“รอยเลื่อนเวียงแหง” รอยเลื่อนมีพลังป้ายแดง กลุ่มที่ 16 ใหม่ล่าสุดของไทย พาดยาวกว่า 100 กม. ผ่าน 37 หมู่บ้าน 8 ตำบล 4 อำเภอของเชียงใหม่ ทั้ง 16 กลุ่มรอยเลื่อนอยู่ในภาคเหนือ 12 อธิบดีทรัพยากรธรณีย้ำอย่าตระหนก แจงการพบรอยเลื่อนใหม่เป็นเรื่องปกติ ชี้ประชาชนทั้ง 37 หมู่บ้านต้องตระหนักรู้ในการรับมือแผ่นดินไหว ขออย่างตระหนก
เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรธรณี มีการแถลงข่าวที่กรุงเทพมหานคร ในประเด็นหัวข้อ “รอยเลื่อนเวียงแหง : รอยเลื่อนมีพลังที่ 16 ของประเทศไทย” โดยมี นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เป็นประธาน พร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตรด้านธรณีพิบัติภัยแผ่นดินไหว ประกอบด้วย กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 1 กรมทรัพยากรธรณี
นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า กรมทรัพยากรธรณี ดำเนินการสำรวจรอยเลื่อนมีพลังซึ่งเป็นบริเวณศูนย์เกิดแผ่นดินไหว พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีแนวรอยเลื่อนมีพลัง จำนวน 15 กลุ่มรอยเลื่อน ประกอบด้วย 1) กลุ่มรอยเลื่อนแม่จัน จังหวัดเชียงราย – เชียงใหม่ 2) กลุ่มรอยเลื่อนแม่อิง จังหวัดเชียงราย 3) กลุ่มรอยเลื่อนเมย จังหวัดตาก – กำแพงเพชร 4) กลุ่มรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี – กำแพงเพชร – อุทัยธานี – ตาก 5) กลุ่มรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรี 6) กลุ่มรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน – ตาก 7) กลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา จังหวัดเชียงใหม่ – ลำพูน – เชียงราย 8) กลุ่มรอยเลื่อนเถิน จังหวัดลำปาง – แพร่ 9) กลุ่มรอยเลื่อนพะเยา จังหวัดพะเยา – เชียงราย – ลำปาง 10) กลุ่มรอยเลื่อนอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ 11) กลุ่มรอยเลื่อนปัว จังหวัดน่าน 12) กลุ่มรอยเลื่อนระนอง จังหวัดระนอง – ชุมพร – ประจวบคีรีขันธ์ – พังงา 13) กลุ่มรอยเลื่อนคลองมะลุ่ย จังหวัดสุราษฏร์ธานี กระบี่ – พังงา – ภูเก็ต 14) กลุ่มรอยเลื่อนแม่ลาว จังหวัดเชียงราย และ 15) กลุ่มรอยเลื่อนเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ – เลย โดยกลุ่มรอยเลื่อนมีพลังดังกล่าวพาดผ่านพื้นที่ 22 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งกรมทรัพยากรธรณี ได้ทำการสำรวจธรณีวิทยาแผ่นดินไหวโบราณกาล พบว่ารอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทยเคยก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขึ้นในอดีต สูงสุดขนาด 7.0 จัดเป็นแผ่นดินไหวค่อนข้างใหญ่ (Strong Earthquake) มีรอบการเกิดในคาบเวลา 1,000 ปี
อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวอีกว่า “รอยเลื่อนเวียงแหง” รอยเลื่อนมีพลังที่ 16 ของไทย มีการวางตัวตามแนวเหนือ-ใต้ บริเวณใกล้ชายแดนประเทศเมียนมา จาก อ.เวียงแหง ถึง อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ มีความยาวประมาณ 100 กิโลเมตร พาดผ่าน 37 หมู่บ้าน ใน 8 ตำบล ของ 4 อำเภอ จัดเป็นชนิดรอยเลื่อนปกติที่มีการเลื่อนตัวลงในแนวดิ่งเป็นหลัก (Normal fault) โดยมีอัตราการเลื่อนตัวระยะยาว 0.11 มิลลิเมตรต่อปี สำหรับพื้นที่ 37 หมู่บ้าน ประกอบด้วย 1. อ.เชียงดาว ในพื้นที่หมู่ที่ 1, 2, 3 และหมู่ที่ 4 ต.เมืองคอง 2. อ.แม่แตง ในพื้นที่หมู่ที่ 7 ต.กื๊ดช้าง หมู่ที่ 1, 2, 3, 4, 5, 6 และหมู่ที่ 10 ต.ป่าแป๋ 3. อ.เวียงแหง ในพื้นที่หมู่ที่ 1, 3, 4, 5, และหมู่ที่ 6 ต.เปียงหลวง หมู่ที่ 1, 2, 4, 5, 7, 8 และหมู่ที่ 9 ต.เมืองแหง หมู่ที่ 1, 2, 3, 4 และหมู่ที่ 5 ต.เวียงแหง หมู่ที่ 1, 2, 3, 4, และหมู่ที่ 5 ต.แสนไห และ 4. อ.สะเมิง พาดผ่านในพื้นที่หมู่ที่ 2, 3, 4, 5, 7 และหมู่ที่ 9 ต.สะเมิงใต้ หมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 4 ต.สะเมิงเหนือ
“รอยเลื่อนทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ 11 รอยเลื่อน หากรวมกับรอยเลื่อนใหม่นี้ “รอยเลื่อนเวียงแหง” ภาคเหนือจะมีรอยเลื่อนเป็น 12 รอยเลื่อน ภาคกลาง 2 รอยเลื่อน ภาคใต้อีก 2 รอยเลื่อน โดยรอยเลื่อนทั้งหมดในประเทศไทยเป็นรอยเลื่อนที่มีพลังขนาดกลางๆ ไม่มีพลังทำให้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงมากหากเปรียบเทียบรอบเลื่อนทางเมียนมาร์ หรือญี่ปุ่น ที่คาดการณ์ไว้น่าจะอยู่ในระดับที่ขนาดไม่เกิน 7.0 เกี่ยวกับขนาดความรุนแรงของแผ่นดินไหวนี้จำเป็นที่จะต้องมีการศึกษากันอีกต่อไป” นายสมหมายฯ กล่าว
อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวอีกว่า ความสำคัญของการค้นพบรอยเลื่อนมีพลังใหม่ของประเทศไทย คือ รอยเลื่อนเวียงแหง ต้องการที่จะสร้างการรับรู้เรื่องการรับมือจากภัยพิบัติแผ่นดินไหว ที่ในอนาคตอาจมีโอกาสเกิดขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ทั้ง 37 หมู่บ้านนี้ว่ามีรอบเลื่อนพาดผ่าน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เกิดการตื่นตระหนก เพียงให้รับรู้ว่า หากมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นจะเกิดจากรอยเลื่อนนี้ การค้นพบรอยเลื่อนใหม่นี้ถือเป็นเรื่องปกติซึ่งจะต้องมีการวิจัยเพิ่มอีกต่อไป ดังนั้น ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว ไม่ควรกังวล หรือตื่นตระหนก เพราะหากเทียบกับปัจจุบัน ในพื้นที่เวียงแหงและพื้นที่ใกล้เคียง ถือว่าอยู่ใกล้เคียงกับจุดรอยเลื่อนอื่นๆ ซึ่งสามารถเกิดการสั่นสะเทือน ในระดับ 2 – 3 อยู่เป็นปกติอยู่แล้ว เมื่อทราบว่าอยู่ในแนวรอยเลื่อนมีพลังใหม่ ประชาชนจึงควรรับรู้ และตระหนักถึงวิธีการรับมือ พร้อมคำนึงถึงการก่อสร้างอาคาร บ้านพัก ที่ต้องให้ความสำคัญเรื่องโครงสร้างเพิ่มมากขึ้นด้วย
นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวต่อว่า ข้อมูลรอยเลื่อนมีพลังแห่งใหม่ จะเป็นประโยชน์ทั้งในส่วนภาครัฐ ที่จะมีข้อมูลเพื่อใช้เฝ้าระวัง ป้องกัน และรับมือเชิงพื้นที่โดยเฉพาะการเป็นข้อมูลสำคัญ ให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ใช้กำหนดหลักเกณฑ์การก่อสร้างอาคาร บ้านเรือน ในพื้นที่รอยเลื่อนดังกล่าว จะต้องเพิ่มความระมัดระวัง และกำหนดโครงสร้างที่แข็งแรง มากกว่าพื้นที่อื่น ๆ ขณะที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะได้ใช้ข้อมูลนี้ เพื่อเตรียมการป้องกัน รับมือเหตุภัยพิบัติจากแผ่นดินไหว ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต