วันที่ 13 มิ.ย. 62 บริเวณด้านหน้าอาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายวิรุฬ พรรณเทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดงานวันมะม่วงและของดีเมืองเชียงใหม่ ครั้งที่ 10 ประจำปี 2562 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12–14 มิถุนายนนี้ โดยมี นายสมพล แสนคำ เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยเครือข่ายกลุ่มผู้ปลูกมะม่วงเพื่อการส่งออกจังหวัดเชียงใหม่ วิสาหกิจชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงานจำนวนมาก
นายสมพล แสนคำ เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การจัดงานวันมะม่วงและของดีเมืองเชียงใหม่ จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการผลิตและการตลาดมะม่วง ในฐานะพืชเศรษฐกิจที่มีศักยภาพด้านการตลาดและการส่งออก เป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญและมีศักยภาพของจังหวัดเชียงใหม่ โดยการส่งเสริมการผลิตมะม่วงมีคุณภาพดี ปลอดภัย รูปทรงสวย รสชาติดี และมีโอกาสทางการตลาดสูง โดยเฉพาะมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ยังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดการบริโภคมะม่วงของเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงในจังหวัดเชียงใหม่ และส่งเสริมการติดต่อเจรจาธุรกิจด้านการค้า เพื่อขยายฐานตลาดส่งออกมะม่วง ตลอดจนส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ซึ่งมีกลุ่มผู้ผลิตมะม่วง 15 กลุ่ม ใน 15 อำเภอ อีกด้วย
“ในปีนี้ถือเป็นโอกาสครบรอบ 10 ปี ของการจัดงานวันมะม่วงและของดีเมืองเชียงใหม่ หรือ 1 ทศวรรษงานวันมะม่วงและของดีเมืองเชียงใหม่ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้จัดให้มีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย อาทิ การประกวดผลผลิตมะม่วงและมะม่วงแปรรูป จำนวน 15 ชนิด การแสดงนิทรรศการความหลากหลายของสายพันธุ์มะม่วง และสายพันธุ์มะม่วงทางเลือกในจังหวัดเชียงใหม่ กว่า 100 สายพันธุ์ การจำหน่ายผลผลิตมะม่วงคุณภาพดีมาตรฐานส่งออกของทุกสายพันธุ์ในราคาที่ยุติธรรม รวมถึงผลิตภัณฑ์มะม่วง และกล้าพันธุ์มะม่วง การสาธิตการขยายพันธุ์มะม่วง การทำอาหารและขนมจากมะม่วง การแปรรูปมะม่วง การจำหน่ายของดีเมืองเชียงใหม่จาก 25 อำเภอ การแสดงนิทรรศการความก้าวหน้าการผลิตมะม่วงและนวัตกรรมการเกษตรจากภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและเอกชน การแสดงดนตรีพื้นเมืองและศิลปะการแสดงล้านนา การแข่งขันตำมะม่วงลีลารำวงย้อนยุค และอื่นๆ อีกมากมาย” เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ กล่าว
ทั้งนี้ผลการประกวด “มะม่วง” ในงานวันมะม่วง และของดีเมืองเชียงใหม่ ครั้งที่ 10 ผู้ที่ได้รับรางวัลที่ 1 จากการประกวดมะม่วงประเภทต่างๆ มี ดังนี้ การประกวดมะม่วงพันธุ์ยักษ์ ได้แก่ นายวัฒนา อิ่นแก้วมูล การประกวดมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้เบอร์ 4 (สุก) ได้แก่ นางบุญศรี อรุณศิโรจน์ การประกวดมะม่วงพันธุ์จินหวง ได้แก่ นางบัวคำ จอมใจตระกูล การประกวดมะม่วงพันธุ์มันขุนศรี (ดิบ) นายนพชัย ต. ตระกูล การประกวดมะม่วงพันธุ์โชคอนันต์ (สุก) ได้แก่ นายสุรพล อรุณศิโรจน์ การประกวดมะม่วงพันธุ์ R 2 E 2 ได้แก่ นางสายฝน ชนกเศรณี การประกวดมะม่วงพันธุ์เขียวเสวย (ดิบ) นายนพชัย ต. ตระกูล การประกวดมะม่วงพันธุ์มหาชนก ได้แก่ นางอำไพ ฮ้องสาย การประกวดมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง ได้แก่ นางสาวศิริรัตน์ ตุ่นคำหน้อย การประกวดมะม่วงพันธุ์แก้ว (ดิบ) ได้แก่ นางลัดดา จิตติปัญญา การประกวดมะม่วงพันธุ์รูปแปลกใหญ่ ได้แก่ นายนิพล พรหมหล้า การประกวดมะม่วงพันธุ์แดงจักรพรรดิ์ ได้แก่ นายสุบิน ถาริยะ การประกวดมะม่วงพันธุ์พวงดก ได้แก่ นายเชิดชาย เพชรอักษร การประกวดมะม่วงพันธุ์งาช้างแดง ได้แก่ นายวรกานต์ โยตา และการประกวดแปรรูปมะม่วงอบแห้ง ได้แก่ มาดามแมงโก้
นายสมพล แสนคำ เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า มะม่วงเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญและมีศักยภาพของจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากมีสภาพดินฟ้าอากาศเหมาะสม ทำให้ผลผลิตมะม่วงจังหวัดเชียงใหม่ มีคุณภาพดี ทรงดี สีสวย รสชาติดี นอกจากนั้นยังมีโอกาสทางการตลาดสูง เนื่องจากมะม่วงที่มีคุณภาพมาตรฐานและออกล่าฤดู (หลังฤดู) ตั้งแต่เดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2562 โดยเฉพาะมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองยังเป็นที่ต้องการของตลาดทั่วโลก
“ปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ปลูกมะม่วงรวมกว่า 75,000 ไร่ เนื้อที่ให้ผลผลิต 54,425 ไร่ มีเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงทั้งหมด 16,375 ราย แต่เป็นมะม่วงที่ปลูกเพื่อการค้า/การส่งออก 45,000 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย แต่มีการรวมตัวในลักษณะกลุ่ม/วิสาหกิจชุมชน เพื่อร่วมดำเนินกิจกรรมการผลิต การควบคุมคุณภาพและการทำการตลาดร่วมกัน จังหวัดเชียงใหม่ มีกลุ่มผู้ปลูกมะม่วงรวม 15 กลุ่ม ใน 11 อำเภอ ได้แก่ อำเภอฝาง แม่อาย ไชยปราการ เวียงแหง เชียงดาว พร้าว แม่แตง สันทราย ดอยหล่อ จอมทอง ฮอด และอำเภอดอยเต่า ปัจจุบันกลุ่มผู้ปลูกมะม่วงได้มีความก้าวหน้าในการรวมตัวเป็นเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนชาวสวนมะม่วงเชียงใหม่ (ค.ชม) หรือ Chiang Mai Mango Grouwers Enterprise Network (CMGEN)” เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ กล่าว
นายสมพล กล่าวอีกว่า ตลาดมะม่วงคุณภาพของจังหวัดเชียงใหม่ มี 2 ลักษณะ ได้แก่ ตลาดภายในประเทศ คิดเป็น 65 เปอร์เซ็นต์ ได้แก่ ตลาดในกรุงเทพฯ ปริมณฑล เช่น ตลาดมหานาค, ตลาดปากคลองตลาด, ตลาดสี่มุมเมือง, ตลาดไท และตลาดตามจังหวัดต่างๆ อีกลักษณะเป็น ตลาดต่างประเทศ คิดเป็น 35 เปอร์เซ็นต์ แต่มีมูลค่าราคาตามตลาดในประเทศ 4-5 เท่า ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น, สาธารณรัฐประชาชนจีน, ฮ่องกง, เกาหลี, มาเลเซีย, ยุโรป, อเมริกา, สิงคโปร์ ซึ่งเป็นตลาดที่มีความสำคัญของมะม่วงจังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง โดยมีปริมาณการส่งออก 35,000 ตัน มูลค่ารวมราว 300 – 600 ล้านบาท