เกษตรจังหวัดเชียงใหม่แจงมาตรการช่วยเหลือลำไย แจงผลผลิตปีนี้มีมากกว่า 1.4 แสนตัน เก็บเกี่ยวไปแล้วแค่ 1.6 หมื่นตัน คาดต้นสิงหาคมเป็นต้นไปลำไยจะออกสู่ตลาดมาก มั่นใจเกษตรแปลงใหญ่ช่วยกระจายลำไยสู่ตลาดได้มาก แจงเกษตรกรกว่า 80% บริหารจัดการด้วยตัวเองได้ ส่วนรายย่อยที่เหลือลุ้นขนาด A ให้ขยับอยู่ที่ 10-13 บาท/กก. ชาวสวนอยู่ได้ ยังต้องลุ้นผู้ค้าจีนเข้ามาได้หรือไม่ช่วงสิงหาหากผ่านมาตรการโควิด-19 เชื่อลำไยปีนี้ไปรอด
ที่ห้องประชุม 4 ชั้น 4 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายวิรุฬ พรรณเทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการแถลงข่าวสื่อมวลชนประจำสัปดาห์ โดยมีประเด็น สถานการณ์การผลิตลำไยจังหวัดเชียงใหม่ ปี 2563 เป็นวาระสำคัญร่วมการแถลงข่าวด้วย ซึ่งแถลงโดย นางเขมวรรณ ดวงจันทร์ เกษตรจังหวัดเชียงใหม่
นางเขมวรรณ ดวงจันทร์ เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ลำไยในภาคเหนือของไทยนั้นนับตั้งแต่จังหวัดตากเรื่อยขึ้นมาจนถึงจังหวัดเชียงราย รวม 8 จังหวัด ยกเว้น จ.แม่ฮ่องสอน ที่ไม่มีพื้นที่การปลูกลำไยเป็นพืชเศรษฐกิจ พื้นที่การผลิตลำไยทั้ง 8 จังหวัดของภาคเหนือ รวมราว 8.5 แสนกว่าไร่ ให้ผลผลิตในแต่ละปีราว 6 แสนกว่าตัน แยกเป็นลำไยนอกฤดูราว 2.4 แสนตัน และเป็นลำไยในฤดูราว 3.8 แสนกว่าตัน คือช่วงผลผลิตลำไยที่ออกในช่วงนี้ จากข้อมูลสถิติที่มีพบว่า หากผลผลิตรวมทั้ง 8 จังหวัดภาคเหนือมีเพียงแค่ 3 แสนกว่าตัน จะไม่มีปัญหาราคาลำไยตกต่ำ
“ปีนี้จะสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ทำให้ทั้งการขนส่ง การจำหน่ายการกระจายลำไย มีปัญหา ตลาดลำไยใหญ่ของไทยคือ ประเทศจีน ทั้งลำไยสดและอบแห้ง และในโซนยุโรปบ้างเล็กน้อย สำหรับฤดูกาลผลิตลำไย 2563 ของจังหวัดเชียงใหม่ ผลผลิตในฤดูมีอยู่ราว 144,631 กิโลกรัม ข้อมูล ณ วันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมาเก็บผลผลิตไปแล้ว 16,000 กว่าตัน ซึ่งเกษตรกรเก็บเกี่ยวเป็นลำไยมัดปุ๊ก หรือลำไยกินผลสดซึ่งขายเพื่อบริโภคในประเทศขณะนี้ ลำไยขนาด AA กิโลกรัมละ 27 บาท A อยู่ที่ 24 บาท และ B อยู่ที่ 17 บาท อีกชนิดหนึ่งที่ทำคือ ลำไยตะกร้าขาว เพื่อส่งออกไปต่างประเทศ แม้ว่าวันนี้จะส่งออกไปยังประเทศจีนยังทำไม่ได้ แต่การส่งออกต่างประเทศจะส่งไปทางอำเภอหาดใหญ่แล้วผ่านเข้าสู่ประเทศมาเลเซีย ยอดขายรวมอยู่ราว 4,400 กว่าตัน ราคาคละเกรด AA กับ A ราคาอยู่ที่ 25 บาทต่อกิโลกรัม อีกชนิดที่นิยมทำกันมากคือ ลำไยรูดร่วง ราคา AA อยู่ที่ 16 บาท A ราคาอยู่ที่ 8 บาท และ B อยู่ที่ 4 บาท” เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ กล่าว
“เกษตรกรชาวสวนลำไยของจังหวัดเชียงใหม่ราว 80% จะเป็นเกษตรกรรายใหญ่ที่สามารถบริหารจัดการสวนด้วยตัวเองได้ คุณภาพของผลผลิตจะอยู่ในระดับการผลิตเพื่อส่งออกและบริโภคสดภายในประเทศ ส่วนการทำลำไยรูดร่วงจะเป็นเกษตรกรรายย่อยที่มีพื้นที่สวนอยู่ 3-5 ไร่ การดูแลรักษารวมถึงต้นทุนจะใช้ไม่มาก ไม่สามารถควบคุมคุณภาพได้เต็มที่ อย่างเช่นภัยแล้งช่วงที่ผ่านมาผลผลิตลำไยจะได้รับผลกระทบมาก โดยสถิติที่ผ่านมาราคารูดร่วงขนาด AA ควรอยู่ที่กิโลกรัมละ 22 บาท แต่ว่าขณะนี้ AA อยู่ที่ 16 บาท เกษตรกรกลุ่มนี้ก็ยังพออยู่ได้ แต่ว่าการทำลำไยรูดร่วงเกษตรกรอยู่ได้หรือไม่จะขึ้นกับราคาลำไยขนาด A หากว่า A ราคาอยู่ที่ 10-13 บาท เกษตรกรก็พออยู่ได้ราคาเป็นที่น่าพอใจ” นางเขมวรรณ ดวงจันทร์ กล่าว
เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาการผลิตลำไยของจังหวัดเชียงใหม่จะเป็นแบบ ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างผลิต ก็ทำตามต้นทุนเท่าที่มีอยู่ ขณะนี้ทางกรมส่งเสริมการเกษตรได้มีการส่งเสริมให้จัดการแบบ “เกษตรแปลงใหญ่” คือ การรวบรวมเกษตรกรรายย่อยที่มีความพร้อมมารวมกลุ่มกันเป็นแปลงใหญ่ ซึ่งนับตั้งแต่พื้นที่ 300 ไร่ขึ้นไป ซึ่งขณะนี้ทั้ง 25 อำเภอของ จ.เชียงใหม่ มี “ลำไยแปลงใหญ่” ทั้งสิ้น 31 แปลง แปลงใหญ่ทั้งหมดจะได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐทั้งเรื่องเทคนิคการผลิต การทำลำไยคุณภาพ ทำลำไย A ให้มีขนาด AA รวมถึงให้ความรู้ในการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ด้วย การวางแผนการผลิตการเก็บเกี่ยวให้สอดคล้องกับการตลาด ล่าสุดได้มีการให้ความรู้ในการที่จะเข้าถึงในทุกระบบการตลาดให้แปลงใหญ่ทั้งหมดด้วย
“ยกตัวอย่างแปลงใหญ่ที่อำเภอสารภี ซึ่งรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่บริหารจัดการมาแล้ว 2-3 ปี ขณะนี้สามารถบริหารจัดการตัวเองได้ตั้งแต่การควบคุมการผลิต และเข้าสู่ระบบตลาดได้ด้วยตัวเอง หลักๆ จะส่งให้ Modern Trade รวมถึงตลาดออนไลน์ ซึ่งมีลูกค้าประจำแล้วด้วย โดยการทำ MOU กับหลายๆ เจ้าเพื่อส่งผลผลิตลำไยให้เป็นประจำ ล่าสุดทำ MOU กับ ซีพี มียอดสั่งซื้อเฉลี่ยวันละ 2 หมื่นกว่าตัน โดยนำไปวางขายในห้างในราคา 2 กก. 99 บาท กิโลกรัมละ 59 บาท พร้อมกับขึ้นป้ายว่า ลำไยคุณภาพจากแปลงใหญ่อำเภอสารภี นอกจากนี้ยังมีแปลงใหญ่ที่อำเภอสันป่าตองส่งผลผลิตไปหาดใหญ่ โควตาวันละ 15 ตัน ตรงนี้มีบางส่วนถูกส่งต่อไปยังมาเลเซีย” นางเขมวรรณฯ กล่าว
“ฤดูกาลนี้ผลผลิตลำไยจะออกช้ากว่าทุกปีที่ผ่านมาเล็กน้อย ทุกปีที่ผ่านมาหลังวันที่ 15 ก.ค. จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากแล้ว ปีนี้คาดว่าผลผลิตลำไยในฤดูจะออกมากนับตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมไปแล้ว อีกการช่วยเหลือของภาครัฐในการสร้างช่องทางที่ช่วยกระจายลำไยคือ โดยความร่วมมือของ ธกส. ไปรษณีย์ และสหกรณ์การเกษตร ที่จะช่วยนำลำไยจากสวนเกษตรกรนำไปขายให้ผู้บริโภคโดยตรง เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังจะมีผู้ประกอบการอีกกลุ่มที่พอมีทุนจะช่วยรับซื้อลำไยรูดร่วงเข้าสู่กระบวนการอบแห้งแล้วเก็บลำไยอบแห้งไว้ ซึ่งมีการประเมินไว้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะบรรเทา ในช่วงต้นสิงหาคมไปแล้วจะมีผู้ค้าลำไยจากประเทศจีนสามารถเข้ามาได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการกระจายลำไยอบแห้งให้เพิ่มมากขึ้นได้” เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ กล่าว
สำหรับมาตรการการจัดการลำไยในปี 2563 นี้ สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ วางมาตรการทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณผ่านโครงการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ โดยมีกิจกรรมสำคัญ เช่น การส่งเสริมการผลิตตามมาตรฐาน GAP ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ส่งเสริมและแนะนำให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีที่ คือ การเตรียมต้นให้สมบูรณ์ การตัดแต่งช่อผล การให้น้ำ การใส่ปุ๋ย และการปรับปรุงคุณภาพสีผิว รวมทั้งการจัดทำแปลงเรียนรู้ ส่งเสริมการรวมกลุ่มพัฒนาคุณภาพผลผลิตและการตลาด
ส่วนเชิงปริมาณลำไยนั้น จังหวัดเชียงใหม่ได้มีการบริหารจัดการโดยคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ซึ่งนำประเด็นเชื่อมโยงตลาดลำไยล่วงหน้า การสนับสนุนให้มีจุดรวบรวมและคัดคุณภาพลำไยและกระจายผลผลิต จัดเตรียมข้อมูลความต้องการรับซื้อผลผลิตของผู้ประกอบการลำไยโดยประสานความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐ สำหรับการบริหารจัดการผลผลิตอาทิ การบริโภคสดภายใน ด้วยวิธีกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิตผ่านผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร ตลาดภายในจังหวัด รวมทั้ง Modern Trade และตลาดออนไลน์/ไปรษณีย์/ธกส. แปรรูป ด้วยวิธีการอบแห้งทั้งเปลือก อบแห้งเนื้อสีทอง แปรรูป เช่น ลำไยกระป๋อง และการส่งออกลำไยสด เป็นต้น