เทศกาลหมอกควันปีนี้ทำความเข้าใจตัวเลขให้ดีก่อนออกจ๊อกกิ้ง กรมควบคุมมลพิษประกาศใช้ “ดัชนีคุณภาพอากาศ” รวบ 6 สารมลพิษทางอากาศมาคำนวณ หากค่าเกิน 100 คุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐาน
ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 9 พ.ย. 61 ที่ผ่าน ลงประกาศกรมควบคุมมลพิษ เรื่อง ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทย ให้มีผลบังคับใช้ โดยระบุว่า เป็นการสมควรรายงานสถานการณ์มลพิษทางอากาศต่อประชาชน เพื่อเป็นแนวทางในการบ่งชี้และเฝ้าระวังคุณภาพอากาศ จึงประกาศใช้ “ดัชนีคุณภาพอากาศ” สำหรับการรายงานสถานการณ์มลพิษทางอากาศ เป็นตัวแทนความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศ 6 ชนิด
โดยระบุเหตุผลในประกาศว่า เพื่อให้สอดคล้องกับกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2561 ซึ่งกำหนดให้กรมควบคุมมลพิษมีอำนาจหน้าที่ในการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลคุณภาพสิ่งแวดล้อม และจัดทำรายงานสถานการณ์มลพิษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ออกประกาศดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทย
ทั้งนี้ในประกาศให้นิยาม “ดัชนีคุณภาพอากาศ” ไว้ว่า ดัชนีที่ใช้เป็นตัวแทนของคุณภาพอากาศ 1 ค่า ใช้เป็นตัวแทนค่าความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศ 6 ชนิด ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ก๊าซโอโซน (O3) ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) และ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2)
ค่า “ดัชนีคุณภาพอากาศ” แบ่งเป็น 5 ระดับการแจ้งเตือน โดยใช้สีเป็นสัญลักษณ์ โดยมีคะแนนตั้งแต่ 0 ถึงมากกว่า 200 โดยดัชนีคุณภาพอากาศ 100 มีค่าเทียบเท่าค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป หากดัชนีคุณภาพอากาศมีค่าสูงเกินกว่า 100 แสดงว่าค่าความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศเกินค่ามาตรฐาน ระดับการแจ้งเตือนมี
สำหรับเกณฑ์ดัชนีคุณภาพอากาศทั้ง 5 ระดับ ประกอบด้วย ดัชนีคุณภาพอากาศ 0 – 25 ระดับดีมาก สีฟ้า คุณภาพอากาศดีมาก เหมาะสำหรับกิจกรรมกลางแจ้งและการท่องเที่ยว ดัชนีฯ 26 – 50 ระดับดี สีเขียว คุณภาพอากาศดี สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งและการท่องเที่ยวได้ตามปกติ ดัชนีฯ 51 – 100 ระดับปานกลาง สีเหลือง ประชาชนทั่วไป : สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ : หากมีอาการเบื้องต้นเช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ดัชนีฯ 101 – 200 ระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ สีส้ม ประชาชนทั่วไป : ควรเฝ้าระวังสุขภาพ ถ้ามีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ : ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง หากมีความจำเป็น ถ้ามีอาการทางสุขภาพ เช่น ไอ หายใจลำบาก ตาอักเสบ แน่นหน้าอก ปวดศีรษะ หัวใจเต้นไม่เป็นปกติ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ควรปรึกษาแพทย์ และดัชนีคุณภาพอากาศ 201 ขึ้นไป ระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ สีแดง ทุกคนควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง หากมีความจำเป็น หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์
ส่วนการเปรียบเทียบค่าความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศสำหรับคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ หากดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ระหว่าง 0 – 25 ค่า PM2.5 อยู่ระหว่าง 0 – 25 ค่า PM10 อยู่ระหว่าง 0 – 50 ค่า CO อยู่ระหว่าง 0 – 4.4 ค่า O3 อยู่ระหว่าง 0 – 35 ค่า NO2 อยู่ระหว่าง 0 – 60 และค่า SO2 จะอยู่ระหว่าง 0 – 100 ส่วนดัชนีคุณภาพอากาศที่เกินค่ามาตรฐาน ซึ่งเริ่มตั้งแต่ 101-200 ระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ค่า PM2.5 อยู่ระหว่าง 51 – 90 ค่า PM10 อยู่ระหว่าง 121 – 180 ค่า CO อยู่ระหว่าง 9.1 – 30.0 ค่า O3 อยู่ระหว่าง 71 – 120 ค่า NO2 อยู่ระหว่าง 171 – 340 และค่า SO2 อยู่ระหว่าง 301 – 400 และระดับสูงสุดของอากาศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ดัชนีคุณภาพอากาศตั้งแต่ 201 ขึ้นไป ค่า PM2.5 มีค่าตั้งแต่ 91 ขึ้นไป ค่า PM10 ตั้งแต่ 181 ขึ้นไป ค่า CO ตั้งแต่ 30.1 ขึ้นไป ค่า O3 ตั้งแต่ 121 ขึ้นไป ค่า NO2 ตั้งแต่ 341 ขึ้นไป และค่า SO2 มีค่าตั้งแต่ 401 ขึ้นไป