วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

“แผนรับมือไฟป่าฯ” จังหวัดตั้งเป้าลดให้ได้ร้อยละ 20 แม่ทัพน้อยที่ 3 เคาะให้ใหม่ มหกรรมเผาต้องลดให้ได้ร้อยละ 50

19 ธ.ค. 2017
2394

วันที่ 19 ธ.ค.60 ที่ห้องประชุมสโมสรค่ายกาวิละ พล.ท.สมพงษ์ แจ้งจำรัส แม่ทัพน้อยที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับภาคส่วนหน้า หรือ ศอ.ปกป.ภาค(สน.) เป็นประธานประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน 9 จังหวัดภาคเหนือเพื่อชี้แจงการดำเนินงานตามแผนรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ประจำปีงบประมาณ 2561

รวมทั้งการวางแผนซักซ้อมดับไฟป่า (Kick off) ในพื้นที่ โดยจะดำเนินการในวันอังคารที่ 30 มกราคม 2561 ที่กองพลทหารราบที่ 7 อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ พร้อมกับบูรณาการการทำงานร่วมกันในด้านอัตรากำลัง เครือข่าย อุปกรณ์เครื่องมือ ยานพาหนะและอากาศยานในการป้องกันและแก้ไขไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ

แม่ทัพน้อยที่ 3 กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการซักซ้อมทำความเข้าใจร่วมกัน โดยเฉพาะจากข้อมูลของศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือซึ่งระบุว่าในช่วงเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนเมษายนจะเป็นช่วงที่อากาศร้อนและแห้งแล้งซึ่งถือว่าจะเป็นช่วงวิกฤตที่สุด และพื้นที่น่าห่วงมากที่สุดคือจังหวัดเชียงรายที่จะประสบปัญหาหมอกควันข้ามแดน เพราะตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนของทุกปีในพื้นที่ภาคเหนือของไทยมักประสบปัญหาค่าฝุ่นละอองเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัยของประชาชน ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญและมีผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจของภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจท่องเที่ยว

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) ได้ประเมินสถานการณ์จากสถิติจุดความร้อนหรือ Hot Spot ในห้วงปี 2555-2560 สถานการณ์ของสภาพอากาศในห้วงปี 2561 จึงคาดการณ์ว่าจุดความร้อนจะลดลงจากปีก่อน โดยน่าจะอยู่ที่ 4,448 จุดหรือช่วงระหว่าง 3,559-5,338 จุด อย่างไรก็ตามทางศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับภาค ส่วนหน้าต้องการให้ใช้กลไกประชารัฐ โดยทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาร่วมมือแก้ไขปัญหาโดยเร็ว โดยมุ่งเน้นการรณรงค์สร้างจิตสำนึกและใช้การประชาสัมพันธ์ด้วยสื่อทุกชนิดเพื่อให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากไฟป่าและหมอกควัน รวมไปถึงวิธีป้องกันและแนวทางแก้ไขปัญหา รวมทั้งให้ประชาชนได้เตรียมความพร้อมในการเฝ้าระวังตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อลดพื้นที่การเผาให้น้อยลง ปัญหาหมอกควันลดระดับความรุนแรงลงจนไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและไม่ส่งผลกระทบต่อคมนาคมและเศรษฐกิจ

“ขอเน้นย้ำให้ทุกจังหวัด โดยเฉพาะวอร์รูมที่สามารถสั่งการในระดับพื้นที่ได้ทุกวัน ทั้งของอำเภอและจังหวัด โดยมุ่งเน้นพื้นที่เสี่ยงเพื่อไม่ให้ปัญหาหมอกควันและไฟป่ารุนแรง พื้นที่ไหนมีจุดความร้อนหรือมีการลักลอบเผาจะต้องรายงานเข้าวอร์รูม และรายงานมายังศูนย์อำนวยการสั่งการฯทันที” พล.ท.สมพงษ์ฯ กล่าวและว่า

สำหรับแผนรณรงค์ป้องกันฯ จะส่งทหารลงพื้นที่ทุกจังหวัด โดยจะประสานในระดับจังหวัดเท่านั้นจะไม่ลงไปล้วงลูกถึงระดับอำเภอและตำบลหมู่บ้าน เพื่อเดินหน้ากลไกประชารัฐ ทั้งนี้ให้ศูนย์สั่งการแก้ไขปัญหาไฟป่าฯ จังหวัดเปิดศูนย์ฯ ได้ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค.นี้ สำหรับงบประมาณทั้งค่าน้ำมันและเบี้ยเลี้ยงของกำลังพลที่สนับสนุนการปฏิบัติงานของแต่ละจังหวัด ให้จังหวัดจัดสรรงบประมาณสนับสนุน ทั้งนี้จุดความร้อน หรือ Hot Spot จะต้องไม่เกิน 4,000 จุด หากเกินจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน โดยแต่ละจังหวัดไปหากลยุทธ์มาให้ได้

ทางด้าน นายชานนท์ คำทอง ผอ.สำนักงาน ทสจ.เชียงใหม่ กล่าวถึงแผนป้องกันปัญหาไฟป่าและหมอกควันประจำปี 2561 ของจังหวัดเชียงใหม่ว่า เชียงใหม่มีพื้นที่เผาไหม้ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าสงวนและป่าอนุรักษ์ โดยปีนี้ได้เน้นย้ำเป็นเป้าหมายหลักโดยเฉพาะป่าอนุรักษ์ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประชาชนไม่สามารถเข้าไปทำกินได้ และในปีนี้ช่วง 60 วันห้ามเผาจะลดจุดความร้อนเดิมกำหนดไว้ 20 เปอร์เซ็นต์ หรือ 468 จุด แต่ทางกองทัพขอให้ตั้งเป้าให้ทุกกิจกรรมลดลงร้อยละ 50 จากข้อมูลปีที่ผ่านมา

พล.ท.สมพงษ์ แจ้งจำรัส ผอ.ศอ.ปกป.ภาค(สน.) กล่าวอีกว่า เกี่ยวกับแผนปฏิบัติการอยากให้ทุกจังหวัดใช้ชื่อแผนแบบเดียวกันคือ แผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันต่อด้วยชื่อจังหวัด เพื่อให้การปฏิบัติการเป็นไปในแนวทางเดียวกันในภาพรวม สำหรับเป้าหมายในการปฏิบัติอยากให้ทุกจังหวัดกำหนดเป้าแรงๆ และสูงไว้ก่อน ทุกกิจกรรมที่เกิดทั้งไฟป่า ค่า PM-10 ให้ลดลงร้อยละ 50 จากปีที่ผ่านมา

“ในส่วนของ ศอ.ปกป.ภาค(สน.) จะดูในจังหวัดที่เกิดจุด Hot Spot มากที่สุด 3 อันดับในปีที่ผ่านมา อย่างเช่นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 3 อันดับแรกคือ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และตาก ส่วนในพื้นที่ป่าสงวน 3 อันดับแรกคือ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และตาก หากทั้ง 3 จังหวัดอันดับต้นๆ ลดลงได้มากกว่าร้อยละ 50 ภาพรวมก็จะลดลงเกินกว่าครึ่ง ในส่วนของจังหวัดเองก็ต้องโฟกัสไปยังพื้นที่เสี่ยง 3 อำเภออันดับแรกๆ ที่เกิดไฟป่ามากที่สุด ถัดลงไปในระดับอำเภอก็ให้โฟกัสไปยัง 3 ตำบลที่เกิดไฟป่ามากที่สุด 3 อันดับแรกเช่นกัน ส่วนกลยุทธ์สำคัญที่จะทำให้แตกหักคือ คนหาของป่า ต้องมีการลงทะเบียนคนที่เข้าไปหาของป่า โดยให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้รับลงทะเบียน หากเกิดการเผาในพื้นที่ก็แจ้งความดำเนินคดีได้เลย” พล.ท.สมพงษ์ แจ้งจำรัส กล่าว

ทั้งนี้ กองทัพภาคที่ 3 ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพภาคที่ 3 จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับภาค (ศอ.ปกป.ภาค) โดยมี มทภ.3 เป็นผู้บังคับบัญชา มีภารกิจ อำนวยการ ปฏิบัติการเฝ้าระวัง สั่งการ ควบคุม กำกับดูแล ทุกหน่วยงานในส่วนภูมิภาคและ 9 จังหวัดภาคเหนือ (ศอ.ปกป.จว.) เพื่อบูรณาการงานทุกภาคส่วน เข้าร่วมกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่รับผิดชอบ ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับภาค ส่วนหน้า (ศอ.ปกป.ภาค (สน.)) มีภารกิจในการวางแผน อำนวยการ ควบคุมและกำกับดูแลการปฏิบัติของชุดรณรงค์ป้องกันไฟป่าและหมอกควัน ทั้ง 14 ชุด และชุดดับไฟ 116 ชุด รวมทั้งอำนวยการและบูรณาการการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ร่วมกับศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับจังหวัด ในห้วงวันที่ 1 ธ.ค.60 – 30 เม.ย.61 ในการประสานงานกับหน่วยราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ รณรงค์สร้างจิตสำนึก ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ราษฎร ในการเฝ้าระวัง แจ้งเตือนการเกิดไฟป่าและป้องกัน มิให้เกิดไฟป่าขั้นรุนแรง