้Startup ด้านเทคโนโลยีคว้าชนะเลิศ Startup Pitching Challenge 3 ปีสร้างมูลค่ากว่า 500 ล้าน

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จับมือ STEP แถลงโชว์ความสำเร็จดัน Startup ด้านเทคโนโลยี ผู้ชนะ Startup Pitching Challenge ภายใต้กระบวนการ Spin-Out 3 ปีสร้างมูลค่ากว่า 500 ล้าน ยันแม้การเมืองเปลี่ยนขั้วหลังเลือกตั้งไม่มีผลกระทบยังมีโอกาสต่อยอดได้อีกไกล

ที่โรงแรมเลอเมอริเดียน จ.เชียงใหม่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ร่วมกับ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(STEP CMU) แถลงโชว์ผลสำเร็จดันสตาร์ทอัพสายเทคโนโลยี ผู้ชนะ Startup Pitching Challenge โครงการเร่งการเติบโตของผู้ประกอบการจากกระบวนการ Spin-Out และวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ที่มีศักยภาพสูง (SMEs Spin-Out to Tech Startup) ได้รับเงินรางวัลสนับสนุนรวมมูลค่ากว่า 500,000 บาท พร้อมเร่งปั้นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและความพร้อมสู่โอกาสการร่วมทุนและต่อยอดธุรกิจเทคโนโลยี คาดว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจได้กว่า 500 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 3 ปี

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เป็นไปตามกลไกที่เหมาะสมทันกับยุคสมัย เพื่อช่วยผลักดันให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางภาครัฐจึงนำนโยบายดังกล่าวปรับใช้เพื่อบูรณาการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ ไปสู่ “Value–Based Economy” หรือ เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมผ่านการเชื่อมโยงการพัฒนา การเปลี่ยนแปลงโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้ทันต่อนานาประเทศ การเติบโตของธุรกิจไม่จำกัดอยู่เพียงแค่จำนวนของเงินทุนแต่เท่านั้น หากแต่ผู้ประกอบการที่มีแนวคิดที่โดดเด่นประกอบกับมีความเข้าใจในด้านเทคโนโลยี ก็สามารถสร้างธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วได้ ดังนั้น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าวที่จะผลักดันผู้ประกอบการไทยให้มีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

“กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดกิจกรรมแข่งขันการ Pitching Challenge ภายใต้โครงการ “เร่งการเติบโตของผู้ประกอบการจากกระบวนการ Spin-Out และวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ที่มีศักยภาพสูง (SMEs Spin-Out to Tech Startup)” เพื่อส่งเสริมให้ SMEs และ Startup ของภาคเหนือตอนบนได้แสดงศักยภาพและยกระดับทางธุรกิจ ผ่านกลไกการสนับสนุนให้สามารถรังสรรค์แพลทฟอร์มใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์สังคมในมิติต่างๆ ได้ อีกทั้งสร้างโอกาสความสำเร็จด้วยการเชื่อมต่อให้ผู้มีความพร้อมและสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมได้ในอนาคต เพื่อเฟ้นหาสตาร์ทอัพที่มีรูปแบบธุรกิจที่มีศักยภาพ ความพร้อมในการเติบโต และเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจแบบมหภาค โดยมีทุนสนับสนุนธุรกิจแก่ผู้รับรางวัลรวมมูลค่ากว่า 500,000 บาท โดยเกณฑ์การตัดสินคัดเลือกจากศักยภาพ ความพร้อม ความสามารถในการเข้าใจตลาดและธุรกิจ รวมทั้งมีผลผลิตสตาร์ทอัพที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้จริงด้วยเทคโนโลยี และส่งผลต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง” อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าว

ทั้งนี้ผู้ที่ผ่านเกณฑ์การตัดสินจะได้รับทุนสนับสนุนธุรกิจแล้ว ยังมีโอกาสจับคู่ธุรกิจแบบส่วนตัว (Personal Business Matching) กับแหล่งทุนรายใหญ่ เพื่อเพิ่มโอกาสในการร่วมทุน ต่อยอดธุรกิจและเกิดพันธมิตรผ่านความร่วมมือทางธุรกิจ เพื่อสานฝันสตาร์ทอัพให้เป็นจริง โดยมีผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วม จำนวน 123 กิจการ มีผู้ผ่านเกณฑ์การตัดสิน จำนวน 12 กิจการ เพื่อนำเสนอผลงานกับคณะกรรมการในรอบสุดท้าย และมีผู้ประกอบการที่มีความโดดเด่นชนะการแข่งขันได้รับโล่รางวัล จำนวน 3 กิจการ ได้แก่ 1. ทีม Ocare Corporate Wellness (บริษัท โอแคร์ เฮลท์ ฮับ จำกัด) ได้รับรางวัลชนะเลิศ ด้วยผลงานการเป็นสตาร์ทอัพ สายเทคโนโลยีสุขภาพที่ช่วยองค์กรดูแลและส่งเสริมสุขภาพแก่บุคลากรในองค์กรด้วยระบบประมวลผลข้อมูลสุขภาพที่ช่วยบันทึก วิเคราะห์ และรายงานผล Corporate Wellness Analysis 2. ทีม Smile Migraine (บริษัท สไมล์ ไมเกรน จำกัด) รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ผลงานเป็นสตาร์ทอัพสายเทคโนโลยีสุขภาพที่สร้างแพลมฟอร์มและแอพลิเคชั่น เพื่อช่วยติดตามพฤติกรรมการรักษาผู้ป่วยโรคไมเกรน ด้วยการจดบันทึกอาการปวดศีรษะผ่าน headache diary และพัฒนาระบบประมวลผลด้วย AI learning technology ผ่าน Migraine analyzer และ 3. ทีม DEKDESIGN (ห้างหุ้นส่วนจำกัด เดกดีไซน์) รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 โดยพัฒนาแพลตฟอร์มเว็บแอพพลิเคชั่นเพื่อเชื่อมโยงระหว่าง นักเรียนศิลปะที่ต้องการเรียนรู้ด้านศิลปะผ่านสื่อการสอนศิลปะออนไลน์

ผู้ที่ได้รับรางวัลทั้ง 3 กิจการ จะได้รับโอกาสในการพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้มีแผนในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้ามาใช้บริการที่ทางกรมส่งเสริมอุตสากรรมได้จัดเตรียมไว้ อาทิ การจัดตั้ง “บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด” หรือ InnoSpace (Thailand) Co., Ltd. ขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย เพื่อเป็นแพลตฟอร์มกลางครบวงจร ในการเชื่อมต่อกับระบบนิเวศสากล เพื่อช่วยผลักดันกลุ่มสตาร์ทอัพไทยไปสู่ระดับสากล พร้อมโอกาสในการได้รับการลงทุนจากนักลงทุนภาคเอกชนที่กรมส่งเสริมฯได้ทำความร่วมมือแล้ว เช่น ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสซีจี จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น (มหาชน) นอกจากนี้ ยังสามารถประสานความร่วมมือกับ Hong Kong Cyberport จากประเทศฮ่องกง หน่วยงานส่งเสริมสตาร์ทอัพของอิสราเอล เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมอย่างแท้จริง โดยคาดว่า จะจัดกิจกรรมนี้ขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ ในระยะเวลาอันใกล้นี้ และจากผลสัมฤทธิ์ของโครงการทำให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเล็งเห็นถึงโอกาสในการเร่งสร้างผู้ประกอบการในรุ่นที่ 2 เพื่อเปิดทางให้ผู้ประกอบการที่สนใจได้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะเป็นการขยายโอกาสในการเติบโตของผู้ประกอบการในพื้นที่ให้มีความเข้มแข็งผ่านกระบวนการที่ทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจัดขึ้นต่อไป

ด้าน ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวในฐานะหน่วยงานร่วมดำเนินการว่า จากเกณฑ์การตัดสินดังกล่าวทำให้ทีม Ocare Corporate Wellness เป็นผู้ชนะในการแข่งขันครั้งนี้ ด้วยการเป็นสตาร์ทอัพสายเทคโนโลยีสุขภาพที่ช่วยองค์กรดูแลและส่งเสริมสุขภาพแก่บุคลากรในองค์กรด้วยระบบประมวลผลข้อมูลสุขภาพที่ช่วยบันทึก วิเคราะห์ และรายงานผล Corporate Wellness Analysis โดยการพัฒนาเทคโนโลยี Optimize Health Business Intelligence เป็นรายแรกของประเทศไทย ที่ช่วยให้องค์กรเข้าใจและเห็นภาพรวมแนวโน้มสุขภาพ สามารถตัดสินใจวางแผนการส่งเสริมสุขภาพแก่บุคลากรในองค์กรพร้อมจัดสรรสวัสดิการได้อย่างตรงจุด รวมทั้ง ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในองค์กรได้อีกด้วย โดยปัจจุบันมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนใช้บริการแล้วกว่า 19,000 ราย (User Account)

อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้กล่าวเสริมอีกว่า จากผลการดำเนินโครงการฯ คาดว่าภายใน 3 ปี ด้วยศักยภาพของสตาร์ทอัพทั้ง 12 กิจการ จะสามารถสร้างรายได้รวมไม่น้อยกว่า 360 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานแบบ Skilled Labor จำนวน 200-300 อัตราที่เป็นระดับมีทักษะสูง คิดเป็นมูลค่า 50 ล้านบาท และสามารถระดมเงินทุนจากนักลงทุน (Venture Capital) ที่สนใจลงทุนได้มากกว่า 100 ล้านบาท (หรือ ประมาณ 5 กิจการ) โดยสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ รวมกว่า 500 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังยืนยันด้วยว่า โครงการเหล่านี้ มีทิศทางที่ดีมีโอกาสในการต่อยอดและพัฒนากลุ่มที่เหลือทั้ง 30 ราย หรือ 120 กว่ารายรวมถึงรายใหม่ ในระยะต่อไปและจะเป็นต้นแบบสำคัญในการขยายไปสู่พื้นที่ภูมิภาคอื่นๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตั้งแต่ระดับพื้นที่ขึ้นไป ยืนยันว่า แม้การเมืองจะเปลี่ยนแปลงขั้วหลังจากการเลือกตั้ง 24 มีนาคมนี้ไปแล้วโครงการดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบเพราะอยู่ในแผนงบประมาณอีกทั้งเป็นโครงการที่ดีมีรูปประธรรมชัดเจนในเรื่องของการขับเคลื่อนสร้างความเข้มแข็งให้กับ SMEs หรือกลุ่ม Start Up จะยังต่อยอด ในอนาคตได้อีก และให้ความเชื่อมั่นได้ว่า ไม่น่าจะมีผลกระทบหรือถูกยกเลิกแต่อย่างใด เพราะตอนนี้ดัชนีชี้วัดความสำเร็จก็มีความชัดเจนอยู่แล้ว