วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2567

5 มีนา 61 “วันนักข่าว” ถึงเวลาที่…ช่องทางการนำเสนอเปลี่ยนไป!!!

กรอบนี้ใน “เชียงใหม่เดลี่ดอทคอม” เปิดไว้ตั้งแต่เริ่มต้น แต่ยังหาทั้งเวลา ทั้งโอกาสที่จะ “เริ่มเขียน” ด้านหนึ่งด้วยภาระบางประการที่รับผิดชอบหรือยังชมชอบที่จะเขียนผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ จึงยังไม่ได้ “เริ่มเขียน” ซักที

วันนี้ได้โอกาส เป็นเวลาที่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ด้วยภาระที่รับผิดชอบในจุดเดิมถูกปลดลงด้วยกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไทยไปเรียบร้อยแล้ว วันนี้จึงเป็นวันเริ่มต้นของ…บทบรรณาธิการ เป็นบทบรรณาธิการที่เริ่มต้นในเชียงใหม่เดลี่ดอทคอมใน….วันนักข่าว

“วันนักข่าว” กำหนดให้ตรงกับวันที่ 5 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันที่สื่อรุ่นก่อนหน้านี้หลายรุ่นช่วยกันกำหนด โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ….

เพื่อการสังสรรค์ และพักผ่อน ในมวลหมู่…นักข่าว

สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย บันทึกเกี่ยวกับประวัติวันนักข่าว วันที่ 5 มีนาคม ไว้ว่า….โดยที่ได้พิจารณาเห็นว่า หนังสือพิมพ์ได้มีการพัฒนาการก้าวหน้ามาเป็นลำดับและผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ก็ได้เพิ่มพูนเป็นปึกแผ่นแน่นหนาขึ้นทุกที จึงเป็นการสมควรที่จะได้กำหนดวันที่ระลึกขึ้นสักวันหนึ่ง เพื่อแสดงออกถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของผู้ร่วมวงการ จึงตกลงกันให้ถือเอาวันที่ 5 มีนาคม เป็นวันนักข่าวและหนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับจะถือเอาวันนี้ เป็นประเพณีแห่งการหยุดงานประจำปี ตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2510 เป็นต้นไป

หากนับ 1 เมื่อปี 2510 ถึงวันนี้ก็ 51 ปี เป็น 51 ปีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในแวดวงสื่อสารมวลชนทุกแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น ทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ กลุ่มหลังสุดนี่ล่ะ หนักว่าเพื่อ พูดได้เต็มปากเลยล่ะว่า…คือลมหายใจห้วงสุดท้ายของหนังสือพิมพ์

ในวันนี้วันที่โลกทั้งใบถูกย่อมาไว้ในมือ พฤติกรรมการบริโภคในทุกสรรพสิ่งของมวลชนเปลี่ยนไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะการเสพข่าวสาร เพียงแค่ เปิด…จิ้ม…ปัด…รูด หรืออะไรต่อมิอะไรอีกมากในพฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟนก็สามารถเสพข่าวสารได้อย่างจุใจ มีทั้งแบบนิ่งๆ แบบตัวอักษร หรือจะเป็นแบบเคลื่อนไหว แม้กระทั่งรายงานสด ล้วนอยู่ในมือแทบทั้งสิ้น ซึ่งตอบได้ชัดยิ่งว่า…..

ช่องทางการนำเสนอข่าวสารได้เปลี่ยนไปแล้วอย่างสิ้นเชิง!!!

มาถึงตรงนี้จึงไม่แปลกที่จะมีทั้งข่าวลือทั้งข่าวจริงกับประเด็นการปิดตัวของสื่อสิ่งพิมพ์อย่างต่อเนื่องหลังจากที่โลกทั้งใบถูกย่อมาไว้ในมือ ก็มีทั้งที่ปิดตัวจริงๆ กับที่ยังทนอยู่ต่อ ประเด็นที่สำคัญกับหายไปกับสื่อสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ก็คือ….

คอลัมนิสต์

ก็ประดาบทความต่างๆ ที่อยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์นั่นล่ะ ด้วยว่ากลุ่มคนเขียนบทความ หรือ คอลัมนิสต์ ส่วนใหญ่หรือเกือบจะทั้งหมด ล้วนเกินกว่าจะแกงได้กับงานที่เรียกว่า “สื่อออนไลน์” ไม่ว่าจะเป็น “หนังสือพิมพ์ออนไลน์” ไม่ว่าจะเป็น “ทีวีออนไลน์” ส่วนคนที่คลุกอยู่ในแวดวงสื่อออนไลน์ก็หาคนที่จะเป็นคอลัมนิสต์ได้ยากเต็มทีเช่นกัน ประการนี้แสดงให้เห็นชัดว่า…

“งานเขียน” ได้จางหายไปจากสังคมไทย

วันที่ 5 มีนาคม 2561 เป็นอีกวันของการครบรอบ “วันนักข่าว” จะเป็นปีที่เท่าไรไม่สำคัญ แต่ที่สำคัญก็อย่างที่บอก…ช่องทางการนำเสนอข่าวสารไปเปลี่ยนไปแล้วอย่างสิ้นเชิง แต่ที่ยังจะคงอยู่คู่กับความเป็น “นักข่าว” คงไม่พ้นคำว่า “ความจริง” แม้ว่าช่องทางการนำเสนอข่าวสารใหม่นี้จะแข่งกันด้วย “ความเร็ว” แต่เพียงแค่ “ความเร็ว” คงจะเรียกว่าเป็น “ข่าว” ไม่ได้ หากขาด “ความจริง” นั่นหมายความว่า…..

การจะเรียกตัวเองว่า “นักข่าวออนไลน์” ได้ คงไม่ใช่แค่ “เร็ว” งอเท้าแบมือขอ…นั่งแช่กับที่เพื่อ “รอก๊อป” เท่านั้น!!! เพราะการจะเป็นนักข่าวออนไลน์ได้นั้น ยังคงต้องมี “สันดานนักข่าว” เช่นเดียวกับนักข่าวรุ่นก่อน รุ่นที่มีมติให้วันที่ 5 มีนาคม เป็นวันข่าว คือ…

เป็นนักข่าวที่กระหายความจริง

“วายุ”