วันจันทร์, 25 พฤศจิกายน 2567

“ยังแล้ง” ชลประทานจี้ให้ทำนาหลัง 15 ก.ค. แผนใช้น้ำเชื่อ เอาอยู่!! แต่ฝนต้องมาตามนัด

28 มิ.ย. 2020
1650

ฝนกระหน่ำเหนือเขื่อนรับอานุสงค์ถ้วนทั่ว เขื่อนแม่งัดฯ รับเข้ากว่า 2.4 ล้านคิว ส่วนเขื่อนแม่กวงฯ ได้น้ำเข้าอ่าง 1.7 ล้านคิว “ผส.ชป.1” ย้ำยังอยู่ในช่วงฝนทิ้งช่วงวิกฤติแล้งยังไม่จบ แนะให้ปลูกข้าวหลัง 15 ก.ค.ไปแล้ว “ผคบ.แม่แฝก-แม่งัดฯ” ยันไม่ปล่อยน้ำจากเขื่อนแม่งัดฯ ใช้จากแม่น้ำปิงและน้ำฝนเป็นหลัก พร้อมวางแผนปล่อยช่วยช่วงฝนทิ้งช่วงไว้ 9 รอบเวร มีให้ผลิตประปาไปถึงกลางสิงหา คาดหลังใช้น้ำทุกกิจกรรมจะเหลือน้ำสู้แล้งหน้า 170 ล้านคิว เชื่อฝ่าวิกฤติแล้งได้แต่ฝนต้องตกหน้าอ่างและมาตามนัดของกรมอุตุ ชี้เขื่อนแม่งัดฯ ยังรับพายุแบบเต็มๆ 3 ลูก ได้สบายๆ

วันที่ 28 มิ.ย. 63 ที่สำนักงานชลประทานที่ 1 อ.เมืองเชียงใหม่ นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 (ผส.ชป.1) รายงานสถานการณ์น้ำของเขื่อนใหญ่ทั้ง 2 แห่งของจังหวัดเชียงใหม่ ว่า ปริมาณน้ำกักเก็บในน้ำอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ณ วันที่ 28 มิ.ย. 63 เวลา 07.00 น. ระดับน้ำในอ่างฯ อยู่ที่ +372.960 ม. ปริมาณน้ำกักเก็บราว 50.400 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 19.02% ของความจุ น้ำระบายออก 13,284 ลบ.ม. และมีน้ำไหลเข้าอ่างน้ำเข้าอ่างฯ วันนี้ 2,385,284 ลบ.ม. ส่วนที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ข้อมูล ณ เวลาเดียวกัน ระดับน้ำในอ่างอยู่ที่ +362.760 ม. ปริมาณน้ำกักเก็บมีอยู่ราว 67.180 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 25.54% ของความจุ โดยมีน้ำส่งออกให้ประปาภูมิภาค 38.300 ลบ.ม. ประปาหัวงาน 10,000 ลบ.ม. และในวันนี้มีน้ำไหลเข้าอ่างฯ 1,748,946 ลบ.ม.

“แม้ว่าจะมีฝนในช่วงวันสองวันที่ผ่านมานี้ซึ่งได้น้ำเข้าเขื่อนเพิ่มมาขึ้นพอสมควร หากแต่ช่วงนี้ยังอยู่ในช่วงแล้. ซึ่งการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่า ฝนจะทิ้งช่วงไปจนถึงช่วงกลางเดือนกรกฎาคม และจะเข้าสู่ฤดูฝนเต็มที่หลังจากวันที่ 15 ก.ค. 63 ไปแล้ว ก็ขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้เริ่มปลูกข้าวหลังจากวันที่ 15 ก.ค.ไปแล้ว เพราะจะมีการตกของฝนสม่ำเสมอมากขึ้นเป็นฝนตามฤดูกาล โดยในช่วงนั้นหากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงอีกก็จะระบายน้ำจากเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำช่วยเหลือพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบ การใช้น้ำจะให้ความสำคัญกับน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นอันดับแรก โดยจะจัดสรรน้ำสนับสนุนการผลิตประปาของจังหวัดเชียงใหม่และลำพูนที่ได้วางแผนไว้อย่างเพียงพอ” นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผส.ชป.1 กล่าว

ทั้งนี้ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์น้ำได้ตลอดเวลา โดย สชป.1 เปิดศูนย์ประมวลและติดตามสถานการณ์น้ำ เพื่อติดตามและเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยจะรายงานข้อมูลให้ทราบ ผ่านเว็บไซต์ www.rid-1.com หรือโทรสอบถามสถานการณ์น้ำได้ทางโทร. 053-242822 และ 053-245081

ด้าน นายเฉลิมเกียรติ อินทกนก ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล (ผคบ.แม่แฝก-แม่งัดฯ) ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 63 ถึงการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลในช่วงฝนทิ้งช่วงที่จะถึงนี้ ว่า ปริมาณน้ำกักเก็บในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลขณะนี้มีอยู่ราว 18% ซึ่งหากคิดเป็นปริมาณน้ำจะมีอยู่ราว 48 ล้าน ลบ.ม. หากตัดยอดน้ำที่ใช้ไม่ได้ออกประมาณ 13 ล้าน ลบ.ม. จะเหลืออยู่ราว 35 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งวางแผนไว้ว่าจะสนับสนุนในช่วงฝนทิ้งช่วงตามที่ได้ประชุมร่วมกันกำหนดจะส่งน้ำไว้ที่ 9 รอบเวร รอบเวรละประมาณ 1.12 ล้าน ลบ.ม. รวมแล้วจะส่งน้ำช่วยช่วงฝนทิ้งช่วงราว 10 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งผ่านมาแล้ว 5 รอบเวร

“โดยการปฏิบัติในช่วงแรกมีการส่งน้ำไปช่วยท้ายเขื่อนแม่งัดฯ อยู่ 3 รอบเวร เนื่องจากมีฝนตกในพื้นที่ตอนท้าย มี 2 รอบเวรใช้น้ำจากแม่น้ำปิง ก็ประหยัดน้ำได้ราว 2 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งยังมีโควตาน้ำที่อยู่ในแผนจะต้องส่งได้อีกราว 7 ล้าน ลบ.ม. หากนำไปหักยอดน้ำที่ใช้ได้ 35 ล้าน ลบ.ม. เท่ากับเหลือน้ำใช้การได้ราว 28 ล้าน ลบ.ม. ก็จะเก็บไว้ใช้ในช่วงตกกล้า ซึ่งมติที่ประชุมตกลงให้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกจะส่งให้พื้นที่ของเขื่อนแม่งัดฯ ราว 30,000 ไร่ ส่วนที่ 2 ส่งสนับสนุนฝายแม่แฝกซึ่งเป็นส่วนที่ 2 ของโครงการ รวมแล้ว 20 ล้าน ลบ.ม. สำหรับการตกกล้าเตรียมแปลงของฤดูฝนปี 63 ซึ่งใช้เวลาประมาณ 60 วัน ใช้น้ำราว 20 ล้าน ลบ.ม. ก็จะเหลือน้ำในเขื่อนแม่งัดฯ ที่สามารถใช้ได้ราว 8 ล้าน ลบ.ม. ก็เชื่อว่าปริมาณน้ำที่สำรองไว้ 8 ล้านนี้สามารถยื้อไปได้ถึงช่วงฝนเต็มตัวได้” นายเฉลิมเกียรติ อินทกนก กล่าว

“ใน 9 รอบเวรที่ส่งในห้วงที่ฝนทิ้งช่วงนี้ น้ำสำหรับการผลิตน้ำประปาใช้ได้ถึงเดือนสิงหาคม หากว่าเกิดฝนทิ้งช่วงยาวไปถึงเดือนสิงหาคม น้ำอีก 8 ล้าน ลบ.ม. ที่เหลือสำรองไว้ก็ช่วยน้ำสำหรับผลิตน้ำประปาได้ ยืนยัน ณ เวลานี้ได้ว่าจนถึงกลางเดือนสิงหาคมแม้ว่าฝนทิ้งช่วงน้ำสำหรับผลิตน้ำประปาทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำปิงมีให้อย่างเพียงพอ” ผคบ.แม่แฝก-แม่งัดฯ กล่าว

นายเฉลิมเกียรติฯ กล่าวต่อว่า สำหรับการตกกล้าปลูกข้าวหรือการจะเริ่มทำนาของพี่น้องเกษตรกร ได้มีการประชุมร่วมกันแล้วที่ฝายแม่แฝก 1 ครั้ง ประชุมที่ว่าการอำเภอ 1 ครั้ง และประชุมในพื้นที่ตำบลสันผีเสื้อซึ่งมีเกษตรกรเรียกร้องอีก 1 ครั้ง ได้กำหนดร่วมกันแล้วว่านับตั้งแต่วันเรียกร้องจนถึงวันที่ 5 ก.ค. 63 จะสนับสนุนน้ำจากแม่น้ำปิงไปช่วยการเพาะปลูกเตรียมแปลงไปก่อน จำนวน 4 รอบเวร ให้ใช้ร่วมกับน้ำฝนที่ตกในพื้นที่ โดยจะไม่ปล่อยน้ำจากเขื่อนแม่งัดฯ จะใช้เฉพาะในช่วงฝนทิ้งช่วงเท่านั้น

“การบริหารจัดการในช่วงฝนปีนี้ จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก การส่งน้ำสนับสนุนพื้นที่เขื่อนแม่งัดฯ จะใช้น้ำจากเขื่อนแม่งัดฯ โดยตรง ซึ่งวางแผนไว้จะใช้น้ำราว 37 ล้าน ลบ.ม. ในส่วนที่ 2 พื้นที่ฝายแม่แฝก จะใช้น้ำจากแม่น้ำปิงเป็นหลัก เพราะฉะนั้นจะไม่สนับสนุนโดยการส่งน้ำจากเขื่อน คาดการณ์ว่าในปีนี้น้ำที่จะเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดฯ จะมีอยู่ราว 180 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งรวมกับของเดิม 40 ล้าน จะมีน้ำอยู่ 220 ล้าน หักจากการใช้ในโครงการและการสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ตลอด 2 ฝั่งแม่น้ำปิงราว 50 ล้าน สิ้นฤดูฝนก็น่าจะมีน้ำในเขื่อนแม่งัดฯ ราว 170 ล้าน ลบ.ม. นั่นเท่ากับว่าจะมีปริมาณเก็บกักสูงกว่าปีที่ผ่านมาเล็กน้อย แต่ตรงนี้ปริมาณฝนต้องเป็นไปตามคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาด้วย” นายเฉลิมเกียรติฯ กล่าว

“ปัญหาที่พบขณะนี้ซึ่งเป็นมาอย่างต่อเนื่องคือ ฝนมักตกท้ายเขื่อน ปริมาณน้ำที่เข้าเขื่อนเฉลี่ยอยู่ที่ 4 หมื่น ถึง 1 แสน ลบ.ม.ต่อวัน ซึ่งถือว่าน้อยมาก ซึ่งต้องรอฝนที่จะชุกในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมไปแล้ว ที่คาดว่าร่องมรสุมจะเคลื่อนจากจีนลงมาพาดบริเวณภาคเหนือก็จะได้น้ำอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยส่วนหนึ่ง และหากเป็นไปตามที่อุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ต้นเดือนสิงหาคมมีพายุหมุนเขตร้อนพัดเข้าสู่ประเทศไทย 1-2 ลูก ช่วงนั้นก็จะได้น้ำอีกจำนวนหนึ่ง โดยศักยภาพของอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดฯ แล้ว ยังรับน้ำได้อีกมาก พายุลูกหนึ่งได้น้ำราว 50 ล้าน ลบ.ม. หากตกหน้าเขื่อนแม่งัดฯ กับปริมาณน้ำที่มีอยู่ขณะนี้ พายุ 3 ลูกเข้ามาเต็มๆ เขื่อนแม่งัดฯ รับได้สบายๆ” ผคบ.แม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล กล่าวในที่สุด