วันจันทร์, 25 พฤศจิกายน 2567

เชียงใหม่ติวเข้ม 210 ท้องถิ่นเตรียมรับมือภัย “รองคมสัน” ย้ำชัด นายกท้องถิ่นมีอำนาจเต็ม!! จัดการสาธารณภัยได้ตามกฎหมาย

10 มิ.ย. 2019
2173

เรียกท้องถิ่นที่ 210 แห่ง ติวเข้มรับมือสาธารณภัย รองพ่อเมืองคมสันแจงชัดกลางวงถก พ.ร.บ.ปภ.มาตรา 20 บัญญัติชัดให้อำนาจผู้บริหารท้องถิ่นจัดการได้ทุกรูปแบบตามสถานการณ์ แจงแนวคิดใหม่จัดการสาธารณภัยเน้นให้ความสำคัญการลดความเสี่ยงการเกิดพิบัติภัย หวังยกระดับหน่วยปฏิบัติ เพิ่มสมรรถนะให้แก่ท้องถิ่น

วันที่ 10 มิ.ย. 62 ที่ ฮอไรซั่น วิลเลจ แอนด์รีสอร์ท (สวนทวีชล) อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดกิจกรรมตามโครงการ “เชียงใหม่ปลอดภัย ภายใต้กลไกประชารัฐ ตามหลักเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” ซึ่งเป็นกิจกรรมสร้างการรับรู้และสร้างความตระหนักในการเตรียมความพร้อมให้แก่หน่วยงานระดับท้องถิ่นและหน่วยปฏิบัติงาน โดยมี นายไพรินทร์ ลิ่มเจริญ ปภ.เชียงใหม่ กล่าวรายงานความเป็นมา วัตถุประสงค์ และแนวทางในการดำเนินกิจกรรมตามโครงการฯ

นายคมสัน สุวรรณอัมพา รอง ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงทำให้เกิดความเสี่ยง และโอกาสที่จะเกิดภัยพิบัติเพิ่มขึ้น และสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่เลือกช่วงเวลา เช่น แผ่นดินไหว โรคระบาด ดังนั้น จำเป็นต้องสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยประชาชนจังหวัดเชียงใหม่จึงควรมีความเข้าใจถึงสถานการณ์สาธารณภัยและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของตนเอง และสามารถมีการสร้างการเตรียมความพร้อมรับมือกับสาธารณภัยที่อาจเกิดขึ้น และช่วยลดปัจจัยที่ทำให้พื้นที่ของชุมชนตนเองมีความเสี่ยงภัยลดลง

“พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 มาตรา 20 กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่ มีหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในเขตท้องถิ่นของตน โดยมีผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่นั้นเป็นผู้รับผิดชอบในฐานะผู้อำนวยการท้องถิ่น และมีหน้าที่ช่วยเหลือผู้อำนวยการจังหวัดและผู้อำนวยการอำเภอตามที่ได้รับมอบหมาย และมีปลัดเทศบาล ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการท้องถิ่น” รอง ผวจ.เชียงใหม่ ย้ำ

นายคมสันฯ กล่าวต่อว่า แนวคิดในการจัดการสาธารณภัยยุคใหม่ให้ความสำคัญในเรื่องของการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ โดยมุ่งให้ประชาชน ชุมชนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม ในการดำเนินการในทุกขั้นตอน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด และมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายจึงมีหน้าที่ในการสนับสนุน ส่งเสริมการขับเคลื่อนให้ประชาชน และอาสาสมัครในพื้นที่ชุมชน/ท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

“นอกจากนี้การดำเนินการในภาวะฉุกเฉินซึ่งเป็นการปฏิบัติการเพื่อลดความรุนแรงของสาธารณภัย และสร้างความมั่นใจ ในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นระเบียบ โดยยึดถือว่าการรักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นเรื่องเร่งด่วนลำดับแรกที่จะต้องเร่งเข้าระงับและให้ความช่วยเหลือ ในกรณีดังกล่าว จึงจำเป็นต้องนำระบบบัญชาการเหตุการณ์ มาใช้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งพื้นที่ จะต้องจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินท้องถิ่นเมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้น โดยมีผู้อำนวยการท้องถิ่น เป็นผู้บัญชาการและสั่งการ ทำหน้าที่จัดการสาธารณภัยที่เกิดขึ้นจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาพวะปกติ โดยการสนับสนุนจากกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในระดับต่าง ๆ ดังนั้นในภาวะปกติจึงเป็นที่ต้องมีการเตรียมความพร้อม เพื่อให้สามารถเผชิญกับเหตุการณ์สาธารณภัยที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และทันต่อเหตุการณ์” นายคมสัน สุวรรณอัมพา รอง ผวจ.เชียงใหม่ กล่าว

ด้าน นายไพรินทร์ ลิ่มเจริญ ปภ.เชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ให้ความสำคัญกับการสร้างความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน ของพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยว จึงจัดให้มีโครงการเชียงใหม่ปลอดภัย ภายใต้กลไกประชารัฐ ตามหลักเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา จัดกิจกรรมสร้างการรับรู้และสร้างความตระหนักในการเตรียมความพร้อมให้แก่หน่วยงานในระดับท้องถิ่นและหน่วยปฏิบัติงาน รวมถึงแนวทางและขึ้นตอนในการรับมือสาธารณภัย ซึ่งเป็นโครงการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัดเชียงใหม่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้อำนวยการอำเภอ ผู้อำนวยการท้องถิ่น และผู้ช่วยผู้อำนวยการท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ทั้ง 210 แห่ง สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเพื่อให้สามารถลดอัตราการบาดเจ็บ การเสียชีวิต ความเสียหายของทรัพย์สินที่เกิดจากสาธารณภัย ยกระดับความช่วยเหลือของหน่วยปฏิบัติ และชุมชนในระดับท้องถิ่นให้มีสมรรถนะเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้การดำเนินกิจกรรมตามโครงการฯ ดำเนินกิจกรรมในวันที่ 10-11 มิ.ย. 62 โดยแบ่งเป็นการดำเนินการเป็น 2 รุ่น รุ่นที่ 1 ประกอบด้วย นายอำเภอ และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ 13 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ สารภี สันกำแพง หางดง สันป่าตอง จอมทอง แม่แจ่ม อมก๋อย ดอยเต่า แม่วาง แม่ออน และอำเภอสะเมิง ส่วนรุ่นที่ 2 จะอบรมในวันที่ 11 มิ.ย.62 จำนวน 12 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสันทราย ดอยสะเก็ด แม่ริม แม่แตง พร้าว เชียงดาว ฝาง แม่อาย เวียงแหง ไชยปราการ ดอยหล่อ และอำเภอกัลยาณิวัฒนา