วันศุกร์, 22 พฤศจิกายน 2567

ฝายทาชมพู แลนด์มาร์คสุดฟิน!! ที่เที่ยวอีกแห่งที่ต้องไม่พลาด

สัปดาห์ที่ผ่านมาผมมีโอกาสไปเยือนเมืองรถมา นครลำปาง ด้วยว่าต้องไปร่วมพิธีประดับเครื่องหมายยศให้กับกำลังพลในสังกัด มทบ.32 การที่ต้องไปเพราะรุ่นพี่สุดเลิฟได้เข้ารับการประดับเครื่องหมายยศกับเขาด้วย โดยเลื่อนจาก “พันตรี” เป็น “พันโท” ในตำแหน่ง จากศาลมณฑลทหารบกที่ 32 ค่ายสุรศักดิ์มนตรี พิธีเสร็จกว่าจะสิ้นสุดการแสดงความยินดี…ผมต้องนอนลำปาง แบบว่าหนักเอาการ

ก่อนหน้านั้นเพียงวัน “พี่จี๋” จานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผู้อำนวยสำนักงานชลประทานที่ 1 นำภาพมาโพสในไลน์กลุ่มข่าวชลประทาน เป็นภาพมุมสูงโฟกัสเอาทั้งสะพานขาวแม่ทากับฝายลูกหนึ่งที่ตั้งติดกับตัวสะพาน เป็นฝายที่สร้างแล้วเสร็จหมาดๆ เป็นฝายที่ทางกรมชลประทาน เพิ่งจะถ่ายโอนให้กับท้องถิ่น ผมถามในกลุ่มทันทีเช่นกันว่า…ฝายอะไร ไปยังไง คำตอบที่ได้

ฝายทาชมพู (ชื่อตามโครงการก่อสร้าง อันที่จริงน่าจะชื่อ ฝายทาชมภู ตามชื่อตำบล)

ขากลับจากลำปางผมบอกว่าจะแวะชมว่าจะสวยสดงดงามดั่งภาพที่ “พี่จี๋” ส่งมายั่วสายตาหรือไม่

ผมออกจากย่านสบตุ๋ย ซึ่งเป็นที่พักราว 7 โมงกว่าๆ ใช้เส้นทางลำปาง-เชียงใหม่ (สายเก่า) ผ่านไปทางหนองกระทิง มุ่งหน้าอำเภอห้างฉัตร โดยมีเป้าหมายเพื่อแวะร้าน “ก๋วยเตี๋ยวลูกทุ่ง”….ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นยักษ์ที่ขึ้นชื่อของเมืองรถม้า ก็ยังคงความอร่อยเหมือนเดิมนั่นล่ะ
เสร็จจากการรองท้องในมื้อเช้า ผมออกจากร้านขับตามตามทางเพื่อกลับรถบริเวณสามแยกห้างฉัตร เพื่อวกกลับมุ่งหน้าสูงเชียงใหม่โดยทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 ก็เส้นทางข้ามดอยขุนตานมานั่นล่ะ พอเข้าสู่พื้นที่ตัวอำเภอแม่ทา ผมต้องกลับรถอีกครั้ง วกกลับเพื่อจะมาเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงชนบทหมายเลข ลพ.2031 ทางรถยนต์ที่จะขึ้นดอยขุนตาน หรือจะเรียกถนนแม่ทา ลำพูน – แม่ออน เชียงใหม่ ก็ได้จากสามแยก ลพ.2031 ตัดทางหลวงหมายเลข 11 เข้าไปอีกราว 7 กิโลเมตร เลี้ยวขวาอีกครั้ง เป้าหมายที่จะไปมีป้ายบอกชัดเจนชี้ไปทางขวามือ….
สะพานขาวทาชมภู

ผมถึงจุดทั้งตั้งทั้งตัวสะพานขาว ทั้งตัวโครงการฝายทาชมพู เวลาล่วงเลยไปกว่า 11 โมงแล้ว จอดรถในจุดที่เขาจัดไว้ให้จอด จากนั้นก็…เดิน ล่ะสิ มาได้เวลาพอดิบพอดี บอกกับตัวเองว่า…

อย่างร้อน

แดดจ้า แทบจะแผดเอาตัวสะพานขาวให้ละลายไปด้วยเลยก็มิปาน ผมเดินไปบันทึกภาพไป ในแต่ละมุมที่คิดว่า จะนำภาพมาใช้ ได้ภาพสะพานขาวทาชมพูพอสมควร มองข้ามผ่านสะพานไปยังตัวฝาย ผมต้องเดินข้ามทางรถไฟไปอีกฝากของทาง เข้าสู่บริเวณฝายทาชมพูซึ่งมีป้ายตั้งเป็นที่โดดเด่นชันเจนระบุหรา ว่า

โครงการชลประทานขนาดเล็ก ฝายทาชมพูพร้อมระบบส่งน้ำ
บ้านทาชมภู หมู่ที่ 4 ต.ทาปลาดุก อ.แม่ทา จ.ลำพูน
ขนาดสันฝายสูง 4.00 เมตร ยาว 49.00 เมตร
ดำเนินการถ่ายโอนให้แก่เทศบาลตำบลทาปลาดูก เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2560

ผมเดินผ่านประตูเข้าไปยังตัวฝาย อย่างแรกที่เห็นและอดที่จะแปลใจไม่ได้ว่า ทำไมทำฝายแบบนี้ เพราะว่า…
สันฝายทำเป็นหยักๆ (คิดอยู่ในใจว่า ท่าจะทำเพื่อให้สวยงามแปลกตา)

เก็บภาพสิครับจะรออะไร เป็นภาพสันฝายแบบหยักๆ นั่นล่ะ จากนั้นก็ถ่ายไปเรื่อยๆ ในมุมต่างๆ ทั่งทั้งบริเวณ พอเดินผ่านเข้าตัวอาคารควบคุมเท่านั้น ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อล่ะว่า…

อากาศเย็นสบาย ลมเอื่อยๆ หอบเอาความเย็นจากลำน้ำขึ้นสู่ตัวอาคารควบคุม ทำให้สดชื่นอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งๆ ที่ตัวอาคาร ตั้งหรากลางแดดเปรี้ยงๆ ไม่มีต้นไม้มาปกคลุมแม้แต่ต้นเดียว (นี่ถ้ามีเตียงผ้าใบซักตัว มีหมอนซักลูก มีหนังสือดีๆ ซักเล่มล่ะก็ คงอ่านได้ไม่เกิน 3 หน้า มีอันต้องเป็นหลับ ชัวร์)

ผมเดินเก็บภาพไปเรื่อย โดยที่ไม่ได้ข้อมูลอะไรเพิ่มเติมมากไปกว่าที่ปรากฏในป้าย ได้แค่เพียงสัมผัสความงามที่แปลกตาของตัวฝาย ทั้งจากน้ำที่ล้นข้ามสันฝายเป็นทางลงไปซัดกับน้ำเบื้องล่างเป็นฟูฟ่อง ณ เวลานั้น บอกได้คำเดียวว่า…
ภาพรวมทั้งพื้นที่…สวยงาม เป็นอย่างยิ่ง

ผมกลับมาถึงเชียงใหม่ผ่านไปวันจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องนัดหมาย… “พี่จี๋” จานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ “เจ้าของความคิด” งานก่อสร้างฝายตัวนี้เพื่อการพูดคุย กับคำถามมากกมายที่ไม่คิดมาก่อนว่าคำตอบจะเป็นอะไรที่ผมไม่เคยรู้มากก่อนเลย ซึ่งถ้ารู้ว่าจะเป็นแบบนี้ ผมนัดคุยถึงแนวคิดซะก่อน คงจะได้มุมภาพที่ครอบคลุมมากกว่านี้…..

“….หลักการสำคัญก็คือ การออกแบบฝายจะต้องให้ฝายอยู่หลังสะพาน ส่วนหนึ่งจะสร้างความคงทนให้กับตัวสะพาน เนื่องมาจากตะกอนที่จะตกอยู่หน้าฝาย เมื่อลงดูพื้นที่แต่แรกเราได้เห็นสะพานตัวนี้ สะพานที่ชื่อ สะพานขาวทาชมภู สร้างในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 ถ้านับไปถึงปีหน้าสะพานนี้จะมีอายุครบ 100 ปี ตรงนี้จึงมีความหมายในด้านสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่ทรงคุณค่า การออกแบบตัวฝาย โดยเฉพาะตัวอาคาร จำเป็นอย่างยิ่งต้องออกแบบให้แมทชิ่งกันกับตัวสะพาน….”

“ฝายยังไงก็ต้องเป็นฝาย ด้วยว่าเป็นงานวิศวกรรม การออกแบบจึงเป็นเน้นที่อาคารควบคุมซึ่งจะตั้งอยู่ตรงกลางฝาย แต่ด้วยสภาพพื้นที่ที่มีเนื้อที่จำกัด การออกแบบจึงทำได้แค่เพียงเป็นห้องประชุมเล็กๆ หรือใช้สำหรับการอื่นๆ ที่ท้องถิ่นต้องการ จึงมีการออกแบบให้เป็นอาคารกลาง ใช้งานได้อเนกประสงค์”


โจทย์ที่ต้องคิดต่อไปมีอยู่ว่า…จะยืมศักยภาพน้ำมาใช้ผนวกกับงานสถาปัตย์ได้อย่างไร โดยตั้งโจทย์ไว้ว่า…..หากเมื่อไรมีไอน้ำเกิดขึ้นใต้อาคารใต้สะพานเชื่อมอาคาร ซึ่งจะคล้ายเมฆหมอก เมื่อเอาไฟเข้าใส่ อาคารก็จะโดดเด่น ราวกับว่าเป็นวิมานในอากาศที่มีเมฆลอยฟ่อง

“…ลองมองภาพน้ำตกไนแอรงการ่าจะเห็นได้ว่า เมื่อน้ำซัดลงมากระทบกับน้ำที่อยู่เบื้องล่างจะเกิดละอองน้ำฟูฟ่อง ราวกันเป็นเมฆหมอกปกคลุมไปทั่วบริเวณ ตรงนี้จึงเป็นแนวคิดในการออกแบบ โดยสร้างให้สันเขื่อนเป็นแผ่นเพื่อให้น้ำล้นตามสันลงมาแนบกับตัวฝาย ซึ่งตรงนี้จะเกิดแรงตึงผิวในช่วงต้นเมื่อไปถึงจุดที่หมดแรงลงกระทบกับน้ำพื้นล่างก็จะเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Oscillation Wave หรือเป็นไอน้ำ เป็นหมอกลอยขึ้นเหนือพื้นน้ำเบื้องล่าง…”

หากเป็นในช่วงเช้าๆ จะเห็นได้ชัดเจนยิ่ง จะเห็นเป็นไอน้ำลอยขึ้นมาถึงพื้นตัวอาคารควบคุมซึ่งลอยอยู่เหนือน้ำ โดยเฉพาะยิ่งเป็นช่วงฤดูหนาวจะยิ่งตื่นตาตื่นใจในสภาพละอองไอน้ำที่จะมีอย่างหนาแน่นปกคลุมไปทั่วทั้งพื้นอาคารควบคุมและท้องสะพานข้าม โดยจะลอยคลุ้งอยู่ทั่วบริเวณที่ทั้งตัวอาคารและสะพานกดทับไว้ นั่นจะเป็นภาพที่รังสรรค์โดยธรรมชาติที่สวยงานแปลกตายิ่ง
นี่ถ้ามีการติดตั้งไฟ หรือมีการจัดแสง สี เสียง บริเวณตัวสะพานขาว แล้วผนวกเอาฝายเข้าไปด้วย จะสวยงามแปลกตาเป็นอย่างยิ่ง เราจะได้เห็นละอองน้ำที่มีสภาพราวกับเมฆลอยปกคลุมอาคาร

ส่วนตัวอาคารหากจะออกแบบให้แมทชิ่งกับสะพานขาวซึ่งก่อสร้างในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 ที่งานสถาปัตยกรรมงานอาคารส่วนใหญ่จะเป็นแบบ “ตัวเป็นฝรั่ง หลังคาเป็นชฎา” (ตัวอาคารเป็นยุโรป หลังคาเป็นไทย) ซึ่งหากจะออกแบบอาคารให้แมทชิ่งกับสะพาน ตัวอาคารควบคุมก็ต้อง “ตัวเป็นฝรั่ง หลับคาเป็นชฎา” เช่นกัน

ผมรับฟัง “พี่จี๋” ถึงกับอึ้ง ถามทันทีเพื่อพี่แกสิ้นสุดการบอกเล่าว่า….
คิดได้ยังไงอ่ะ???

ผมคิดตาม มองเห็นภาพชัดถึงอาคารควบคุม ตัวสะพาน ที่จะมีละอองไอน้ำลองฟ่องราวเมฆหมอก ลอยมาปกคลุม ไล่เลียอยู่ใต้ท้องอาคาร ใต้ท้องสะพาน นั่นหมายความว่า…ที่นี่จะเป็นแลนด์มาร์คสำคัญแห่งหนึ่งของเมืองลำพูน ของตำบลแม่ทา ของบ้านทาชมภู

เท็จจริงประการใด หนาวที่จะถึงนี้….จะให้คำตอบชัดว่า แนวคิดของการออกแบบที่ว่ามาทั้งหมดทั้งมวลจะอลังการงานสร้างได้ถึงขนาดหรือไม่

ไปไหมล่ะครับแบบนี้ เช้ามืดก่อนรุ่งสางในเดือนธันวาคมที่จะถึง เรามีนัดเจอกันที่…ฝายทาชมพู @ สะพานขาวทาชมภู ละไว้จะเอิ้นหานะครับ