บิ๊ก ทส.ถกด่วนแก้หมอกควันเชียงใหม่ จัดชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ไหม้ซ้ำซากจับทันทีที่พบ อธิบดีอุทยานครวญ “ทำไมไม่ด่าคนเผา ด่าแต่เจ้าหน้าที่” พ่อเมืองย้ำทำทุกทางให้ถึงที่สุดจนกว่าจะปกติ
วันที่ 31 มี.ค. 62 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปลัด ทส.) นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมศูนย์อำนวยการสั่งการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า จังหวัดเชียงใหม่ และเข้าร่วมประชุมหารือกับ นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที จากนั้นนั้นได้ร่วมกันแถลงข่าวผลการประชุมการแก้ปัญหาหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่
นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การปฏิบัติหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่ ขณะนี้ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ตั้งหน่วยเฉพาะกิจเพิ่มเพื่อเข้ามาดูแลในพื้นที่ ร่วมกับป่าไม้และอุทยานฯ โดยจะร่วมกับหน่วยงานฝ่ายปกครอง มีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้ควบคุมดูแล เจ้าหน้าที่ทหาร และเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมทั้งจิตอาสาในพื้นที่ ซึ่งจะทำงานร่วมกันในการดูแลแก้ไขปัญหา ขณะเดียวกันก็ได้มีการเตรียมเครื่องบินของกระทรวงทรัพย์ฯ พร้อมในการปฏิบัติการบินสำรวจ และโปรยน้ำเพื่อดับไฟป่า ร่วมกับเครื่องบินของทางกองทัพที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ด้วย
“พื้นที่เกิดไฟป่าจะเห็นว่าเกิดในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวน ก่อนหน้านี้ก็เคยมีการมอบพื้นที่ให้กับทางชุมชน และประชาชนไปบางส่วนเพื่อให้มีพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย โดยไม่ลุกล้ำเข้าเขตแนวป่า แต่ต่อไปอาจจะมีกฎเกณฑ์เพิ่มมากขึ้น โดยพื้นที่ที่มอบให้ต้องห้ามมีการเผา ปัจจุบันมีการบังคับใช้กฎหมายหลายตัว และต้องนำมาบังคับใช้อย่างเข้มงวด ในการควบคุมการเผา การจับกุมผู้กระทำความผิด ในระยะยาวก็ต้องมาคิดดูว่า การปลูกพืชอะไรแล้วจะได้ไม่เกิดการเผา จะได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก และมีรายได้ ไม่ต้องเข้าป่าล่าสัตว์ คนอยู่กับป่าได้โดยไม่เกิดความเสียหาย ยกตัวอย่างอำเภอแม่แจ่ม มีจุดความร้อนลดลงในปีนี้ ซึ่งจะทำอย่างไรให้พื้นที่อื่นลดการเผาได้แบบนี้” นายวิจารย์ฯ กล่าว
“สำหรับสาเหตุที่เกิดไฟป่าในปีนี้ ต้องยอมรับปีนี้เกิดความแห้งแล้งยาวนานเป็นพิเศษ ปีที่แล้วแห้งแล้งแต่มีฝนตกมาเป็นระยะ ประกอบกับมีเชื้อเพลิงที่สะสมมาจากปีที่ผ่านๆ มาเป็นจำนวนมาก ความแห้งแล้งที่ยาวนาน ไม่มีฝนตก เมื่อมีคนเข้าไปลักลอบล่าสัตว์และจุดไฟเผา ก็ทำให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง และยังทำให้เกิดปัญหาไฟป่าและหมอกควันขึ้น รวมถึงสภาพอากาศในพื้นที่ก็มีการแปรปรวน สภาพอากาศปิดไม่มีลมที่จะพัดพาเอาหมอกควันออกจากพื้นที่ได้ ขณะนี้ไม่ใช่เพียงจังหวัดเชียงใหม่ แต่เป็นทั้งหมด 9 จังหวัดภาคเหนือ ที่ต้องประสานความร่วมมือกัน รวมถึงการประสานในระดับภูมิภาคอาเซียนในอนาคต โดยให้เลขาธิการอาเซียน แจ้งไปยังประเทศสมาชิกอาเซียนที่อยู่ใกล้กับประเทศไทย ช่วยลดการเผาในประเทศของตนด้วย” ปลัด ทส. กล่าว
นายวิจารย์ฯ กล่าวต่อว่า ดูจากคุณภาพอากาศและจุดความร้อนในพื้นที่พบมีจำนวนจุดความร้อนสะสมลดลง แต่ที่ยังมีปัญหาคือสภาพอากาศที่ปิดไม่มีกระแสลมพัดพาออกไปจากพื้นที่ ส่วนเรื่องของการจ้างชาวบ้านให้มาช่วยเจ้าหน้าที่ดับไฟ เรื่องนี้ก็ต้องดูว่า ชาวบ้านในพื้นที่นั้นทำอาชีพอะไร มีรายได้เท่าไหร่ แล้วงบประมาณมีเท่าไหร่ จึงจะนำมาดำเนินการได้
“ที่ผ่านมากรุงเทพฯ ก็ประสบปัญหาเรื่องหมอกควัน และขณะนี้ในภาคเหนือก็มาประสบปัญหาเช่นเดียวกัน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีก็มีความเป็นห่วง แต่ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีเครื่องวัดค่ามลพิษทุกจุด ซึ่งในจังหวัดเชียงใหม่มีเพียง 4 จุด ต่อไปในอนาคตก็อาจจะมีการขยายให้ทุกอำเภอ ประกอบกับก่อนหน้านี้รู้จักกันแต่เพียง PM10 ขณะนี้มาใช้ PM2.5 ทำอย่างไรให้ปัญหาเรื่องมลพิษลดลง นั่นคือการสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน ทางกระทรวงทรัพย์ฯ มีสายด่วนรับแจ้งเรื่องเหตุเพลิงไหม้ 1362 เปิดตลอด 24 ชั่วโมง สามารถโทรแจ้งได้ทันทีหากพบเหตุเพลิงไหม้ว่าอยู่พื้นที่ไหน จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการอย่างเร่งด่วน” นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าว
ด้าน นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การเผาป่าทำอย่างไรถึงจะหยุดให้ได้ ก็มีข้อแนะนำให้ทางชุมชนมีส่วนร่วมให้มากขึ้น เพราะในชุมชนต้องรู้ว่าใครเป็นคนเผาป่า ต่อไปต้องให้ชุมชนเข้ามาร่วม นำคนเผาป่ามาอบรมให้ความรู้ นำคนในชุมชนมาอบรม เพื่อสร้างความเข้าใจ ให้ตระหนักถึงปัญหา และสร้างอาชีพให้โดยไม่ต้องเผาป่า ล่าสัตว์ แล้วมาร่วมมือกับทางภาครัฐในการเฝ้าระวังป้องกันรักษาป่า และความร่วมมืองดการเผา
ทางจังหวัดก็ได้เร่งดำเนินการในมาตรการเร่งด่วน ทั้งการจัดการเรื่องไฟป่าที่เกิดขึ้น และการดูแลพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการตรวจรถควันดำ ที่เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่สร้างมลพิษเพิ่มขึ้นในอากาศ แม้จะไม่ใช่หมอกควันที่ปกคลุมในพื้นที่ แต่ก็มีการปล่อยควันพิษ ทำให้พี่น้องประชาชนที่สัญจรบนท้องถนนได้รับควันพิษเพิ่มมากขึ้น รวมถึงดูเรื่องพื้นที่ก่อสร้าง ไม่ให้มีฝุ่นฟุ้งกระจายออกมาจากเขตก่อสร้าง และดูเรื่องของโรงงานต่างๆ ไม่ให้มีการปล่อยควันเสียเพิ่มขึ้น ผวจ.เชียงใหม่ กล่าว
นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ไฟป่าที่เกิดขึ้นเกิดจากฝีมือของประชาชน 100 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุมาจากการหาของป่า ล่าสัตว์ กระแสในตอนนี้ตำหนิแต่เพียงเจ้าหน้าที่ว่าไม่ทำงานแก้ไขปัญหาอะไรบ้าง นอกจากฉีดพ่นน้ำสร้างความชุ่มชื้นบนท้องถนน ทำอะไรไม่ได้ผล แต่ทำไมไม่ตำหนิคนเผาป่าแทนเจ้าหน้าที่บ้าง ในช่วงที่ประชาชนนอนหลับพักผ่อน แต่เจ้าหน้าที่ก็เข้าพื้นที่ดับไฟป่าไม่ได้นอน จนกว่าไฟป่าในจุดที่เข้าถึงสามารถดับได้ ขณะนี้ทางกรมอุทยานฯ ได้นำกำลังเข้าไปพูดคุยและสร้างเครือข่ายไว้ 200 หมู่บ้าน มีจำนวน 8,000 กว่าคนที่มาร่วมกันดับไฟป่า แต่พื้นที่เผาป่าก็มีต่อเนื่อง ก็อยากให้เห็นใจเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้วย เพราะทำงานกันทุกวันเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยว่า ตอนนี้ต้องให้พี่น้องประชาชนในชุมชนที่เกิดปัญหาไฟป่า ต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตาม พร้อมนำกฎหมายมาบังคับใช้อย่างจริงจัง ต้องไม่มีไฟป่าเกิดขึ้นในพื้นที่ และจำเป็นต้องตั้งชุดเฉพาะกิจเข้าพื้นที่ที่เกิดจุดความร้อนสะสมมากๆ โดยจะเป็นการบูรณการเจ้าหน้าที่ที่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ด้วย เมื่อพบเจอการกระทำผิดการเผาป่า ล่าสัตว์ บุกรุกป่า หรือการกระทำผิดอื่นๆ ก็ต้องสามารถดำเนินการจับกุมได้เลยทันที ขณะนี้การดำเนินการเรื่องงบประมาณก็ให้ใช้งบของแต่ละสังกัด หากงบไม่พอก็สามารถร้องขอเพิ่มได้