอาคารชลประทานในการจัดการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ตัวเขื่อนแม่งัดฯ จะต้องเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด พร้อมกับมีการวางแผนป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเพื่อการรับมือได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์” นายณัฐพลฯ กล่าว

ทั้งนี้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล วางแนวทางในการบริหารจัดการจะทำงานแบบ “เข้าถึง เข้าพบ เข้าแก้” โดยเข้าถึงและติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เข้าพบประชาชนติดตามสอบถามปัญหาในพื้นที่ หากพบก็จะเข้าแก้ไขปัญหานั้นทันที พร้อมกับมีการจัดตั้งเครือข่าย อาทิ กลุ่มผู้ใช้น้ำ อาสาสมัครชลประทาน มีการจัดดูงาน สร้างความหวัง สร้างกำลังใจให้กับเครือข่ายที่มีด้วย นอกจากนี้ยังมีการกำจัดวัชพืช ผักตบชวา เป็นระยะพร้อมกับมีการวางแผนการจัดเก็บไม่เพื่อไม่ให้มีผักตบชวาในคลองส่งน้ำ รวมทั้งการตรวจสอบอาคารชลประทานให้พร้อมกับงานใช้งานอยู่เสมอ

“ผลจากพายุซินลากูที่ผ่านมามีน้ำไหลเข้าเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลรวม 25.55 ล้าน ลบ.ม. หากพิจารณาจากเส้นกราฟปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างช่วงวันที่ 1-5 ส.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่พายุเข้าเส้นกราฟจะโดดอย่างเห็นได้ชัด ต่อจากนั้นก็เป็นน้ำฝนตามฤดูกาลซึ่งมีปริมาณไหลเข้าอ่างรวม 13.357 ล้าน ลบ.ม. และถ้าหากเป็นไปตามคาดการณ์ปริมาณฝนที่คาดว่าจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยราว 5% ณ ปัจจุบันเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลมีน้ำอยู่ที่ 102.81 ล้าน ลบ.ม. ก็คาดว่าสิ้นสุดฤดูฝน 2563 นี้ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลน่าจะมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 192.065 ล้าน ลบ.ม. ก็จะเพียงพอสำหรับฤดูแล้งหน้า (ปี 63/64)” หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน คบ.แม่แฝก-แม่งัดฯ กล่าว

ด้าน นายสุดชาย พรหมมลมาส ผชป.1 กล่าวว่า โครงการฯ แม่แฝก-แม่งัดฯ เป็นโครงการที่เก่าแก่พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่บริการมีเป็นจำนวนมากและอยู่ด้วยกันมานาน อยากให้เน้นการประชาสัมพันธ์แบบถึงลูกถึงคน โดยเฉพาะระดับที่อยู่ในพื้นที่ต้องประชาสัมพันธ์ในทุกช่องทางที่จะทำได้ทั้งผ่านช่องทางท้องที่คือกำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ และท้องถิ่นคือ อปท. ที่อยู่ในพื้นที่บริการ “เรารู้เช่นไรเกษตรกรต้องเข้าใจหรือรู้เช่นเดียวกับเรา” ขอให้เรื่องนี้เป็นวาระสำคัญของโครงการเก่าแก่

“ระยะ 10 ปีที่ผ่านมา เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลกลายเป็นแหล่งน้ำสำคัญในช่วงฤดูแล้งของเมืองเชียงใหม่รวมถึงจังหวัดลำพูนด้วย จะเห็นได้ว่าโครงการนี้ได้ใช้ศักยภาพของเขื่อนอย่างเต็มกำลังหรืออาจเกินกำลังในบางช่วงเวลา ถ้าเขื่อนมีน้ำน้อยการบริหารจัดการจะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก ดังนั้นน้ำทุกหยดที่มีในเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลต้องใช้อย่างระมัดระวังและมีประสิทธิภาพสูงสุด ภาระงานหลักขณะนี้ไม่ใช่ดูแลเฉพาะพื้นที่โครงการแม่แฝก-แม่งัดฯ ซึ่งเป็นภารกิจหลักแต่เดิมเท่านั้น หากว่าต้องดูแลไปถึง ปตร.แม่สอย ทั้งเรื่องประปา ทั้งเรื่องการท่องเที่ยว เหล่านี้กลายเป็นภารกิจของเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลไปแล้ว ฉะนั้นการบริหารจัดการน้ำต้องพิจารณาอย่างรอบครอบเหมาะสม ที่สำคัญคือ ต้องประชาสัมพันธ์ให้แก่ผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนให้เกิดความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกันทั้งในพื้นที่เชียงใหม่และลำพูน” ผชป.1 กล่าว