วันจันทร์, 25 พฤศจิกายน 2567

ตั้งเป้า “เชียงใหม่เมืองสุขภาพ” ผุดโครงการพัฒนาพื้นที่สุขภาพดิจิตอลภาคเหนือ

TCELS จับมืออุทยานวิทย์ฯ มช. เปิดตัวโครงการ “การพัฒนาพื้นที่สุขภาพดิจิตอลภาคเหนือเพื่อการขับเคลื่อนสู่เชียงใหม่เมืองสุขภาพ” สร้าง Deep Tech Startup ตอบโจทย์แก้ปัญหาด้านสุขภาพ เตรียมพร้อมยกระดับเวชนครเชียงใหม่

วันที่ 12 มีนาคม 2562 ที่ @Nimman Convention Centre โครงการ One Nimman จ.เชียงใหม่ ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (TCELS) เป็นประธานในพิธีเปิดตัวโครงการ “การพัฒนาพื้นที่สุขภาพดิจิตอลภาคเหนือเพื่อการขับเคลื่อนสู่เชียงใหม่เมืองสุขภาพ” (Northern Digital Health Revolution to Chiang Mai Medical and Health Hub) ภายใต้แนวคิด Make Healthcare Driven by Innovation ซึ่งจัดโดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ร่วมกับ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สำหรับโครงการ “การพัฒนาพื้นที่สุขภาพดิจิตอลภาคเหนือเพื่อการขับเคลื่อนสู่เชียงใหม่เมืองสุขภาพ” มีเป้าหมายที่จะผลักดันให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองสุขภาพที่มีบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ครบครัน ส่งเสริมสุขภาวะและคุณภาพชีวิตของประชากรในพื้นที่ผ่านผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการและแก้ปัญหาด้านสุขภาพของคนในจังหวัดผ่านเทคโนโลยีและระบบสารสนเทศโดยผู้ประกอบการและ Startup ของภาคเหนือที่มีศักยภาพ

ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า พื้นที่ภาคเหนือและจังหวัดเชียงใหม่นับเป็น Ecosystem ที่ดีในการพัฒนาพื้นที่สุขภาพดิจิตอล เพราะเป็นจังหวัดยอดนิยมในด้านการท่องเที่ยวที่มีจุดเด่นทางด้านธรรมชาติ ศิลปะ วัฒนธรรม และเอกลักษณ์ของความเป็นล้านนา อีกทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ยังมีความตื่นตัวและสนใจในการผลักดันเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขัน เชื่อมโยงเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขรวมถึงนักลงทุนเพื่อให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตอบสนองความต้องการและแก้ปัญหาทางด้านสุขภาพและสาธารณสุขได้จริง โดยเป็นผู้นำการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ครบวงจร พร้อมรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ของประเทศไทยในอนาคต

ด้าน ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า อุทยานฯ ดำเนินงานเป็นหน่วยงานหนึ่งภายใต้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งสร้างองค์ความรู้และงานวิจัยที่สำคัญ ผ่านกลไกผลักดันนำงานวิจัยจากรั้วมหาวิทยาลัยไปต่อยอดและใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์ เชื่อมโยงภาคมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน (University Industry Linkage) โดยได้รับการสนับสนุนความร่วมมือจากคณะต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยซึ่งเกี่ยวข้องทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข ประกอบด้วย คณะแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีผลงานวิจัยที่มีศักยภาพและเป็นประโยชน์ สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเพื่อคนเชียงใหม่และในพื้นที่ภาคเหนือ

“นอกจากนี้ อุทยานฯ ยังมีพันธกิจการบ่มเพาะผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ให้มีศักยภาพและมีความสามารถในการแข่งขันได้ในระดับเทศและสากล โดยวางเป้าหมายในการทำโครงการฯ เพื่อกระตุ้นและผลักดันการสร้างสตาร์ทอัพทางด้านการแพทย์ (Medical and Healthcare Startup) ตั้งแต่ต้นน้ำ Upstream ซึ่งจะเป็นสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพโดยพัฒนามาจาก Core Technology หรืองานวิจัยในมหาวิทยาลัย ผ่านการพัฒนาต่อยอดร่วมกับเทคโนโลยีด้านดิจิทัล เกิดเป็นการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ๆ เพื่อประโยชน์ในการเข้าถึงการให้บริการและการใช้งาน โดยคำนึงถึงผู้ใช้เป็นหลัก เพื่อที่จะช่วยแก้ปัญหาทางด้านการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขให้กับคนในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง โดยส่งผลต่อการเพิ่มมูลค่าเชิงเศรษฐกิจในพื้นที่และในระดับประเทศ ให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ตลอดจนพัฒนาให้เมืองเชียงใหม่มีความพร้อมในการเป็นเมืองสุขภาพครบวงจรและศูนย์กลางทางการแพทย์ด้าน Medical Hub และส่งเสริม Ecosystem ในการส่งเสริมการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางด้าน Life Science” ผอ.อุทยานวิทย์ฯ กล่าว