ประธานชุมชนนครเชียงใหม่พร้อมคณะกรรมการยื่นหนังสือรองประธาน สนช. เรียกร้อง 3 ข้อให้ออกกฎหมายยกสถานะคณะกรรมการชุมชน ให้ท้องถิ่นจัดงบจ่ายค่าตอบแทนให้กรรมการได้ พ่วงด้วยให้ช่วยค่ารักษาพยาบาลทั้งกรรมการและครอบครัว ยกเหตุกำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ ถูกยุบโดยกฎหมายเทศบาล งานมหาศาลถูกใช้บริการผ่านคณะกรรมการชุมชน ทั้งงานปกครอง สวัสดิการ ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ฝั่ง “รองสุรชัย” รับปากส่งต่อให้ผู้เกี่ยวข้องเพื่อบรรจุเข้าไปในร่างประมวลกฎหมายท้องถิ่นที่อยู่ระหว่างการยกร่าง พร้อมให้ยาหอม “โดยส่วนตัวจะช่วยผลักดันอย่างเต็มที่”
วันที่ 9 ก.ย.60 ที่ห้องประชุมชั้น 3 สำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนที่ 1 โดยการประสานงานของ น.ส.พรฤดี พุทธิศรี ประธานสภาเทศบาลนครเชียงใหม่ เดินทางมารับฟังปัญหาของประชาชน กรรมการชุมชน ในพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่ โดยมี นายชาตรี เชื้อมโนชาญ นายณัฐฐ์ชูเดช วิริยดิลกธรรม พล.ท.ภาณุ โรจนวสุ รองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ พร้อมด้วย สมาชิกสภา เจ้าหน้าที่เทศบาล คณะกรรมการชุมชน ให้การต้อนรับและนำเสนอปัญหา พร้อมกันนี้มีตัวแทนราษฎรจากหมู่บ้านนิมานรดี หมู่ที่ 5 ต.แม่เหียะ อ.เมืองเชียงใหม่ เข้าแจงผลกระทบการขึ้นลงของเครื่องบินที่มีการเพิ่มเที่ยวบินอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ในส่วนของคณะกรรมการชุมชน เทศบาลนครเชียงใหม่ นำโดย นายสมควร ไชยคำวัง ประธานแขวงเม็งราย ในนามประธานแขวงทุกแขวง ประธานชุมชน และคณะกรรมการชุมชนทั้ง 97 แขวงในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ พร้อมด้วยประธานอีก 3 แขวง ประกอบด้วย ประธานแขวงศรีวิชัย นายฉัตรธำรง มุสิกโปดก ประธานแขวงนครพิงค์ นายเสกสรร ขันทสีมา และประธานแขวงกาวิละ นายสุเวช สุภาษิต ประธานแขวงกาวิละ ได้ยื่นหนังสือเพื่อเสนอความเห็นในการขอให้ สนช. พิจารณาออกระเบียบ กฎหมายในการรับรองสถานะให้แก่ชุมชนในเขตเทศบาล
นายสมควรฯ ได้อ่านรายละเอียดหนังสือที่ยื่น โดยเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาในการออกกฎหมายหรือระเบียบเพื่อเป็นการคุ้มครองสวัสดิภาพการปฏิบัติหน้าที่ เพิ่มศักยภาพการบริการจัดการชุมชนและเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้แก่คณะกรรมการชุมชน โดยขอเสนอความเห็นเป็น 3 ประการ คือ ประการแรก ขอให้พิจารณาออกกฎหมายหรือระเบียนที่เกี่ยวข้องเพื่อรับรองสถานะทางกฎหมายที่เกี่ยวกับตำแหน่ง อำนาจหน้าที่ขององค์กรชุมชนและคณะกรรมการชุมชน ตลอดจนการคุ้มครองสวัสดิภาพการปฏิบัติงานในหน้าที่คณะกรรมการชุมชนให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
“ประการที่ 2 ขอให้มีการพิจารณาออกกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถตั้งงบประมาณและเบิกจ่ายเพื่ออุดหนุนหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานในหน้าที่ด้านการบริหารจัดการชุมชนได้ตามศักยภาพและฐานะการเงินการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประการที่ 3 ขอให้พิจารณาออกกฎหมายหรือระเบียบเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถตั้งงบประมาณและเบิกจ่ายเป็นค่าตอบแทนรายเดือนแก่กรรมการชุมชนและให้มีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลโดยให้มีสิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับกรรมการชุมชนและครอบครัวหรือการจัดสวัสดิการอื่นใดเพิ่มเติมได้ตามศักยภาพและฐานะการเงินการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้เพื่อเป็นการเสริมสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการชุมชนในการขับเคลื่อนสังคมอย่างมีพลังและสร้างสรรค์ต่อไป” นายสมควรฯ แจง
ด้าน นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่มีใครพูดถึงเลยในการออกแบบกฎหมายลูกของท้องถิ่น ทั้งในรูปแบบ อบต. เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง เทศบาลนคร แม้แต่ อบจ. ไม่มีใครพูดถึงในเรื่องนี้ รับว่าจะไปดูให้ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการปรับประมวลกฎหมายท้องถิ่นอยู่พอดี ก็ไม่ต้องไปแยกออกกฎหมายเรื่องกรรมการชุมชนออกมาต่างหาก ก็ให้เอาไปใส่ใสส่วนหนึ่งของประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขณะนี้กำลังดำเนินการจัดทำประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะไปยกเลิกกฎหมายเก่า ทั้งกฎหมายว่าด้วย อบต. ว่าด้วยเทศบาล กฎหมายว่าด้วย อบจ. จะถูกยกเลิกทั้งหมด และร่างใหม่เป็นประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แล้วจะรวมเอาประเด็นปัญหานี้ไปให้ผู้เกี่ยวข้องช่วยพิจารณาว่าเรื่องนี้ไปบรรจุในประมวลกฎหมายฉบับที่กำลังร่างอยู่นี้ได้เลยได้ไหม
“โดยส่วนตัวเห็นว่ากรรมการชุมชนเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจมาก อสม. ทำงานยังมีค่าตอบแทนให้บ้างเป็นรายเดือน เดือนละ 600 บาท เรื่องที่ประชาชนทำงานช่วยเหลือประชาชนกันเองมากในระดับหนึ่ง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกินอำนาจเทศบาล ส่วนกลางจะต้องรับไปดำเนินการ ซึ่งผมจะรับให้ไปดำเนินการต่อให้ เรื่องนี้ในกรุงเทพมหานครก็มีเช่นกัน ซึ่งเรียกกันว่า ผู้นำ มีการจัดตั้งชมรมกรรมการชุมชนจะมีผู้นำชุมชน ขยับรวมกันเป็นแขวงโดยอาศัยอำนาจของกรุงเทพมหานครเป็นผู้จัดตั้ง ทั้งผู้นำชุมชนและชมรมชุมชนฯ ซึ่งก็ไม่มีค่าตอบแทน ก็จะรับเอาเรื่องนี้ไปให้พิจารณารวมเข้าไปในประมวลกฎหมายท้องถิ่น โดยส่วนตัวแล้วจะช่วยผลักดันอย่างเต็มที่” รองประธาน สนช.ฯ กล่าว
ทั้งนี้หนังสือของที่ยื่นระบุว่าประธานชุมชนและคณะกรรมการชุมชนทั้ง 97 ชุมชนในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนตามระเบียบเทศบาลนครเชียงใหม่ ว่าด้วยการเลือกตั้งคณะกรรมการชุมชน พ.ศ.2555 และได้รับการแต่งตั้งจากนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ตามระเบียบเทศบาลนครเชียงใหม่ว่าด้วยการจัดตั้งชุมชนและการดำเนินงานของคณะกรรมการชุมชนในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ พ.ศ.2559
นอกจากนี้ยังระบุอีกว่า เนื่องจากเทศบาลนครเชียงใหม่ เป็นเทศบาลขนาดใหญ่ มีทั้งประชาชนและประชากรแฝงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก มีลักษณะเป็นชุมชนเมือง มีความซับซ้อนของปัญหาเชิงสังคม ประกอบกับ พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 มาตรา 4 ห้ามมิให้ใช้กฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ในท้องถิ่นที่ได้รับการยกฐานะเป็นเทศบาลนคร ทำให้บุคคลที่เป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และสารวัตรกำนัน พ้นจากตำแหน่งและหน้าที่ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่
เพื่อเป็นประโยชน์ในทางราชการ เทศบาลนครเชียงใหม่ได้มีการจัดตั้งเป็นชุมชนจำนวน 97 ชุมชน และแต่งตั้งคณะกรกรมการชุมชนๆ ละ 9 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้นำชุมชนช่วยเหลือทางราชการด้านการปกครอง การพัฒนา การจัดสวัสดิการสังคม และการสังคมสงเคราะห์เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการทุพพลภาพ ผู้มีรายได้น้อย ยากไร้ ด้อยโอกาส ผู้ประสบปัญหาทางสังคมและผู้ประสบภัยต่างๆ ด้านการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม การป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด ปัญหาแรงงานต่างด้าว และการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประสานงานหน่วยงานภาคราชการทุกภาคส่วนในการนำนโยบายของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติ นำบริการสาธารณะเข้าสู่ชุมชน มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น การป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคมอื่นๆ ในทุกมิติภายใต้กระบวนการจัดทำแผนชุมชน นำมาซึ่งความสงบเรียบร้อย ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี สังคมมีสุขภาวะและชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ซึ่งตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งคณะกรรมการชุมชนทุกคนได้เสียสละ อุทิศตนปฏิบัติหน้าที่เป็นจิตอาสาจนบังเกิดผลดีต่อชุมชน สังคม และทางราชการโดยไม่ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน หรือสวัสดิการอื่นใด แต่อย่างใด ในหนังสือที่ยื่นระบุเป็นความอันเป็นปฐมเหตุ