วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

“ได้ทั้งเงินได้ทั้งน้ำใช้” เกษตรกรปลื้ม ไทยนิยมยั่่งยืนชลประทานเชียงใหม่ปิดจ๊อบสวย

26 ก.ย. 2018
2517

สบ.4 คป.ชม.ปิดโครงการไทยนิยมยั่งยืนชื่นมื่น ชาวนาชาวสวน 2 ตำบล ฝาง-ไชยปราการยิ้มรื่น ได้ทั้งเงินค่าจ้างงาน ได้ทั้งน้ำใช้ โครงการโฟกัสไปที่การมีส่วนร่วมของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและเป็นผู้ใช้น้ำทั้งสองพื้นที่

นายชนม์ฐพัฒน์ เครือศรี วิศวกรชลประทานชำนาญการ ปฏิบัติหน้าที่ที่ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 4 โครงการชลประทานเชียงใหม่กล่าวว่า โครงการจ้างแรงงานชลประทานสร้างรายได้เกษตรกรในพื้นที่อำเภอไชยปราการ และอำเภอฝาง มีด้วยกัน 4 รายการย่อย ได้แก่ งานขุดลอกตะกอนดินหน้าฝายลุงผาก(ลูกที่ 1) อ่างเก็บน้ำห้วยเดื่อ ต.แม่ข่า อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ อีก 3 รายการอยู่ในพื้นที่ ต.แม่ทะลบ อ.ไชยปราการ ได้แก่ งานขุดลอกตะกอนดินเหมืองห้วยกล้วยนวล ระบบส่งน้ำฝายลุงผาก(ลูกที่ 1) อ่างเก็บน้ำห้วยเดื่อ งานขุดลอกตะกอนดินหน้าฝายดงฉิมพลี (ลูกที่ 8) อ่างเก็บน้ำแม่ทะลบหลวง และงานขุดลอกตะกอนดินระบบส่งน้ำฝายผาแตร(ลูกที่ 4) อ่างเก็บน้ำแม่ทะลบหลวง ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการภายใต้โครงการใหญ่คือ ไทยนิยม ยั่งยืน ซึ่งเป็นโครงการสำคัญของรัฐบาลที่ลงสู่พื้นที่โดยตรง

“โครงการไทยนิยม ยั่งยืน ในส่วนของโครงการชลประทานเชียงใหม่ มีแนวทางในการดำเนินโครงการย่อยหลายโครงการ อาทิ โครงการถนนยางพารา โครงการพัฒนาฟื้นฟูแหล่งน้ำเพื่อป้องกันอุทกภัยและภัยแล้ง และโครงการจ้างแรงงานชลประทานเพิ่มรายได้แก่เกษตรกร ซึ่งในพื้นที่รับผิดชอบของฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 4 โครงการชลประทานเชียงใหม่ ดำเนินการในพื้นที่ 2 ตำบล 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอฝางและไชยปราการ โดยเปิดรับสมัครเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเข้าร่วมโครงการ จากเป้าหมาย 28 ราย มีผู้มาสมัครรวม 22 ราย เข้ามาขุดลอกตามรายการย่อยทั้ง 4 รายการข้างต้น ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วทั้ง 4 รายการ ไปแล้ว” นายชนม์ฐพัฒน์ เครือศรี กล่าว

สำหรับฝายลุงผากเป็นฝายลูกที่ 1 จากทั้งหมดมี 7 ฝาย ของระบบส่งน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยเดื่อ ต.แม่ข่า อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ความจุ 4.276 ล้าน ลบ.ม. ส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตร 558 ไร่ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ชลประทาน ของโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเดื่อ 5,521 ไร่ ทั้งนี้การดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและให้เกษตรกรมีรายเสริมในช่วงว่างจากการทำช่วงไร่นา ซึ่งมีร้อยละ 60 เป็นชาวนา และร้อยละ 40 เป็นชาวสวนและปลูกพืชหมุนเวียนที่มาเข้าร่วม ซึ่งหลังจากการดำเนินการโครงการแล้วเสร็จ เกษตรกรในพื้นที่ในช่วงฤดูแล้งจะมีน้ำใช้เพื่อการเกษตรเพิ่มขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพของฝายให้ช่วยเก็บกักน้ำหน้าฝายได้ปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะโครงการนี้เน้นการมีส่วนร่วมของผู้ใช้น้ำโดยให้เป็นผู้เลือกพื้นที่ดำเนินการโครงการ

ด้าน นายอุดม ยาพรหม ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานอ่างเก็บน้ำห้วยเดื่อ ต.แม่ข่า อ.ฝาง และ อ.ไชยปราการ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่มีรายได้เสริมจากการจ้างงานวันละ 300 กว่าบาทตามค่าแรงขั้นต่ำ งานทำในช่วงที่ว่างเว้นจากการทำสวนไร่นา โดยร่วมกันมาทำการขุดลอกหน้าฝายและคลองส่งน้ำตามโครงการ ซึ่งเป็นโครงการที่ดีสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรที่ร่วมโครงการ อยากให้ภาครัฐจัดให้มีโครงการเช่นนี้อีกต่อเนื่องต่อไป นอกจากเกษตรกรที่มีรายได้น้อยจะมีรายได้เสริมเพิ่มขึ้นและยังเป็นการส่งเสริมการทำงานร่วมกันของผู้ใช้น้ำแล้ว นอกจากนั้นยังช่วยให้การส่งน้ำผันน้ำจากฝ่ายดีขึ้น เพราะเดิมคลองส่งน้ำมีปัญหาการชะล้างหน้าดินมีตะกอนดินทรายลงมาเป็นจำนวนมาก พอได้รับการขุดลอกทั้งหน้าฝายและคลองส่งน้ำน้ำก็มากขึ้นไหลสะดวกเป็นประโยชน์ต่อไร่นา