ลำพูนจัดวันมาตรฐานฝีมือแรงงาน น้อมระลึกถึง “พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย” ในหลวงรัชกาลที่9

สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานลำพูน ได้จัดพิธีถวายราชสักการะพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร “พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย” เนื่องในวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ 2561 เพื่อเทิดพระเกียรติ น้อมระลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเพื่อแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถทางด้านการช่างของพระองค์

วันที่ 2 มีนาคม 2560 ณ หอประชุม องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ตำบลป่าสัก อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน โดยนายอรรษิษฐ์สัมพันธรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธาน ในพิธีเนื่องในวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ 2561 เพื่อให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติโดยกำหนดให้ วันที่ 2 มีนาคม ของทุกปี เป็น “วันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ” ด้วยเป็นการน้อมรำลึกถึงพระปรีชาสามารถด้านช่างของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รวมทั้งการให้ความสำคัญในการพัฒนาฝีมือแรงงานของช่างไทย ให้มีความเป็นมาตรฐานยกระดับช่างสู่มาตรฐานสากล โดยมีหน่วยงานหลายภาคส่วนเข้าร่วมพิธีกว่า 150 คน

นอกจากนี้ยังมีการจัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร นิทรรศการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานและกิจกรรมส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยมอบเงินอุดหนุนกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้แก่ ศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน วิทยาลัยเทคโนโลยีชรินรัตน์ลำพูน และมอบเครื่องหมายผู้ผ่านมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ตามโครงการ “แรงงานติดดาว” จำนวน 30 คน

วันที่ 2 มีนาคม 2513 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีเปิดงาน แนะแนวอาชีพ และแข่งขันฝีมือแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ณ ลุมพินีสถาน และมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับความเป็นช่างของคนไทย ความตอนหนึ่งว่า “…ช่างทุกประเภท เป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตของบ้านเมืองและของคนทุกคน เพราะตลอดชีวิตของเรา เราต้องอาศัยและใช้บริการหรือสิ่งต่างๆ ที่มาจากฝีมือของช่างอยู่ทุกวี่ทุกวัน ผู้เป็นช่างจึงสมควรได้รับความเอาใจใส่ สนับสนุนจากทุกๆ ฝ่าย ยิ่งในสมัยปัจจุบัน วิทยาการทุกอย่างเจริญก้าวหน้ายิ่งจำเป็นต้องส่งเสริมมากเป็นพิเศษ เพื่อให้ได้ช่างที่มีความสามารถสูง ให้มีสิ่งใช้สอยที่มีคุณภาพดีและเพียงพอกับความต้องการในการส่งเสริมนั้น มีปัญหาอันควรจะได้พิจารณาช่วยเหลืออยู่สามประการ
ประการแรก ได้แก่ ปัญหาเรื่องการให้ความรู้ทางหลักวิทยาการ และความรู้ทางการออกแบบ
ประการที่สอง ได้แก่ ปัญหาเรื่องฝีมือซึ่งต้องปรับปรุงให้มีความประณีตและประสิทธิภาพได้มาตรฐานจริงๆ
ประการที่สาม ได้แก่ ปัญหาเรื่องการจัดหางานและหาตลาด เพื่อช่วยให้ช่างได้มีงานทำ มีตลาดที่จะส่งสินค้าที่ผลิตได้ไปจำหน่าย
การช่วยเหลือทั้งสามประการนี้จะต้องการทำให้สอดคล้องกันไป เพื่อให้ช่างมีรายได้และผลกำไรสำหรับนำมาเป็นทุนรอนสร้างฐานะและความก้าวหน้า ข้าพเจ้าขอฝากความคิดทั้งนี้ไว้เป็นแนวปฏิบัติของท่านทั้งหลายต่อไป….”

จากพระปรีชาสามารถทางด้านการช่าง และพระราชดำรัสที่ทรงให้ไว้ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2513 นั้น กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จึงเห็นสมควรถวายพระราชสมัญญา “พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย” แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระองค์ท่าน