ถกคณะทำงานขับเคลื่อนแก้ปัญหาลำไยฯ นัดแรกได้ข้อมูลเพียบกลางวงประชุม ชาวสวนลำไยปลื้มได้เข้ามานั่งในคณะทำงานชี้เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลให้โอกาส พร้อมขอไม่มาก “ประกันราคาลำไย AA ไม่ต่ำกว่า 40 บาท” ยกลำไยเป็นพืชเศรษฐกิจควรได้สิทธิเช่นพืชอื่นอย่างยางพารา มันสำปะหลัง พร้อมยกพลมาฝากขอบคุณถึงรัฐบาลที่ช่วยเหลือเยียวยาคนละ 1.5 หมื่น 3 เดือน ชี้ช่วยต่อลมหายใจเกษตรกรได้
วันที่ 8 ก.ค. 63 ที่สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 เชียงใหม่ ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ นายนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนศึกษาระบบการผลิต การตลาด สินค้าลำไย เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสินค้าลำไยของประเทศไทย พร้อมคณะ ได้เดินทางมาประชุมร่วมกับคณะทำงานในพื้นที่ภาคเหนือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน และตาก เพื่อหาแนวทางในการรักษาเสถียรภาพราคา และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสินค้าของประเทศไทย และสอบถามถึงปัญหาจากพี่น้องเกษตรกร เพื่อจะนำข้อเสนอของเกษตรกรส่งต่อยังรัฐบาล
ในการประชุมกว่า 3 ชั่วโมง นายสมศักดิ์ ตาไชย ประธานที่ปรึกษาสภาอาชีพเกษตรกร กล่าวว่า ตามที่หนังสือคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร ด่วนที่สุดที่ สผ 0017.01/358 ลงวันที่ 22 มกราคม 2563 และหนังสือกระทรวงพาณิชย์ ด่วนที่สุด ที่ พณ 0403/5284 ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2562 สภาอาชีพเกษตรกร (สอก.) ได้รับแจ้งจากคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตเกษตรกรรมสภาผู้แทนราษฎรว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ ได้แจ้งเรื่องการดำเนินมาตรการชดเชยประกันรายได้ลำไย ชนิดเกรด AA ให้เสนอคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน
ทางสภาอาชีพเกษตรกร ได้จัดทำโครงการประกันรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกลำไย ชนิดเกรด AA เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกลำไยได้เข้าถึงนโยบายประกันรายได้ของรัฐบาลนี้ อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม และมีรายได้พอเพียงต่อการดำรงชีพ เนื่องจากที่ผ่านมา การประกันรายได้ลำไยชนิดเกรด AA ไม่เคยมี ประกอบกับปีนี้ประสบปัญหาเรื่องวิกฤตโควิด-19 เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก แต่โชคดีที่ทางรัฐบาลได้เยียวยาให้เกษตรกรคนละ 15,000 บาท ช่วยต่อลมหายใจให้เกษตรกรได้ และที่ผ่านมาไม่เคยมีการประกันรายได้ลำไยในเกรด AA มาก่อน ซึ่งหากโครงการนี้ผ่านจะช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างมาก เพราะนอกจากไม่มีรายได้ในช่วงนี้แล้ว กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกลำไย ก็ยังคงได้รับผลกระทบเพราะไม่สามารถส่งออกลำไยไปยังต่างประเทศได้ เพราะยังคงคุมเข้มเรื่องมาตรการโควิด-19 และการขนส่งที่ยังไม่สะดวก โดยราคาขายลำไยชนิดเกรด AA ในปี 2562 กิโลกรัมละ 32 – 35 บาท โดยคาดว่าผลผลิตในปี 63 จะมีลำไยเกรด AA จำวน 417,000 ตัน
ปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกลำไยใน 33 จังหวัด จำนวน 196,655 ครัวเรือน จำนวน 554,624 คนเข้าร่วมโครงการประกันรายได้ โดยจำนวนผลผลิตลำไยที่รับประกันรายได้ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ตัน และเข้าร่วมได้ครัวเรือนละ 1 ราย เว้นแต่แยกทำกินสามารถเข้าร่วมได้มากกว่า 1 ราย โดยเป้าหมายจะเปิดให้ขึ้นทะเบียนทะเบียนผู้ปลูกลำไยโดยกรมส่งเสริมการเกษตร ช่วงเดือน มิ.ย. – ส.ค. 63 จัดทำสัญญาประกันรายได้ตั้งแต่ 1 ส.ค. – 30 ก.ย. 63 ดังนั้น กรณีรัฐบาลมีนโยบายประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกลำไยกิโลกรัมละ 40 บาท รัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชยเข้ามาในโครงการไม่เกินกิโลกรัมละ 8 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 3,340,800,000 บาท เพื่อช่วยเหลือให้เกษตรกรผู้ปลูกลำไย ได้รับราคาลำไยที่สูงขึ้นและเป็นธรรม เป็นการใช้กลไกตลาดในการสร้างเสถียรภาพราคาในระยะยาวและมีความยั่งยืน ลดภาระงบประมาณค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการช่วยเหลือเกษตรกร เป็นการเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19
ด้าน นายนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนศึกษาระบบการผลิต การตลาด สินค้าลำไยฯ กล่าวว่า จากการรับฟังปัญหาของพี่น้องเกษตรกรและทางสภาอาชีพเกษตรกร พบว่า พี่น้องเกษตรกรอยากให้มีการประกันรายได้ลำไยเกรด AA ให้ได้ราคาที่ 40 บาท เพราะราคาในปี 62 ที่ผ่านมา ราคาจะอยู่ที่ 32 – 35 บาท และที่ผ่านมายังไม่เคยมีการประกันราคาในเกรด AA มาก่อน นอกจากนี้ยังพบว่ายังมีปัญหาอื่นๆ ด้านการส่งออก และราคาลำไยที่ตกต่ำ รวมถึงปัญหาด้านรายได้ของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด หลังจากนี้ก็จะนำเสนอต่อท่านรัฐมนตรีให้ทราบ และจะได้ดำเนินการเข้า ครม. หรือดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรในด้านต่างๆ ต่อไป
สำหรับคณะทำงานชุดนี้แต่งตั้งตามคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ 795/2563 ลงนามโดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์การเกษตร โดยกำหนดกรอบอำนาจหน้าที่ของคณะทำงานฯ ชุดนี้ทำการศึกษา วิเคราะห์ และกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนระบบการผลิต การตลาด สินค้าลำไย เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสินค้าลำไยของประเทศไทย พร้อมทั้งให้กำหนดแผนงานส่งเสริมและสนับสนุนการผลิต การแปรรูป และการจัดจำหน่ายสินค้าลำไย โดยผลักดันให้เกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบการภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการผลิต การวิจัย พับนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร การตลาด การแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิตและผลิตภัณฑ์ลำไย และยกระดับการผลิตลำไยคุณภาพให้ได้มาตรฐานสอดคล้องกับความต้องการของตลาด
ทั้งนี้ก่อนการประชุมมีผู้แทนเกษตรกรชาวสวนลำไยจากหลายพื้นที่จังหวัดและอำเภอ มากกว่า 500 คน ได้นำช่อดอกไม้มาแสดงความขอบคุณรัฐบาลผ่าน นายนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) เพื่อขอบคุณในการที่รัฐบาลใน 3 เรื่อง เรื่องแรกเรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่สามารถช่วยให้พี่น้องเกษตรกรที่ประสบชะตากรรมในหลายๆเรื่องสามารถผ่านพ้นได้ในระดับหนึ่ง เรื่องที่ 2 ฝากขอบคุณจาการที่รัฐบาลแจกเงินเยียวยาจากการระบาดของโควิด-19 ให้แก่เกษตรกร รายละ 15,000 บาท ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนได้รับเงินถึงมือถ้วนทั่วโดยกระบวนการที่รอบครอบชัดเจน เรื่องที่ 3 การเห็นความสำคัญของพี่น้องเกษตรกรที่ได้แต่งตั้งให้เข้ามาเป็นคณะทำงานชุดนี้ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ถือเป็นความโชคดีของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนลำไยในการที่จะมีเวทีเช่นนี้สะท้อนปัญหา ความต้องการถึงรัฐบาลได้โดยตรง