วันจันทร์, 25 พฤศจิกายน 2567

เชียงใหม่ยังไม่ประกาศกำหนดเขตโรคระบาด!!! ปศุสัตว์จังหวัดย้ำ สั่งการอำเภอติดบ้านธิ ลำพูน เฝ้าระวังเข้ม

14 พ.ย. 2018
2390

ปศุสัตว์เชียงใหม่ยัน ทั้ง 25 อำเภอยังไม่มีประกาศกำหนดเขตโรคระบาด “โรคปาก-เท้าเปื่อย” สสจ.เชียงใหม่ ออกโรงเตือนเตือนประชาชน “งดกินเนื้อฯ สุกๆดิบๆ เสี่ยงโรคพยาธิตืดและหูดับ”

ที่ห้องประชุม 4 ชั้น 4 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายพงศ์พัฒน์ ขัตพันธ์ ปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวยืนยันว่า ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ยังไม่มีพื้นที่ใดประกาศเป็นเขตควบคุมโรคปากเท้าเปื่อยซึ่งเป็นโรคติดต่อในสัตว์เท้ากีบอาทิ โค กระบือ ไม่ใช่โรคติดต่อในคน แต่ได้มีการสั่งการให้อำเภอที่เป็นเขตติดต่อในพื้นที่ที่มีการประกาศเป็นเขตควบคุมโรคและมีการเลี้ยงโคในพื้นที่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะที่อำเภอแม่ออน ให้เฝ้าระวังและติดตามการระบาดของโรคอย่างใกล้ชิด

สืบเนื่องก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 61 ที่ผ่านมา นายกีรติ ธิแจ้ ปศุสัตว์อำเภอบ้านธิ จ.ลำพูน ได้ออกประกาศกำหนดเขตโรคระบาดชั่วคราว ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 โดยระบุว่า เนื่องด้วยในท้องที่ บ้านสันพระเจ้าแดง หมู่ที่ 6 ต.ห้วยยาบ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน ได้ตรวจพบว่า มีโคเนื้อเป็นโรคระบาด ชนิด โรคปากและเท้าเปื่อย ซึ่งเป็นโรคระบาดร้ายแรง อาจติดต่อไปยังโค กระบือ สุกร แพะ แกะ และสัตว์กีบคู่ได้ จึงมีประกาศให้ทราบว่า ท้องที่บริเวณครอบคลุมพื้นที่หมู่บ้านทุกหมู่บ้าน ต.ห้วยยาบ และ ต.บ้านธิ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน ทิศเหนือจด อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ทิศใต้ จด ต.มะเขือแจ้ อ.เมืองลำพูน ทิศตะวันออก จด ต.ทาปลาดูก อ.แม่ทา จ.ลำพูน และทิศตะวันตำ จด ต.อุโมงค์ อ.เมืองลำพูน โดยประกาศให้เป็นเขตโรคระบาดชั่วคราว ชนิด โรคปากและเท้าเปื่อย ตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 ถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2561

ด้าน นางวิภารัศมิ์ ทิพย์ปัญญา นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ แถลงฝากเตือนว่า การรับประทานอาหารจากเนื้อวัว เนื้อควาย เนื้อหมูดิบ หรือที่ปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น ลาบ แหนม มีความเสี่ยงเป็นโรคอุจจาระร่วง ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ รวมทั้งโรคที่เป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น ไข้หูดับหรือโรคพยาธิได้ โดยโรคพยาธิที่พบบ่อยได้แก่ พยาธิตืดหมู ตืดวัว ซึ่งในเนื้อนั้นมีถุงพยาธิตืด ลักษณะคล้ายเม็ดสาคูที่มีตัวอ่อนของพยาธิอยู่ ตัวอ่อนจะเติบโตเป็นพยาธิตัวเต็มวัยในลำไส้เล็กของคน และที่สำคัญ คนมีโอกาสเป็นโรคพยาธิถุงตืดหมูจากการกินไข่พยาธิเข้าไปโดยตรง หรือใช้มือที่เปื้อนไข่พยาธิตืดเข้าปาก หรือติดทางอ้อมโดยการการกินผักสด ผลไม้ หรือน้ำดื่มที่มีไข่พยาธิตืดปนเปื้อน

สำหรับสถานการณ์โรคพยาธิตืด จังหวัดเชียงใหม่ ในปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ สรุปผลการคัดกรองพยาธิใบไม้ในตับ ในตำบลต้นแบบกำจัดพยาธิใบไม้และมะเร็งท่อน้ำดี ปี 2559-2561 จังหวัดเชียงใหม่(ข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2561) จากการคัดกรองประชากรกลุ่มเสี่ยง จำนวน 15,309 ราย พบประชากรที่มีพยาธิตืด จำนวน 103 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 0.67 ของประชากรที่เข้ารับการตรวจทั้งหมด

ทั้งนี้จึงขอให้ประชาชนดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล โดยยึดหลักปฏิบัติ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” รับประทานอาหารที่ปรุงจากเนื้อวัว ควายหรือหมูที่ปรุงสุกด้วยความร้อน ควรซื้อเนื้อที่ผ่านการตรวจจากโรงฆ่าสัตว์แล้วเท่านั้น ล้างผักสดและผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทาน และดื่มน้ำสะอาด ถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร ก่อนปรุงอาหาร หลังถ่ายอุจจาระทุกครั้ง

นางวิภารัศมิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่มีพยาธิตืดในลำไส้มักไม่แสดงอาการ บางรายอาจมีอาการป่วย ซึ่งจะขึ้นอยู่กับชนิดของพยาธิตืดและตำแหน่งที่พยาธิตืดอาศัยอยู่ อาการที่พบ ปวดแสบในท้อง ทำให้ซุบผอม ขาดสารอาหารได้ ท้องอึด แน่นเฟ้อ เบื่ออาหาร ปวดศีรษะเกิดลมพิษ หากเกิดในลูกตา อาจทำให้ตาบอดได้ และหากเกิดในสมองทำให้ปวดศีรษะรุนแรงเป็นลมชักถึงตายได้