วันศุกร์, 22 พฤศจิกายน 2567

ทุ่มกว่า 28 ล้านผุดห้องปฏิบัติการ ที่สุดสำเร็จ มช. ผลิตพลาสติกชีวภาพได้เป็นที่แรกของไทย

ที่พิลลาร์เฮาส์ เชียงใหม่ ย่านวัดเกต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ร่วมกันแถลงข่าวความสำเร็จห้องปฏิบัติการผลิตพลาสติกชีวภาพสำหรับใช้ทางการแพทย์ แห่งแรกของประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือ 4 หน่วยงาน และพิธีมอบใบรับรองระบบการจัดการคุณภาพ ISO 13485 โดยมี ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ รศ.ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มช. ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ดร.วิวรรณ ธรรมมงคล ผู้จัดการฝ่ายวิจัยเทคโนโลยีกระบวนการปิโตรเลียมและปิโตรเคมี บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ ผศ.ดร.วินิตา บุณโยดม หัวหน้าห้องปฏิบัติการผลิตพลาสติกชีวภาพ มช. และหัวหน้าทีมวิจัย ร่วมกันแถลงผศ.ดร.วินิตา บุณโยดม หัวหน้าคณะวิจัย กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยต้องสั่งซื้อ “เม็ดพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ” มาจากต่างประเทศและนำมาขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์พร้อมใช้ ซึ่งอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมปลายน้ำของพลาสติกที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงมาก มีอัตราการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว แนวโน้มการขยายตัวคาดว่าจะต่อเนื่องไปในอนาคต เนื่องจากประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงต้องการการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตพลาสติกและนวัตกรรมใหม่ในการผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ คณะผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตพอลิเมอร์ย่อยสลายได้ทางชีวภาพเกรดทางการแพทย์ โดยใช้วัตถุดิบชีวมวลที่เป็นพืชผลทางการเกษตร เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นมูลค่าต่ำในประเทศ เพื่อนำไปใช้เป็นเม็ดพลาสติกสำหรับผลิตวัสดุทางการแพทย์ (Biomaterials) หรือ เครื่องมือแพทย์ (medical devices) วัสดุเหล่านี้สามารถย่อยสลายได้ในร่างกายผู้ป่วย ไม่ต้องผ่าตัดนำออกมาจากร่างกาย

ด้วยเหตุดังกล่าว มช. ร่วมกับ วช. สนช. และ ปตท. ได้สนับสนุนงบประมาณเป็นเงิน 28 ล้านบาท เพื่อสร้าง “ห้องปฏิบัติการผลิตพลาสติกชีวภาพสำหรับใช้ทางการแพทย์ (Bioplastics Production Laboratory for Medical Applications)” คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการต้นแบบผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพทางการแพทย์คุณภาพสูงมาตรฐานสากลแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่ดำเนินการโดยนักวิจัยไทย

หัวหน้าคณะวิจัย กล่าวต่อว่า “ห้องปฏิบัติการผลิตพลาสติกชีวภาพสำหรับใช้ทางการแพทย์” เป็นห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรอง ISO13485 (ระบบบริหารคุณภาพสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ Medical devices-Quality management systems – Requirements for regulatory purposes) จากบริษัท TÜV SÜD ประเทศสหรัฐอเมริกา ในขอบเขต “Design and Development, Production and Distribution of Medical Polymers” (รูปที่ 3) เพื่อผลิตและจำหน่ายเม็ดพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพเกรดทางการแพทย์ ดำเนินการในห้องสะอาด (cleanroom) ตามมาตรฐานระดับนานาชาติ คือ ASTM F1925-09 (Standard Specification for Semi-Crystalline Poly(lactide) Polymer and Copolymer Resins for Surgical Implants) ได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพลาสติกชีวภาพของประเทศไทยเองโดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาใหม่ ตามสิทธิบัตรประเทศสหรัฐอเมริกา เลขที่ US 9,637,507 B2 (May 2017) ใช้วัตถุดิบชีวมวลที่เป็นพืชผลทางการเกษตร เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง เป็นวัตถุดิบตั้งต้นมูลค่าต่ำในประเทศ โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะเป็นผู้นำเทคโนโลยีที่ร่วมกันพัฒนาขึ้นมานี้ไปต่อยอดเพื่อผลิตพอลิเมอร์เกรดทางการแพทย์เพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ต่อไป นอกจากนี้ห้องปฏิบัติการได้ผ่านการรับรองระบบการจัดการด้านความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวกับสารเคมี ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระบบการจัดการด้านความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวกับสารเคมี (มอก. 2677-2558)” ภายใต้โครงการจัดทำกระบวนการตรวจประเมินและรับรองห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวกับสารเคมีของ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) อีกด้วย

ผศ.ดร.วินิตาฯ กล่าวว่า เม็ดพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพประเภทพอลิเอสเทอร์เกรดทางการแพทย์ที่สามารถผลิตได้ในห้องปฏิบัติการ ตัวอย่างเช่น พอลิ(แอล-แลคไทด์) (พีแอลแอล) และ พอลิ(แอล-แลคไทด์-โค-คาโปรแลคโทน) (พีแอลซี) มีชื่อทางการค้าคือ CMU-Bioplasorb® PLA และ CMU-Bioplasorb® PLC สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับผลิตวัสดุทางการแพทย์ เช่น ไหมเย็บแผลที่ละลายได้ ท่อนำเส้นประสาท ตัวควบคุมการปลดปล่อยตัวยาภายในร่างกาย และ เครื่องมือแพทย์ เช่น วัสดุทางทันตกรรม อุปกรณ์ประเภท สกรูและแผ่นดาม ถ้าสามารถผลักดันให้เกิดการผลิตวัสดุดูดซึมได้ในทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานรับรองและผลิตได้เองในประเทศ ก็จะสามารถลดการนำเข้าจากต่างประเทศ สร้างเศรษฐกิจที่ดีด้วยนวัตกรรม พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน สร้างทางเลือกในการรักษาให้กับแพทย์และผู้ป่วย โครงการวิจัยนี้สนับสนุนนโยบายรัฐบาล Thailand 4.0 ได้กำหนดให้มีการพัฒนา 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต

ผศ.ดร.วินิตา กล่าวต่อว่า ในส่วนของอุตสาหกรรมใหม่ (The New S-Curves) ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาขีดความสามารถ ให้มีศักยภาพรองรับการแข่งขันในอนาคต ด้านอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels & Biochemical) และ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ทำให้นักวิจัยในประเทศไทยรวมทั้งผู้ประกอบการด้านวัสดุทางการแพทย์สามารถซื้อเม็ดพลาสติกได้กิโลกรัมละประมาณ 80,000-90,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ถูกกว่าสั่งซื้อจากต่างประเทศซึ่งสูงถึงกิโลกรัมละ 150,000-200,000 บาท จึงเป็นโอกาสดีที่จะผลิตเพื่อส่งออกและชดเชยการนำเข้าและมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับภายใต้มาตรฐานสากล ขณะนี้อยู่ระหว่างการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ ทดสอบตลาด ซึ่งหากมีผู้สนใจนำเม็ดพลาสติกชีวภาพไปวิจัยและพัฒนาขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์สามารถติดต่อซื้อได้ที่อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปัจจุบันคณะผู้วิจัยร่วมมือกับทีมแพทย์และสัตวแพทย์ ในการนำเม็ดพลาสติกชีวภาพดังกล่าวมาพัฒนาต่อยอดโดยการขึ้นรูปเป็นไหมเย็บแผลที่ละลายได้ ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ด้วยปฏิกิริยาไฮโดรไลซิสโดยระบบเมตาบอลิซึมในร่างกาย จึงช่วยลดขั้นตอนในการรักษา ทำให้ไม่ต้องทำการผ่าตัดซ้ำ ผู้ป่วยไม่ต้อง เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมและไม่ต้องทนเจ็บปวดหลายครั้ง ทั้งนี้สามารถลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้ 100 เปอร์เซ็นต์