“น้ำน้อยวอนใช้อย่างประหยัด” คป.เชียงใหม่ แจงปริมาณน้ำทั้งจังหวัดอยู่ในเกณฑ์น้อย ย้ำชัดน้ำอุปโภคบริโภคมีใช้จนถึงกลางเดือนกรกฎาคม รวมถึงเตรียมไว้แล้วสำหรับสนับสนุนประเพณีสงกรานต์ ส่งข้อมูลพิกัดแหล่งน้ำสำหรับดับไฟป่าทุกอำเภอให้จังหวัดแล้ว มีครบทั้ง 25 อำเภอ
ที่ประชุมกรมการจังหวัดเชียงใหม่ นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม โครงการชลประทานเชียงใหม่ หรือ ฝวศ.คป.เชียงใหม่ รายงานต่อที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดเชียงใหม่ ว่า สถานการณ์น้ำในจังหวัดเชียงใหม่อยู่ในเกณฑ์น้อย ใคร่ขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกันประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนชาวเชียงใหม่ให้ใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในอนาคตอย่างยั่งยืน โดยระบุว่า ปริมาณน้ำภาพรวมจังหวัด เขื่อนขนาดใหญ่ มี 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลซึ่งมีความจุอ่าง 265 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปริมาณน้ำกักเก็บขณะนี้มีเพียง 130.463 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 49.23% และเขื่อนแม่กวงอุดมธาราซึ่งมีความจุอ่างที่ 263 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะนี้มีปริมาณน้ำอยู่เพียง 73.32 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 27.88% เท่านั้น เมื่อรวมทั้งสองอ่างมีปริมาณน้ำกักเก็บเพียง 203.783 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 38.60%
นายเกื้อกูลฯ กล่าวต่อว่า สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 12 แห่ง รวมความจุอ่าง 86.657 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ที่ 28.53 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 54.46% อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ความจุตั้งแต่ 1 แสน ลบ.ม.ขึ้นไป 117 แห่ง รวมความจุอ่าง 65.443 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ราว 35.638 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 51.59% และถ้ารวมปริมาณน้ำในอ่างขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก รวมความจุ 679.787 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำ 267.951 ล้านลูกบาศก์เมตร
ส่วนการกักเก็บน้ำไว้ในลำน้ำปิงผ่านประตูระบาย/ฝาย ต่างๆ ในลำน้ำปิง ปริมาณน้ำเก็บกักไว้ได้ด้านหน้าฝาย/ประตูระบาย 16.249 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 67.19% แก้มลิงเก็บน้ำเพื่อสนับสนุนน้ำดิบสำหรับการผลิตน้ำประปาฝั่งตะวันตกของเมืองเชียงใหม่ สามารถเก็บกักไว้ได้ 3.98 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 58%
“ในปี 2563 มีน้ำกักเก็บในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลมีมากกว่าในปีที่แล้งที่สุดคือ ปี 2559 อยู่ประมาณ 2 เท่า สำหรับเขื่อนแม่กวงอุดมธาราปีนี้มีน้ำอยู่ราว 73 ล้าน ลบ.ม. ส่วนปีที่แล้งที่สุด ปี 2559 มีน้ำอยู่เพียง 31 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งได้มีการบริหารจัดการน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอและน้ำเพื่อการเกษตรบางส่วนก็มีการบริหารจัดการผ่านวิกฤติแล้งในปีนั้นมาได้ ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีน้ำกักเก็บต่ำกว่า 30% มีด้วยกัน 2 แห่งคือ อ่างเก็บน้ำห้วยเดื่อ อ.ฝาง และอ่างเก็บน้ำแม่ตูบ ที่ อ.ดอยเต่า ที่สำคัญกับทุกอำเภอคือ อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กทั้ง 117 แห่ง ปัจจุบันมีปริมาณอยู่ราวครึ่งของความจุรวมทั้งหมด” ฝวศ.คป.เชียงใหม่ กล่าว
“ที่สำคัญที่สุดคือ น้ำสำหรับอุปโภคบริโภค น้ำดิบสำหรับการผลิตประปาของทั้งเมืองเชียงใหม่ รวมถึงพื้นที่อำเภอต่างๆ หากมีการใช้น้ำดิบจากแหล่งน้ำของชลประทาน น้ำดิบสำหรับการนี้มีเพียงพอ มีการวางแผนไว้แล้วจะสามารถใช้ได้ถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2563 สำหรับในเขตเมืองนั้นมีแก้มลิงเก็บน้ำไว้ราว 4 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งสามารถสนับสนุนการผลิตน้ำประปาของตัวเมืองเชียงใหม่รวมถึงน้ำสำหรับสนับสนุนคูเมืองเชียงใหม่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์” นายเกื้อกูลฯ กล่าว
ฝวศ.คป.เชียงใหม่ แจงอีกว่า โครงการชลประทานทุกพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่บริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ พร้อมจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และรถบรรทุกน้ำ ให้พร้อมใช้งานได้อยู่เสมอ นอกจากนี้ ยังได้มีการกำจัดวัชพืชบริเวณประตูระบายในแม่น้ำปิงไม่ให้กีดขวางทางน้ำ รวมถึงตรวจสอบระบบและอาคารชลประทาน ให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ นอกจากนี้ยังมีการบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงาน หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 32ในการขุดลอกสันดอนในแม่น้ำปิงบริเวณตำบลป่าแดด อ.เมืองเชียงใหม่ เพื่อช่วยระบายน้ำ ปริมาตร 20,000 ลบ.ม. ไปด้านท้ายประตูระบายน้ำ นอกจากนี้ยังได้มีการประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบและตระหนักถึงคุณค่าของน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังให้ประชาชนชาวเชียงใหม่มีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งนี้
“สำหรับทุกอำเภอในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โครงการชลประทานเชียงใหม่ได้จัดทำพิกัดตำแหน่งแหล่งน้ำซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางขนาดเล็กโดยแยกเป็นรายอำเภอส่งให้ทางสำนักงานจังหวัดเชียงใหม่แล้ว เพื่อจะเป็นแหล่งน้ำสำหรับสนับสนุนการดับไฟป่าในห้วงการเฝ้าระวังไฟป่าหมอกควันที่กำลังจะมาถึง แต่ละอำเภอสามารถขอข้อมูลได้ที่สำนักงานจังหวัดเชียงใหม่” นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล ฝวศ.คป.เชียงใหม่ กล่าว