เปิด วังวรดิศ” รำลึก 40 ปี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ณ วังวรดิศ
วันที่ 17 มิ.ย. 61 เวลา 08.00 น. ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานพิพิธภัณฑ์และหอสมุดสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เปิด “วังวรดิศ” รำลึกครบรอบ 40 ปี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ณ วังวรดิศ ถนนหลานหลวง ให้กับครูอาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา เข้าเยี่ยมชมวังวรดิศ และรับฟังการบรรยายพิเศษ เรื่อง “ประเทศชาติอยู่รอดได้ด้วยคุณธรรมจริยธรรม”
ม.ล.ปนัดดาฯ กล่าวในความตอนหนึ่งของการบรรยายพิเศษ ว่า เสมือน 40 ปีเพิ่งผ่านพ้นไป ผมยังจดจำได้แม่นยำ แม้ขณะนั้นยังเป็นนักศึกษาเรียนปริญญาโท แต่การที่พ่อตั้งใจจะทำอะไรสักอย่างเพื่อประโยชน์สุขแก่ส่วนรวม พ่อจะไม่เคยเว้นว่าง เสียสละทุกอย่างด้วยคำนึงถึงเกียรติยศของครอบครัวและวงศ์ตระกูล เป็นที่มาของการเปิดวังวรดิศ วังซึ่งเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตราบจนสิ้นพระชนม์ ขึ้นเป็นพิพิธภัณฑ์ ที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า ‘โรงเรียนดำรงราชานุภาพ’ แหล่งเรียนรู้คุณธรรม ผ่านพ้นไป 40 ปี ตั้งแต่บุพการียังอยู่กับเราจนกระทั่งท่านจากไป ดำรงไว้แต่คุณงามความดีให้เรารักและคิดถึง
ทุกวันนี้ ภริยาของ ม.ล.ปนัดดา คือ คุณอัมพร ดิศกุล ณ อยุธยา และบุตรชาย ได้เป็นกำลังใจอันสำคัญให้กับ ม.ล.ปนัดดา ทั้งในเรื่องหน้าที่ราชการและการดำรงรักษาวังวรดิศ ตลอดรวมถึงครูอาจารย์และข้าราชการบำนาญกระทรวงมหาดไทยหลายท่านที่มีรักความความผูกพันกับวังวรดิศและบิดาของ ม.ล.ปนัดดา ต่างกรุณามาช่วยกันต้อนรับแขกเหรื่อและลูกหลานเยาวชนในการมาทัศนศึกษาวังบุคคลสำคัญของโลกแห่งนี้
“สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงมีพระกรุณาธิคุณกับบุพการีของผมอย่างหาที่สุดมิได้ ในวันเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑ์วังวรดิศ ได้ทรงมีรับสั่งชมเชยถึงความเสียสละของคุณพ่อในการดำรงรักษาวังวรดิศเป็นพระเกียรติยศถวายสมเด็จปู่ของพ่อ ผมและครอบครัวมีความปลาบปลื้มใจสุดพรรณนา”
ในช่วงท้ายของการบรรยายพิเศษ เรื่อง “คุณธรรมจริยธรรม” ม.ล.ปนัดดา กล่าวกับครูอาจารย์ ลูกหลานเยาวชนและผู้เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์วังวรดิศ ว่า การกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ตั้งแต่เรื่องใกล้ตัว จนกระทั่งไกลตัว จำต้องมีความเพียรพยายามอย่างมาก เพื่อให้งานเกิดความสำเร็จ ยิ่งงานนั้นเป็นเรื่องของคุณงามความดี ไม่มีเรื่องผลประโยชน์อื่นใดมาข้องเกี่ยว เรายิ่งมีความเพียรและทำด้วยใจบริสุทธิ์ เพื่อผลดีผลได้แก่องค์กรและสังคม ผู้อื่นมองแล้วมีความเชื่อมั่นศรัทธา สิ่งนี้ที่เรียกว่า “ธรรมชาติของมนุษย์” (Human Nature) คือ การทำความดี โดยไม่ต้องให้ใครมามอบคำนิยมหรือความชื่นชมใดๆ ในทางกลับกัน สิ่งใดก็ตามแฝงไว้ซึ่งผลประโยชน์ มีนอกมีใน ผู้กระทำมักรีบเร่งเป็นพิรุธ มีความร้อนอกร้อนใจ ลึกลับซับซ้อน งานในลักษณะนี้เรียกว่าเป็นปมด้อย (Inferiority) แก่ผู้กระทำ มักมองคนอื่นเป็นศัตรูที่จะมาคอยจับผิด ซึ่งในหลายกรณีมักจะคิดไปเอง ทุกข์ใจไปเอง มองผู้อื่นในเชิงลบ ซึ่งสิ่งนี้เขาเรียกว่าหลงตน กระทั่งหลงทาง กู่ไม่กลับ เหมือนกับความหมาย ‘กระทงหลงทาง’ (be misguided)
“คุณธรรมจริยธรรมจึงถือเป็นเรื่องค้ำจุนความอยู่รอดปลอดภัยของครอบครัว องค์กร และบ้านเมือง ที่คิดจะกระทำอะไรแต่ละคราวต้องคำนึงถึงความถูกต้อง สิ่งอันพึงปฏิบัติ หรือไม่พึงปฏิบัติ จะทำให้บุคคลตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ ผู้ใหญ่ท่านสอนกันมาเช่นนี้ เพื่ออยากให้สังคมของเราดำรงอยู่ด้วยความดี มีความร่มเย็นเป็นสุข”