วันศุกร์ที่ 16 ก.พ.61 ที่ผ่านมาผมมีโอกาสร่วมการแถลงข่าวการจัดงานมหกรรมกีฬาเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ซึ่งมีชื่อกิจกรรอย่างเก๋ว่า…..
“วิ่งพิชิตดอยอินทนนท์ คนพันธุ์อึด ครั้งที่ 2 ปี 2561….Chiang Mai Ultra Marathon 2018”
งานนี้จัดโดยมูลนิธิกองทุนเพื่ออนุรักษ์ดอยอินททนท์
พูดง่ายๆ ซื่อว่า…วิ่งขึ้นดอยอินทนนท์ ระยะทาง 50 กิโลเมตร ฝ่าอากาศสู่ความสูงที่ 2,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล!!!
รายละเอียดการของการวิ่งไว้ว่ากันอีกที เพราะนับถึงวันนี้เขาปิดรับสมัครไปแล้ว ด้วยยอดนักวิ่งที่สมัครไว้ล่วงหน้าแล้วราว 200 กว่าคน ในจำนวนนี้มีชาวต่างชาติมาร่วมวิ่ง 10 ราย คร่าวๆ ไว้แค่นี้ก่อน ส่วนที่ผมอยากจะยกมาสาทกก่อน กับประเด็นที่ พรชัย จิตรนวเสถียร ประธานมูลนิธิกองทุนเพื่ออนุรักษ์ดอยอินทนนท์ กล่าวส่งท้ายการแถลงข่าวไว้ว่า
“…คงจะมีคำถามมากว่าทำไมงานมีวันเสาร์ที่ 17 อาทิตย์ที่ 18 ที่จะถึงนี้ถึงมาแถลงเอาวันที่ 16 ก.พ. ซึ่งจวนเจียนมาก ก็อยากบอกว่า การแถลงข่าววันนี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อให้ยอดผู้ที่จะเข้าร่วมวิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่าที่มีอยู่ เพียงอยากให้สังคมได้รับรู้ถึงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม…” พรชัยฯ กล่าว
“…การวิ่งครั้งเป็นเพียงกิจกรรมหนึ่งที่ต้องการสร้างความตระหนักในการที่จะร่วมกันพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อม ปกปักษ์รักษาทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดอยอินทนนท์ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของประเทศไทย การจัดกิจกรรมที่คนทั่วประเทศสามารถมามีส่วนร่วมเชื่อว่าจะสร้างให้เกิดความตระหนักในเรื่องการพิทักษ์รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้บ้างไม่มากก็น้อย เพราะปัญหาอันเกิดแก่ดอยอินทนนท์ใช่แค่เชียงใหม่เท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ คนกรุงเทพเรื่อยลงไปย่อมได้รับผลกระทบด้วยกันทั้งสิ้น…” พรชัย จิตรนวเสถียร กล่าว
ผมรู้จักคนชื่อ “พรชัย” ผ่านกาลมาเป็นสิบๆ ปีก็ว่าได้ สิ่งหนึ่งที่ได้เห็นจากคนๆ นี้บ่อยครั้งคือ…ความตั้งใจ เป็นความตั้งใจในการที่จะทำในเรื่องที่ควรทำเพื่อบ้านเพื่อเมือง แบบว่า…ทำจริงจังในทุกเรื่องที่คิดทำเพื่อสังคม
อย่างที่ “พรชัย” ว่านั่นล่ะ…ถ้าทุกคนมีความตระหนักแล้วล่ะก็ปัญหา ทั้งไฟป่า ทั้งหมอกควัน คงไม่รุนแรง รวมไปถึง คงไม่มีเรื่อง…เสือดำ ให้ปรากฏหน้าสื่อสารมวลชนของไทยอย่างแน่นอน
สำหรับการแข่งขัน “วิ่งพิชิตดอยอินทนนท์ คนพันธุ์อึด ครั้งที่ 2 ปี 2561….Chiang Mai Ultra Marathon 2018” แบ่งการแข่งขันออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. วิ่งอัลตร้ามาราธอน 50 กม. ประเภทบุคคล ปล่อยตัวเวลา 05.00 น. แบ่งกลุ่มอายุดังนี้
บุคคล ชาย อายุไม่เกิน 39/40 ปี ขึ้นไป และบุคคล หญิงทั่วไป
2. วิ่งผลัดอัลตร้ามาราธอน 50 กม. ทีม 3 คน ปล่อยตัวเวลา 05.00 น. แบ่งกลุ่มการแข่งขันดังนี้
ประเภททีมชายล้วน 3 คน (20+12+18 = 50 Km.)
ประเภททีมผสม 3 คน (20+12+18 = 50 Km.) (มีชายหรือหญิงอย่างน้อย 1 คนในทีม)
3. วิ่งผลัดอัลตร้ามาราธอน 50 กม. ทีม 5 คน ปล่อยตัวเวลา 05.00 น. แบ่งกลุ่มการแข่งขันดังนี้
ประเภททีมชายล้วน 5 คน (10+10+12+10+8 = 50 Km.)
ประเภททีมผสม 5 คน (10+10+12+10+8 = 50 Km.) (มีชายหรือหญิงอย่างน้อย1 คนในทีม)
โดยการจับเวลาของนักวิ่งทุกคนและเปลี่ยนผลัดด้วย ระบบ Ultimate Timing chips Systems
Cut-Off (10ชั่วโมง) 05.00-15.00 น.
“…วิ่งมาราธอน จะมีระยะทางอยู่ที่ 42 กิโลเมตร ถ้าเกินกว่านี้จะมีคำว่า “Ultra” เพิ่มนำหน้าเข้ามา ซึ่งเป็นการวิ่งระยะไกลทั่วไป แต่สำหรับดอยอินทนนท์แล้วจะพิเศษกว่าที่อื่นๆ เพราะว่า การวิ่งทริปนี้จะเป็นการวิ่งที่ยากที่สุดของการวิ่งที่จัดมาทั้งหมดในประเทศไทย ที่ว่ายากนั้นเนื่องจากการวิ่งพิชิตดอยอินทนนท์จะมีความพิเศษตรงที่ นอกจากระยะทางที่เข้าข่าย “Ultra” นักวิ่งยังต้องแข่งกับ…ความสูง…ความหนาว…ความกดอากาศ…” สายัณห์ แห่ง JOG&JOY กล่าว
“…วิ่งพิชิตดอยอินทนนท์ คนพันธุ์อึด ครั้งที่ 2 ปี 2561….Chiang Mai Ultra Marathon 2018 จัดโดยใช้มาตรฐานการจัดการแข่งขันวิ่งในระดับนานาชาติ ทั้งวันรับรายงานตัว วันแข่งขัน กิจกรรมภายหลังการแข่งขันเสร็จ รวมถึงเรื่องอาหารการกิน ที่พักที่จัดการแข่งขัน การรักษาความปลอดภัยในเส้นทางการแข่งขัน และการประกันอุบัติเหตุให้แก่ผู้ร่วมวิ่งแข่งขัน…” สายัณห์ สมดุลยาวาทย์ แห่ง JOG&JOY ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการแข่งขัน กล่าว
ส่วนรายละเอียดในการจัดการแข่งขันผมคงไม่เอามาสาธยายให้มากความ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.jogandjoy.com
รายงานพิเศษฉบับนี้ของผมจึงเป็นเพียงแค่ ผู้ที่ต้องการบอกกล่าวให้สังคมเชียงใหม่และประเทศไทยได้ทราบว่า…
หากมีความ “ตระหนัก” ในประชาชนทุกหมู่เหล่าแล้วไซร้ “ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” ของไทย “คงไม่ย่อยยับ พินาศวอดวายเป็นแน่”
ธัชชัย โกมลรัตน์….รายงาน