แบ่งเขต อบจ.เชียงใหม่ ใกล้ได้ข้อสรูป วันที่ 7-16 ก.พ.นี้ นำทั้ง 3 แบบเปิดรับฟังความเห็น “เกรียงไกร” เผยมีแค่ อ.เมือง กับ ดอยสะเก็ด ต้องแบ่งเขตใหม่ พร้อมเปิดรับสมัคร กกต.ท้องถิ่น ทุก อปท. ใครสนใจยื่นใบสมัครได้ ณ อปท.ที่ประสงค์ รับสมัคร 3-7 ก.พ. นี้เท่านั้น
ที่ประชุมกรมการจังหวัดเชียงใหม่ประจำเดือนมกราคม 2563 นายเกรียงไกร พานดอกไม้ ผู้อำนวยการสำนักงานการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงใหม่ ได้แจงถึงการเตรียมความพร้อมการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ว่า ต้องย้ำต่อที่ประชุมก่อนว่าที่มาชี้แจงครั้งนี้เป็น การเตรียมความพร้อม แม้ว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ออกมาครบทุกฉบับแล้ว รวมทั้งระเบียบ กกต. เกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นก็มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งในส่วนที่ต้องเตรียมการที่จะเรียนต่อที่ประชุมกรมการเมืองครั้งนี้มีด้วยกัน 2 เรื่อง โดยเรื่องแรกคือเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง
นายเกรียงไกร พานดอกไม้ กล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ มีทั้งสิ้น 211 แห่ง อปท. ที่ต้องแบ่งเขตได้แก่ เทศบาลตำบล 116 แห่ง เทศบาลเมือง เทศบาลนคร และองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่จะต้องมีการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส่วนองค์การบริหารส่วนตำบลไม่ต้องแบ่งเขตเลือกตั้งเพราะใช้หมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้ง ซึ่งการแบ่งเขตเลือกตั้งมีคณะกรรมการคณะหนึ่งรับผิดชอบ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน ปลัดจังหวัด โยธาธิการฯ จังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด ที่ดินจังหวัด ผู้แทน อปท. ที่จะมีการเลือกตั้ง และมี ผอ.กกต.เชียงใหม่ เป็นเลขานุการ
“คณะกรรมการแบ่งเขตเลือกตั้งของเชียงใหม่ได้มีการประชุมแล้ว 1 ครั้ง ในการแบ่งเขตเลือกตั้ง ผอ.กกต.จะเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งมีขั้นตอนประกอบด้วย การจัดทำร่างเขตเลือกตั้งของ อปท. ที่จะแบ่งทำเป็น 3 รูปแบบ จากนั้นจะนำไปปิดประกาศให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นว่ารูปแบบใดจะเหมาะสมกับท้องถิ่นของตน จะปิดประกาศเป็นเวลา 10 วัน โดยการแบ่งเขตเลือกตั้งขององค์กรบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่จะปิดประกาศระหว่างวันที่ 7 – 16 ก.พ. 63 นี้ จากนั้นให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรส่งมายัง กกต.เชียงใหม่ ซึ่งจะทำการรวบรวมส่งให้คณะกรรมการแบ่งเขตเลือกตั้งจังหวัดเชียงใหม่พิจารณา แล้วส่งต่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้งให้ความเห็นชอบในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งแล้วประกาศให้เป็นรูปแบบของการแบ่งเขตเลือกตั้ง อปท. นั้น” ผอ.กกต.เชียงใหม่ กล่าว
“ขณะนี้ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่อยู่ระหว่างการตรวจสอบรูปแบบการแบ่งเขตทั้ง 3 แบบ เพื่อให้จำนวนประชากรในแต่ละเขตที่แบ่งมีจำนวนใกล้เคียงกัน ไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ส่วนอำเภอที่มีการเปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้งมีด้วยกัน 2 อำเภอ คือ อ.เมืองเชียงใหม่ ที่แต่เดิมมี 6 เขตเลือกตั้ง จะเหลือเพียง 5 เขตเลือกตั้ง และ อ.ดอยสะเก็ด แต่เดิมมี 1 เขตเลือกตั้ง ของใหม่นี้มีด้วยกัน 2 เขตเลือกตั้ง ที่เหลืออีก 23 อำเภอ ยังคงเขตเลือกตั้งและจำนวน ส.อบจ. แบบเดิม” นายเกรียงไกรฯ กล่าว
ผอ.กกต.เชียงใหม่ กล่าวต่อว่า ในแต่ละ อปท. หัวหน้าพนักงานส่วนท้องถิ่น หรือปลัด อปท. นั้น จะมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่นนั้นโดยกฎหมาย และจะมีคณะกรรมการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ กกต.ท้องถิ่น ซึ่งจะต้องมีการสรรหาโดยเปิดโอกาสให้ข้าราชการ หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยทั่วไป ได้สมัครเข้ามาเป็น กกต.ท้องถิ่น โดย อบจ.จะมี 5 คน ส่วนเทศบาลและ อบต. จะมี กกต.ท้องถิ่น แห่งละ 3 คน
นายเกรียงไกรฯ กล่าวต่อว่า กกต.ท้องถิ่น คือ คณะบุคคลที่ กกต. แต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในเขต อปท.ที่ได้รับการแต่งตั้ง จะมีหน้าที่ในการเสนอแนะให้ความเห็นชอบในการกำหนดหน่วยเลือกตั้ง ที่เลือกตั้ง การแต่งตั้งเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง รวมทั้งการตรวจสอบและให้ความเห็นชอบบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง การกำกับดูแลและอำนวยการเลือกตั้ง การลงคะแนน การนับคะแนน การประกาศผลคะแนนเลือกตั้งของ อปท.นั้น ซึ่งจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ กกต. ประกาศให้มีการเลือกตั้งจนถึงวันที่ กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง กล่าวคือมีระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ประมาณ 3 เดือนเศษถึง 4 เดือน แต่ อปท.ใดมีเหตุร้องเรียนคัดค้านการเลือกตั้งก็จะขยายเวลาการปฏิบัติหน้าที่ออกไปอีกประมาณ 1 เดือน
“สำหรับคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัคร กกต.ท้องถิ่น ต้องมีสัญชาติไทย มีความเป็นกลางทางการเมือง ซึ่งจะมีการตรวจสอบว่าผู้สมัครคนนั้นอยู่ในกลุ่มก๊วนกลุ่มการเมืองใด ส่วนลักษณะต้องห้ามก็มีลักษณะต้องห้ามทั่วๆ ไป หากว่าไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งการเลือกตั้ง สส. ครั้งที่ผ่านมา ไม่สามารถสมัครได้ ส่วนผู้ที่เป็นข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่สามารถสมัครได้ ส่วนหลักฐานการสมัครและใบสมัครสามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงใหม่” ผอ.กกต.เชียงใหม่ กล่าว
นายเกรียงไกร พานดอกไม้ กล่าวอีกว่า กกต.ท้องถิ่น จะเปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 3 – 7 ก.พ. 63 ถ้าประสงค์จะสมัครเป็น กกต.ท้องถิ่นใด ก็ยื่นสมัครที่ท้องถิ่นนั้น ถ้าจะสมัครเป็น กกต.ท้องถิ่นของ อบจ.เชียงใหม่ ต้องมีชื่ออยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ถ้าเป็นข้าราชการต้องปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดเชียงใหม่ หรือถ้าจะสมัครเป็น กกต.ท้องถิ่นของเทศบาลหรือ อบต.ใด ต้องมีชื่ออยู่ในอำเภอที่ท้องถิ่นนั้นตั้งอยู่ และถ้าเป็นข้าราชการก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ในเขตอำเภอที่ท้องถิ่นนั้นตั้งอยู่
“ขอเชิญชวนให้ผู้ที่มีคุณสมบัติประสงค์จะทำงานในหน้าที่ กกต.ท้องถิ่น ยื่นใบสมัครได้ที่ อปท. นั้น ระหว่างวันที่ 3 – 7 ก.พ. 63 ส่วนจะมีการเลือกตั้งเมื่อไรนั้นต้องรอ กกต. ประกาศ ส่วน กกต.จะประกาศเมื่อไรนั้น ก็ต้องรอ ครม. แจ้ง จะเลือก อบจ.ก่อน เทศบาลก่อน หรือ อบต. ก่อน ก็ต้องรออีกเช่นกัน” นายเกรียงไกร พานดอกไม้ ผอ.กกต.เชียงใหม่ กล่าวในที่สุด
ทั้งนี้การประชาสัมพันธ์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นการเปิดรับสมัคร กกต.ท้องถิ่น มีเพียงไม่กี่แห่งที่มีป้ายประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ อย่างเช่นในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ เห็นเพียงแค่ป้ายประชาสัมพันธ์ของเทศบาลตำบลป่าแดดเท่านั้น